คปภ.ถอดรหัส..! กฎกติกาสากล-กฎหมายไทยคลี่ปมปัญหาเหตุใดบริษัทประกันภัยจึงบอกเลิกกรมธรรม์ประกันเจอ จ่าย จบ “ไม่ได้”
#คปภ. #เจอจ่ายจบ
ถ้าจำกันได้..! ในช่วงกลางเดือนกรกฎาคม 2564 บริษัทสินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) ได้ออกหนังสือแจ้งบอกยกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยโควิดไปยังประชาชนผู้เอาประกันภัยเป็นจำนวนมาก จนเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์และสร้างความโกลาหลให้กับสังคมไทยเป็นอย่างมาก ดังนั้นเพื่อสยบความวุ่นวายของผู้คนในสังคม และป้องกันไม่ให้กระทบความเชื่อมั่นต่อระบบประกันภัย สำนักงาน คปภ. จึงได้ออกคำสั่งนายทะเบียนที่ 38/2564 เพื่อไม่ให้บริษัทประกันภัยบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยจำนวนมากๆ ในคราวเดียวกัน และเพื่อปกป้องผู้เอาประกันภัยไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบจากการบอกเลิกสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ต่อมาบริษัทประกันภัยต่าง ๆ ออกมาขานรับผลของคำสั่งฯ ด้วยการยืนยันจะให้ความคุ้มครองผู้เอาประกันภัยจนครบอายุกรมธรรม์ฯ อย่างไรก็ตามเมื่อยอดเคลมสูงขึ้นๆ จนท่วมเบี้ยประกันภัย ดูเหมือนคำมั่นสัญญาจะเปลี่ยนไป โดยมี 2 บริษัทประกันภัย อย่าง บริษัทอาคเนย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน) และบริษัทไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ออกหน้าเป็นหัวหมู่ทะลวงฟัน ยื่นฟ้องนายทะเบียนประกันภัยต่อศาลปกครองกลาง เพื่อให้ยกเลิกคำสั่งดังกล่าว และขอให้ศาลสั่งคุ้มครองชั่วคราว เพื่อเปิดประตูให้บริษัทประกันภัยเจอ จ่าย จบ สามารถบอกเลิกกรมธรรม์ฯกับประชาชนผู้เอาประกันภัยได้ โดยเข้าใจว่าเป็นทางออกที่ดีที่สุดต่อวิกฤตการขาดทุนประกันโควิดเจอ-จ่าย-จบ
แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า ในระหว่างที่ศาลปกครองกลางกำลังพิจารณาอรรถคดีอยู่นั้น ได้มีความเคลื่อนไหวเพื่อออก “ชุดความคิด” ให้เกิดความเข้าใจผิดว่า การบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยเป็นเรื่องที่ถูกต้องเพื่อแก้วิกฤตปัญหาการขายประกันโควิดแบบ เจอ-จ่าย-จบ ที่ “เกินตัว”ของบริษัทประกันภัย และหากยกเลิกคำสั่งนายทะเบียนที่ 38/2564 ก็จะเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุทำให้บริษัทประกันภัยสามารถบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยแบบ เจอ-จ่าย-จบ ได้ โดยมีการหยิบยก “ชุดความคิด” ที่มีการอ้างแนวทางปฏิบัติในประเทศต่างๆ เพียงบางส่วนมาใช้เป็นข้อมูลเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ แต่เป็นการ “จงใจ” ใช้ข้อมูลที่หยิบเอามาเฉพาะบางส่วนทำให้เกิดความเข้าใจผิดและนำไปสู่การแปลความที่ผิดเพี้ยน ดังนั้นบทวิเคราะห์ชิ้นนี้จะช่วย
คลี่ปมปัญหาให้กระจ่างบนพื้นฐานข้อมูลที่ถูกต้องและครบถ้วน
- หลักการสากลกำหนดบทบาทหน้าที่ของ “regulator” ผดุงความเป็นธรรม
กติกา ICPs (Insurance Core Principles) ซึ่งเป็นหลักการประกันภัยสากลให้หน่วยงานกำกับดูแล ทั่วโลกต้องปฏิบัติ โดย ICP 1 ได้กำหนดเจตนารมณ์ อำนาจหน้าที่ และความรับผิดชอบของหน่วยงานกำกับดูแลด้านประกันภัยในข้อ 1.2 ว่า เจตนารมณ์ของการกำกับดูแลจะต้อง “คุ้มครองสิทธิผู้เอาประกันภัย”
ผดุงไว้ซึ่ง “ความเป็นธรรม” ความปลอดภัยและความมั่นคงของตลาดประกันภัย นอกจากนี้ ใน ICP 10
ได้กำหนดให้หน่วยงานกำกับดูแลดำเนินมาตรการกำกับบริษัทประกันภัยที่ไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบหรือมาตรการกำกับดูแลอย่างทันท่วงที หากการดำเนินการของบริษัทประกันภัยนั้นอาจเป็นความเสี่ยงต่อผู้เอาประกันภัยหรือก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อเสถียรภาพทางการเงิน หรือกระทบต่อเป้าหมายของการกำกับดูแล
- การยกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยในต่างประเทศ บริษัทประกันภัยจะบอกเลิกได้ ต้องมีกฎหมายระบุไว้ชัดเจน
โดยทั่วไปในกรณีที่กรมธรรม์มีการระบุเงื่อนไขการยกเลิกกรมธรรม์ (Cancellation clause) บริษัทสามารถทำได้ โดยต้องแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรให้ผู้เอาประกันภัยทราบ พร้อมทั้งเหตุผลที่ชัดเจน
เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 30 หรือ 60 วัน ซึ่งขึ้นกับแต่ละประเทศและประเภทกรมธรรม์ประกันภัย
ในบางประเทศ (เช่น รัฐฟลอริดา ประเทศสหรัฐอเมริกา และประเทศสโลวาเกีย) มีกฎหมายกำหนดเงื่อนไขว่าภายใน 60 วัน หลังจากกรมธรรม์มีผลใช้บังคับ บริษัทสามารถบอกเลิกกรมธรรม์ได้ แต่ต้องแจ้งให้ผู้เอาประกันภัยทราบเป็นลายลักษณ์อักษร และภายหลังจาก 60 วัน ที่กรมธรรม์ประกันภัยมีผลใช้บังคับแล้ว บริษัทจะไม่สามารถขอยกเลิกกรมธรรม์ได้ ยกเว้น กรณีดังต่อไปนี้ 1) Material misstatement 2) Nonpayment of Premium 3) ผู้เอาประกันภัยไม่สามารถปฏิบัติตาม underwriting requirement ที่บริษัทกำหนดได้ 4) Substantial change in the risk covered by the policy
นอกจาก กรณีที่เกิดความเสียหายจากภัยธรรมชาติ หรือภัยพิบัติ เช่น เฮอริเคน บริษัทไม่สามารถหยิบยกเป็นเหตุผลในการบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยได้
- การบอกเลิกสัญญาประกันภัยด้วยเงื่อนไขทั่วไป แต่ต้องเป็นกรณีที่ผู้เอาประกันภัยมีส่วนผิด
ประเทศบัลแกเรีย : บททั่วไป Art. 196 Code for the Insurance ระบุว่าสัญญาประกันจะสิ้นสุดลงเมื่อครบกำหนดระยะเวลา หรือตามกรณีที่ระบุไว้ใน Code for the Insurance หรือตามเหตุผลที่ตกลงกันไว้ ซึ่งต้องไม่ขัดแย้งกับจริยธรรมอันดีและผลประโยชน์ของผู้เอาประกันภัย ซึ่งจะต้องไม่ได้รับผลกระทบอย่างไม่เป็นธรรม
ซึ่งจะเห็นว่าแม้กฎหมายของประเทศบัลแกเรียเปิดช่องให้บริษัทประกันภัยสามารถบอกเลิกสัญญาด้วยเงื่อนไขทั่วไป แต่ก็ต้องเป็นกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้ชัดเจนและมีเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดว่า “ต้องไม่ขัดแย้งกับจริยธรรมอันดีและประโยชน์ของผู้เอาประกันภัยฯ”
ประเทศฟินแลนด์ : บริษัทประกันภัยสามารถยกเลิกกรมธรรม์ได้ ในกรณีที่ผู้ถือกรมธรรม์หรือผู้เอาประกันภัยให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องหรือไม่ครบถ้วนก่อนการทำประกันภัย ซึ่งหากบริษัทประกันภัยทราบถึงข้อมูลดังกล่าวอาจทำให้บริษัทพิจารณาไม่รับประกันภัย โดยบริษัทผู้รับประกันภัยสามารถจำกัดค่าสินไหมทดแทนได้ในกรณีต่างๆ เช่น เมื่อผู้เอาประกันภัยให้ข้อมูลเท็จ เป็นต้น นอกจากนี้ บริษัทรับประกันภัยยังสามารถจำกัดหรือปฏิเสธการจ่ายค่าทดแทนเมื่อผู้ถือกรมธรรม์หรือผู้เอาประกันภัยไม่ปฏิบัติตามมาตรการรักษาความปลอดภัยที่กำหนด อย่างไรก็ตามบริษัทไม่สามารถบอกเลิกการประกันภัยอันเนื่องมาจากสุขภาพที่เสื่อมโทรมลงของผู้เอาประกันภัยภายหลังการเอาประกันภัยแล้ว หรือจากเหตุการณ์ที่เอาประกันภัยที่ได้เกิดขึ้นแล้ว
ซึ่งจะเห็นว่ากฎหมายของประเทศฟินแลนด์อนุญาตให้บริษัทประกันภัยสามารถบอกเลิกสัญญาได้แต่เฉพาะที่เกิดจากความผิดของผู้เอาประกันภัย
ประเทศเยอรมัน : บริษัทผู้รับประกันภัยมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้หากผู้ถือกรมธรรม์ไม่ชำระเบี้ยประกันภัย ตามมาตรา §§ 37 (1), 38(3) VVG ตามมาตรา 28 (1) VVG ผู้เอาประกันภัยอาจบอกเลิกสัญญาได้โดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ภายในหนึ่งเดือนหลังจากทราบถึงการที่ผู้ถือกรมธรรม์ไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ตามสัญญา (Obliegenheit) แต่ต้องก่อนเกิดเหตุแห่งการเอาประกันภัย เว้นแต่การไม่ปฏิบัติตามสัญญานั้นมิได้เกิดจากการจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง
ประเทศสโลวาเกีย : บริษัทประกันภัยไม่สามารถบอกเลิกสัญญาประกันภัยภัยใดๆ สำหรับบุคคล ยกเว้นประกันอุบัติเหตุ สำหรับในกรณีที่ผู้เอาประกันภัยไม่จ่ายเบี้ยประกันภัย หรือกรณีผู้เอาประกันมีการยกเลิกข้อตกลงตามสัญญาประกันภัย
ประเทศสเปน :บริษัทประกันภัยสามารถบอกเลิกสัญญาประกันภัยเฉพาะในกรณีมีการให้ข้อมูลที่ผิดพลาดเกี่ยวกับความเสี่ยงที่มีการคุ้มครอง กรณีที่ผู้เอาประกันภัยไม่ชำระเบี้ยประกันภัยในงวดหนึ่งงวดใดและกรณีที่ผู้เอาประกันภัยมีการโอนสัญญาการรับประกันภัย
สหราชอาณาจักร : บริษัทประกันภัยสามารถบอกเลิกสัญญาประกันภัย 1 ปี เฉพาะในกรณีผู้เอาประกันภัยมีการบิดเบือนข้อเท็จจริง หรือกรณีที่ผู้เอาประกันไม่จ่ายค่าเบี้ยประกันภัยหรือมีการจ่ายค่าเบี้ยประกันภัยล่าช้า (สำหรับใน England และ Wales) หรือกรณีที่ผู้เอาประกันภัยมีการละเมิดเงื่อนไขตามสัญญาประกันภัย
ทั้งนี้ การบอกเลิกสัญญาประกันภัยสามารถทำได้โดยความยินยอมของทั้งสองฝ่าย (ผู้เอาประกันภัยและบริษัทประกันภัย) แต่ต้องมีสัญญาประกันภัยฉบับใหม่ทดแทนให้กับผู้เอาประกันภัย
ประเทศออสเตรเลีย : บริษัทประกันภัยสามารถยกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยเฉพาะในกรณีผู้เอาประกันไม่จ่ายเบี้ยประกันภัยรายเดือน หรือค้างจ่ายเบี้ยประกันมากกว่า 1 เดือน ผู้เอาประกันไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขในสัญญาประกันภัย ผู้เอาประกันภัยไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขในการเปิดเผยข้อมูลตามสัญญาประกันภัย
ผู้เอาประกันภัยฉ้อฉล และผู้เอาประกันภัยบิดเบือนข้อเท็จจริงก่อนทำสัญญาประกันภัย
ประเทศฟิลิปปินส์ : กฎหมายกำหนดรายละเอียดเงื่อนไขการบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยของบริษัทประกันภัย โดยผู้รับประกันภัยไม่สามารถยกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยได้ เว้นแต่จะมีการแจ้งล่วงหน้าแก่ผู้เอาประกันภัย และการแจ้งการยกเลิกจะมีผลจากเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งจากผู้เอาประกันภัยหรือจากเหตุ เช่น ไม่ชำระเบี้ยประกันภัย โทษฐานความผิดอันเกิดจากการกระทำที่เพิ่มอันตรายให้แก่สิ่งที่เอาประกันภัย ฉ้อโกงหรือการสื่อให้เข้าใจผิด กระทำโดยจงใจ หรือประมาทเลินเล่อ หรือละเว้น จนเป็นเหตุให้มีอันตรายแก่สิ่งที่เอาประกันภัยเพิ่มขึ้น และมีการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพในทรัพย์สินที่เอาประกันภัยซึ่งส่งผลให้ทรัพย์สินนั้นไม่สามารถเอาประกันภัยได้ เป็นต้น
- การบอกเลิกสัญญาประกันภัยด้วยสาเหตุอื่นๆ นอกเหนือจากการกระทำของผู้เอาประกันภัย
ประเทศอาร์เจนตินา : กฎหมายประกันภัยของประเทศอาร์เจนตินาได้ระบุอย่างชัดเจนถึงเงื่อนไขทั่วไปโดยให้สิทธิคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายในการบอกเลิกสัญญา ตาม Termination Clause ของ Law No. 17418 Law on Insurance ที่ระบุ ดังนี้ คู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจมีสิทธิบอกเลิกสัญญาโดยไม่ต้องระบุสาเหตุ โดยมีกำหนดระยะเวลาการบอกเลิก ทั้งนี้ หากบริษัทประกันภัยใช้สิทธิการบอกเลิกสัญญา บริษัทต้องแจ้งผู้เอาประกันภัยทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 15 วันและคืนเบี้ยประกันภัยตามสัดส่วนที่กรมธรรม์ประกันภัยยังไม่สิ้นสุด
มาตรา 39 กำหนดว่า เมื่อความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นเกิดจากการกระทำของผู้ถือกรมธรรม์ บริษัทประกันภัยต้องแจ้งผลการตัดสินให้บอกเลิกสัญญาภายใน 7 วัน
ดังจะเห็นว่าแม้กฎหมายจะเปิดช่องให้บริษัทบอกเลิกได้แต่จะต้องระบุไว้ในกฎหมายชัดแจ้งหรือเมื่อความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นเกิดจากการกระทำของผู้เอาประกันภัย และไม่ได้มีกรณีเปิดช่องให้บอกเลิกได้พร้อมกันทุกรายหรือแบบเหมาเข่ง
ประเทศฝรั่งเศส : การบอกเลิกสัญญาตาม Article L113-4 กำหนดว่าในกรณีที่ความเสี่ยงเพิ่มขึ้นระหว่างสัญญา บริษัทประกันภัยมีสิทธิบอกเลิกสัญญาหรือเสนอเบี้ยประกันภัยใหม่ได้ หากมีการแจ้งสถานการณ์ใหม่นั้นในเวลาสิ้นสุดสัญญาหรือต่ออายุสัญญา ซึ่งบริษัทประกันภัยอาจไม่ทำสัญญาหรือพิจารณากำหนดเบี้ยประกันภัยที่สูงขึ้นก็ได้
อย่างไรก็ตาม บริษัทประกันภัยไม่อาจกล่าวอ้างเรื่องความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นได้อีกต่อไป เมื่อบริษัทได้แสดงความยินยอมให้มีการรับประกันภัย โดยเฉพาะเมื่อบริษัทได้รับเบี้ยประกันภัยอย่างต่อเนื่องหรือได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนสำหรับความเสียหายแล้ว ไม่ว่าจะได้รับแจ้งความเสี่ยงดังกล่าวด้วยวิธีการใดก็ตาม
จะเห็นว่าแม้จะเปิดช่องให้บริษัทสามารถบอกเลิกได้ในกรณีที่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น แต่กฎหมายก็ต้องระบุชัดและกำหนดเงื่อนไขให้บริษัทต้องปฏิบัติและไม่ได้เปิดให้บอกเลิกได้แบบเหมาเข่ง
รัฐฟลอริดา ประเทศสหรัฐอเมริกา : กฎหมายของ Florida State อนุญาตให้บริษัทประกันภัย สามารถบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยได้บางส่วนหรือทั้งหมดของพอร์ตการรับประกันภัย โดยต้องได้รับอนุมัติแผนการบอกเลิกกรมธรรม์ (early termination plan) จากหน่วยงานกำกับดูแลก่อน และสามารถกระทำได้เฉพาะในกรณีเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของสาธารณะหรือของผู้เอาประกันภัยเท่านั้น
โดยหน่วยงานกำกับดูแลจะพิจารณาจากฐานะการเงิน และความเพียงพอของการทำประกันภัยต่อของบริษัทเป็นสำคัญ
จะเห็นว่าแม้จะมีกรณีที่บริษัทบอกเลิกสัญญากับผู้เอาประกันภัยหลายรายพร้อมกันได้ แต่จะต้องเป็นกรณีที่หน่วยงานกำกับดูแลต้องอนุมัติก่อน และทำได้เฉพาะกรณีปกป้องประโยชน์สาธารณะหรือผู้เอาประกันภัยเท่านั้น
- แนวคำพิพากษาของศาลต่างประเทศชี้ชัด การบอกเลิกกรมธรรม์ฯ ไม่เป็นธรรม “ไม่ชอบด้วยกฎหมาย”
ประเทศแอฟริกาใต้ : ประเทศแอฟริกาใต้เคยมีกรณีที่ศาลพิพากษาว่าการที่บริษัทประกันภัยบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยแบบเหมารวมนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยศาลสูงของเมือง Johannesburg ตัดสินว่า การที่บริษัทประกันภัย Constantia บอกเลิกกรมธรรม์ประกันชีวิตทั้งหมด (5,427 ราย) เนื่องจากบริษัทต้องการประกอบธุรกิจเฉพาะประกันวินาศภัย และไม่มีความประสงค์ดำเนินธุรกิจประกันชีวิตอีกต่อไปเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยศาลมีคำวินิจฉัยว่า
เงื่อนไขที่ให้บริษัทสามารถบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยเมื่อมีการแจ้งให้ผู้เอาประกันภัยทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 30 วัน โดยไม่มีเหตุผลจำเป็น ไม่ถือเป็นส่วนหนึ่งของกรมธรรม์ เนื่องจากถือเป็น particularly pertinent provision ที่บริษัทไม่ได้แจ้งผู้เอาประกันภัย ในระหว่างที่เสนอขายผ่านโทรศัพท์
ถึงแม้ว่าบริษัทจะได้แจ้งผู้เอาประกันภัยเกี่ยวกับเงื่อนไขดังกล่าว ในระหว่างที่เสนอขายผ่านโทรศัพท์ แต่ผู้เอาประกันภัยไม่มีความคุ้นเคยและเข้าใจเงื่อนดังกล่าวได้ดีเพียงพอ จึงไม่สมเหตุสมผลที่จะถือว่าผู้เอาประกันภัยได้อ่านและทำความเข้าใจถ้อยคำในกรมธรรม์ประกันภัยได้ดีเพียงพอ
จากข้อเท็จจริงที่ว่ากรมธรรม์ประกันชีวิตเหล่านั้น มีกลุ่มเป้าหมาย คือ ประชาชนผู้มีรายได้น้อย-ปานกลาง ที่มีข้อจำกัดด้านการศึกษาและการอ่าน-เขียน บริษัทจึงมีความรับผิดชอบที่ต้องแสดงให้ผู้เอาประกันภัยตระหนัก และรับทราบถึงเงื่อนไขการบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัย แต่บริษัทไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าบริษัทได้ดำเนินการในเรื่องนี้แล้ว
ตามหลักการการคุ้มครองผู้เอาประกันภัย ไม่ได้ให้สิทธิแก่บริษัทประกันภัยในการบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัย โดยไม่มีเหตุผลจำเป็น และการบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัย ถือว่าบริษัทได้ฝ่าฝืนหลักการปฏิบัติต่อลูกค้าอย่างเป็นธรรม (treating customers fairly)
ทั้งนี้แนวคำพิพากษาของศาลประเทศแอฟริกาใต้อาจนำมาเทียบเคียงกับกรณีข้อความในกรมธรรม์ประกันภัยโควิดแบบเจอจ่ายจบได้เพราะแม้ในเงื่อนไขกรมธรรม์จะกำหนดไว้ แต่ในการขายซึ่งส่วนใหญ่กระทำทางออนไลน์ผู้ขายก็ไม่ได้แจ้งให้ผู้เอาประกันภัยทราบถึงเงื่อนไขการบอกเลิกสัญญาดังกล่าว ซึ่งหากผู้เอาประกันภัยทราบถึงเงื่อนไขว่าผู้รับประกันภัยจะอ้างเหตุบอกเลิกเมื่อความเสี่ยงภัยเปลี่ยนไป หรือ เมื่อขาดทุนผู้เอาประกันภัยก็คงไม่ซื้อประกันภัยดังกล่าว
ข้อมูลอื่นๆ เกี่ยวกับมาตรการของหน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยในต่างประเทศ
The China Banking and Insurance Regulatory Commission (สาธารณรัฐประชาชนจีน)
บริษัทประกันภัยสามารถบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยได้ หากมีการกำหนด cancellation clause ในกรมธรรม์ประกันภัย และผู้เอาประกันภัยไม่คัดค้านการบอกเลิกกรมธรรม์ ภายหลังได้รับแจ้งการบอกเลิกจากบริษัท
The Financial Services Agency (ประเทศญี่ปุ่น)
– ในกรณีทั่วไป หากบริษัทมีผลขาดทุนจากการขายผลิตภัณฑ์ใด บริษัทจะหยุดการขาย (Suspend the sale) ผลิตภัณฑ์นั้น ทั้งนี้ ยังไม่เคยมีบริษัทประกันภัยที่บอกเลิกกรมธรรม์แบบเหมารวม หรือ entire portfolio
กฎหมายประกันภัยทั่วโลกชี้ชัดไม่มีประเทศใดให้สิทธิบริษัทประกันภัยบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยตามอำเภอใจแบบ “เหมาเข่ง”
จากกรณีศึกษาตัวอย่างกฎหมายประกันภัยของหลายประเทศในโลก ดังที่กล่าวมาแล้ว จะเห็นว่าการบอกเลิกสัญญาประกันภัยจะต้องมีกฎหมายบัญญัติไว้ชัดแจ้งและในกรณีทั่วๆ ไปไม่สามารถบอกเลิกแบบเหมาเข่งได้ โดยส่วนมากจะกระทำได้ในกรณีที่ผู้เอาประกันภัยไม่ชำระเบี้ยประกันภัยภายในวันที่กำหนด ผู้เอาประกันภัยสมัครใจหรือตกลงร่วมกันที่จะบอกเลิกความคุ้มครอง รวมทั้งกรณีผู้เอาประกันภัยจงใจปลอมแปลงข้อมูลหรือให้ข้อมูลที่ไม่ครบถ้วน หรือกระทำการฉ้อฉล อย่างไรก็ดี หากบริษัทประกันภัยบอกเลิกประกันภัยด้วยสาเหตุอื่นจะมีลักษณะ ดังนี้
1.พิจารณาเป็นรายกรณี โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของผู้เอาประกันภัยเป็นสำคัญ เช่น กรณี Florida state ที่หน่วยงานกำกับอนุญาตให้บริษัทประกันภัยสามารถบอกเลิกกรมธรรม์เป็นรายกรณีได้ โดยบริษัทต้องมีแผนการแก้ไขฐานะทางการเงินที่เหมาะสม
2.เป็นกรณีที่มีกฎหมายระบุไว้ชัดเจนในบทบัญญัติของกฎหมายประกันภัยของประเทศนั้นๆ ถึงกรณีที่สามารถบอกเลิกได้ โดยมีการกำหนดเงื่อนไขการบอกเลิก เช่น ประเทศอาร์เจนตินา และฝรั่งเศส
3.ไม่มีกรณีใดที่อนุญาตให้บริษัทประกันภัยบอกเลิกกรมธรรม์ได้แบบเหมารวม หรือเหมาเข่ง
กรณีของไทย กฎหมายประกันภัยไม่ได้บัญญัติเรื่องการบอกเลิกไว้ ต้องยึดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมฯ
เมื่อเปรียบเทียบกับกรณีในประเทศไทยกรมธรรม์ประกันภัยโควิด เจอ-จ่าย-จบ จะเห็นว่ากฎหมายประกันภัยของไทยไม่ได้บัญญัติเรื่องการบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยของคู่สัญญาไว้ชัดเจน แม้จะต้องยึดหลักความศักดิ์สิทธิ์ในการแสดงเจตนาของคู่สัญญาแต่ก็ต้องเป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องและเป็นเรื่องที่หน่วยงานกำกับดูแลคือ คปภ. จะต้องเข้ามาตรวจสอบหากมีกรณีที่เห็นสมควรว่าจะมีผลกระทบต่อผู้เอาประกันภัย เกิดความไม่เป็นธรรม หรือมีความเสี่ยงจากการดำเนินการใดที่ฝ่าฝืนกฎหมาย ตามที่มาตรา 29 แห่งพ.ร.บ.ประกันวินาศภัยฯ เปิดช่องเอาไว้ ซึ่งการกำกับดูแลของสำนักงาน คปภ. ต้องเป็นไปตามหลักการ ICPs และเจตนาของคู่สัญญาในกรณีสัญญาสำเร็จรูปต้องอยู่ภายใต้พระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาไม่เป็นธรรม พ.ศ. 2540 การที่มีการออกคำสั่งนายทะเบียนที่ 38/2564 ก็เพื่อเป็นการย้ำให้บริษัทประกันภัย ปฏิบัติตามเงื่อนไขของ พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 นั่นเอง
จากข้อมูลข้างต้น ข้ออ้างที่ว่า การบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยแบบเหมารวมหรือเหมาเข่งเป็นไปตามหลักการประกอบธุรกิจประกันภัยที่เป็นสากล จึงไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด และบริษัทประกันภัยไม่สามารถบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยเจอ-จ่าย-จบ แบบเหมาเข่ง โดยอ้างความเสี่ยงที่เปลี่ยนไปได้เพราะจะขัดต่อ พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมฯ นอกจากนี้การที่บริษัทประกันภัยบางแห่งโหมขายประกันภัยโควิดเจอ-จ่าย-จบ ในช่วงที่โควิดระบาดหนัก โดยออกข่าวว่าจะหยุดขายประกันภัยโควิด เจอ-จ่าย-จบ แต่กลับเร่งขายในช่วงที่โควิดระบาดมาก และอาศัยความหวาดกลัวเรื่องโควิดของประชาชนทำให้บริษัทสามารถได้รับเบี้ยประกันได้เป็นกอบเป็นกำ โดยตั้งใจว่าถ้าต้องจ่ายเคลมเยอะๆ ก็จะใช้สิทธิบอกเลิกตามเงื่อนไขที่อยู่ในกรมธรรม์ แต่กลับไม่ได้แจ้งข้อมูลแก่ประชาชนผู้ซื้อกรมธรรม์ ในช่วงที่ขายประกัน กรณีเช่นนี้จึงอาจเข้าข่ายจงใจฉ้อโกงประชาชน และหากมีการบอกเลิกกรมธรรม์ฯ ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนก็อาจจะรวมตัวกันใช้สิทธิยื่นฟ้องบริษัททั้งคดีแพ่งเรียกค่าเสียหายและคดีอาญาฐานฉ้อโกงประชาชนได้