หวั่นเสียค่าโง่ซ้ำซากค้านขยายสัมปทานด่วน 2
“สหภาพฯ กทพ.” บุกคมนาคม ยื่นหนังสือถึง “อาคม” ขอให้ชะลอพิจารณาเห็นชอบการแก้ไขสัญญาเพื่อต่อสัญญาสัมปทานโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 (รวมถึงส่วนดี) และสัญญาโครงการทางด่วนสายบางปะอิน – ปากเกร็ด หลังบอร์ด กทพ.ยังไม่ไฟเขียว หวั่นซ้ำรอยค่าโง่แสนล้าน
วันนี้ (1 ก.ค. 2562) รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม แจ้งว่าสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการทางพิเศษแห่งประเทศไทย หรือ สร.กทพ. นำโดยนายสาวิทย์ แก้วหวาน เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ได้ยื่นหนังสือถึงนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เรื่อง “ขอให้ชะลอการพิจารณาเห็นชอบการแก้ไขสัญญาเพื่อต่อสัญญาสัมปทานโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 (รวมถึงส่วนดี) และสัญญาโครงการทางด่วนสายบางปะอิน–ปากเกร็ด” ซึ่งหนังสือดังกล่าวนั้น ลงนามโดยนายประสงค์ สีสุกใส รองประธานฝ่ายปฏิบัติการ รักษาการประธาน สร.กทพ.
ทั้งนี้ การขอให้ชะลอการพิจารณา และชะลอการนำเรื่องเข้า ครม. จนกว่า กทพ. จะดำเนินการให้แล้วเสร็จครบถ้วน ถูกต้อง และขอให้รอผลการพิจารณาจากคณะกรรมาธิการร่วมให้แล้วเสร็จอีกด้วย เนื่องจากมติคณะกรรมการ กทพ. ครั้งที่ 6/2562 เมื่อวันพุธที่ 15 พฤษภาคม 2562 ยังไม่มีการรับรองมติ และปัจจุบันคณะกรรมการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย หรือ บอร์ด กทพ. ยังมีการแก้ไขมติดังกล่าวอยู่ อีกทั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีการขอตั้งกรรมาธิการร่วม เพื่อศึกษาแนวทางการดำเนินงานอย่างรอบคอบ ชัดเจน โปร่งใส ชอบด้วยกฎหมาย และให้เป็นไปตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2561
สำหรับประเด็นที่มีนัยสำคัญนั้น ได้แก่ 1.ที่มาของข้อมูลที่ใช้เป็นแนวทางในการเจรจาไม่มีความชัดเจน 2.ไม่สามารถอธิบายได้ว่า ผลการเจรจาเป็นการบรรเทาความเสียหายของรัฐอย่างไร 3.การต่อระยะเวลาของสัญญาโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 มีความจำเป็นอย่างไรที่จะต้องแบ่งรายได้ค่าผ่านทางของทางพิเศษเฉลิมมหานครให้เอกชน 4.การให้สิทธิเพิ่มเติมจากสัญญาเดิมในการก่อสร้างทางด่วนขั้นที่ 2 (Double Deck) และสิทธิการใช้พื้นที่ใต้เขตทาง บนเขตทาง และพื้นที่เชื่อมต่อโครงสร้างทางด่วน มีมูลค่าที่แท้จริงเท่าไหร่ มีการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการดังกล่าวแล้วหรือไม่ เป็นการเอื้อประโยชน์กับเอกชนรายเดิมหรือไม่ 5.ร่างสัญญาสัมปทานดังกล่าวมีมูลค่าหลายแสนล้านบาท ได้มีการเร่งรีบนำเสนอคณะกรรมการกำกับดูแลโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 และโครงการทางด่วนสายบางปะอิน – ปากเกร็ด ซึ่งใครเป็นผู้ร่างสัญญา การทางพิเศษฯ ได้ตรวจสอบอย่างรอบคอบแล้วหรือยัง เพื่อป้องกันปัญหาการเกิดข้อพิพาทที่จะนำไปสู่การที่รัฐต้องเสียค่าโง่นับแสนล้านบาท ดังเช่นปัจจุบัน 6.ยังไม่มีความชัดเจนเรื่องการบันทึกบัญชีตามมาตรฐานการบัญชี ซึ่งเป็นตัวแปรที่จะแสดงผลให้เห็นเด่นชัดว่า การทางพิเศษฯ จะเสียหาย หรือได้ประโยชน์อย่างไร
นอกจากนี้ ตั้งแต่คณะกรรมการการทางพิเศษฯ ได้มีมติเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2561 ที่ให้การทางพิเศษฯ ต่อระยะเวลาของสัญญาสัมปทานออกไป 37 ปี สร.กทพ. ได้แจ้งประเด็นข้อมูลข้อเท็จ รวมถึงข้อสังเกต และแสดงความห่วงใย โดยการเรียกร้องให้มีการดำเนินการให้ถูกต้องตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2561 กับผู้ที่เกี่ยวข้องมาอย่างต่อเนื่อง โดยจะเห็นได้ว่าการดำเนินการดังกล่าวยังมิได้มีความชัดเจน ร่างสัญญาดังกล่าวอาจจะยังไม่เป็นไปตามมติคณะกรรมการการทางพิเศษฯ ครั้งที่ 6/2562 แต่การทางพิเศษฯ กลับเร่งรีบนำเสนอต่อกระทรวงคมนาคม ทั้งที่คณะกรรมการการทางพิเศษฯ ยังไม่ได้พิจารณาร่างสัญญาที่สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจพิจารณาแต่อย่างใด อีกทั้ง สร.กทพ. ได้ทราบมาว่ามีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ยื่น ญัตติด่วน เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมการธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการต่อสัญญาสัมปทานให้กับบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เพื่อศึกษาในเรื่องดังกล่าวให้เกิดความรอบคอบ โปร่งใส ชอบด้วยกฎหมาย และเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2561