UAC โชว์กำไรปี 64 แจกปันผล 0.28 บาทต่อหุ้น ปีเสือเดินหน้าลงทุนธุรกิจพลังงาน-เทรดดิ้งปั้นรายได้แตะ 2 พันล้านบาท
บมจ. ยูเอซี โกลบอล (“UAC”) โชว์ฟอร์มสวย ฝ่าวิกฤตโควิด-19 ประกาศผลการดำเนินงานงวดปี 2564 โดดเด่น รายได้รวมแตะ 1,466.26 ล้านบาท กำไรส่วนที่เป็นของบริษัท 246.81 ล้านบาท จากการขยายตัวของธุรกิจเทรดดิ้ง – เคมีภัณฑ์ – ไบโอดีเซล – ไฟฟ้า หนุนภาพรวมธุรกิจโต พร้อมบุ๊คกำไรเงินปันผลจาก BBF จำนวน 105.56 ล้านบาท ในไตรมาส 4/2564 ด้านบอร์ดไฟเขียว จ่ายปันผลส่วนที่เหลือ 0.20 บาทต่อหุ้น ซึ่งเป็นการจ่ายปันผลตลอดระยะเวลา 12 ปีต่อเนื่อง ตอกย้ำการเป็นหุ้น Dividend Stock เตรียมขึ้น XD วันที่ 10 มีนาคม นี้ และกำหนดจ่ายเงินปันผล วันที่ 6 พฤษภาคม 2565 ด้าน CEO “ชัชพล ประสพโชค” สั่งลุยลงทุนธุรกิจพลังงาน และ ธุรกิจเทรดดิ้ง ต่อเนื่อง ดันผลงานปีนี้แตะ 2,000 ล้านบาท และ EBITDA มากกว่า 420 ล้านบาท
นายชัชพล ประสพโชค ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท ยูเอซี โกลบอล จำกัด (มหาชน) หรือ “UAC” แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ถึงผลประกอบงวดปี2564 (สิ้นสุดวันที่ 31ธันวาคม 2564)ว่า สำหรับผลการดำเนินงานในช่วงปีที่ผ่านมาถือว่ามีอัตราการเติบโตที่มั่นคง ซึ่งเป็นการตอกย้ำถึงความแข็งแกร่งและศักยภาพในการดำเนินธุรกิจ รวมทั้งการปรับกลยุทธ์เพื่อสอดรับกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ภายใต้การมุ่งเน้นการบริหารต้นทุนให้มีประสิทธิภาพสูงสุด จากปัจจัยดังกล่าว ส่งผลให้บริษัทฯมีรายได้จากการขายและการให้บริการ จำนวน 1,466.26 ล้านบาท เพิ่มขึ้น15.52% (YoY) และมีกำไรส่วนที่เป็นของบริษัท 246.81 ล้านบาท โดยมี Gross Margin ที่ระดับ 15.76% ส่งผลให้ EBITDA ณ สิ้นปี 2564 อยู่ที่ระดับ 409.62 ล้านบาท ส่วนด้าน ROE นั้นอยู่ที่ 20.73% เพิ่มขึ้น 2.21% จากปี 2563
ทั้งนี้ สาเหตุรายได้รวมมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้น เป็นผลมาจากการปรับตัวเพิ่มขึ้นในส่วนของรายได้ บริษัทยูเอซี แอดวานซ์ โพลิเมอร์ แอนด์ เคมีคัลส์ จำกัด (UAPC) เป็นหนึ่งในบริษัทย่อยภายใต้ UAC Global ดำเนินธุรกิจด้านการผลิตนำเข้า จัดจำหน่าย และส่งออกเคมีภัณฑ์ในกลุ่ม Latex Emulsion ขณะที่ธุรกิจเทรดดิ้ง สามารถทำยอดขายได้ตามเป้าหมาย ทำให้กลุ่ม UAC มีกำไรขั้นต้นรวม 231.11 ล้านบาท รวมถึงการฟื้นตัวด้านวัตถุดิบของการผลิตของโรงงาน PPP ซึ่งนำไปสู่การจำหน่ายที่มากขึ้นของก๊าซเชื้อเพลิง C1 ก๊าซหุงต้ม (LPG) และก๊าซโซลีนธรรมชาติ (NGL) โดยในปัจจุบันโรงงาน PPP และโรงไฟฟ้าเสาเถียร ได้รับก๊าซธรรมชาติจาก ปตท สผ. เพิ่มขึ้นกว่า 1.2 MMSCFD
นอกจากนี้ “UAC” ยังมีการรับรู้ส่วนแบ่งผลกำไรจากบริษัทร่วมทุน บจ.บางจาก ไบโอฟูเอล (BBF) ตามสัดส่วนการถือหุ้น 30% เข้ามาในอัตราหุ้นละ 125 บาท คิดเป็นเงินทั้งสิ้น 105.56 ล้านบาท ในไตรมาส 4/2564 ซึ่งได้ประโยชน์จากการส่งเสริมการใช้ไบโอดีเซลของภาครัฐอย่างต่อเนื่อง ทำให้การจำหน่าย และราคาขายเฉลี่ยปรับตัวสูงขึ้น ตามความต้องการใช้นำมันดีเซลในภาคการขนส่ง และภาคการเกษตร ประกอบกับความสามารถในการบริหารจัดการต้นทุนวัตถุดิบในช่วงที่ราคาน้ำมันปาล์มดิบปรับสูงขึ้น
ล่าสุด ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ มีมติอนุมัติจ่ายเงินปันผลแก่ผู้ถือหุ้นจากผลการดำเนินงานปี 2564 ในอัตรา 0.28 บาทต่อหุ้น รวมเป็นเงิน 186.93 ล้านบาท โดยเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2565 ได้จ่ายเงินปันผลระหว่างกาลไปแล้วในอัตรา 0.08 บาทต่อหุ้น คงเหลือต้องจ่ายเงินปันผลอีกในอัตรา 0.20 บาทต่อหุ้น ซึ่งกำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิได้รับเงินปันผล (Record Date) โดยจะขึ้นเครื่องหมาย XD ในวันที่ 10 มีนาคม 2565 และกำหนดจ่ายเงินปันผลในวันที่ 6 พฤษภาคม 2565 โดย “UAC” มีการจ่ายปันผลตลอดระยะเวลา 12 ปีต่อเนื่อง ตั้งแต่เข้าทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ตามนโยบายการจ่ายปันผลไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 ของกำไรสุทธิ ซึ่งเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่งของบริษัทฯ และเป็นการตอกย้ำว่า “UAC” เป็นหนึ่งในหุ้นปันผล (Dividend Stock)
ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ “UAC” ยังได้กล่าวเพิ่มเติมถึงภาพรวมธุรกิจในปี2565 ว่า บริษัทฯ พร้อมเดินหน้าลงทุนในธุรกิจด้านพลังงานสะอาดและพลังงานทดแทน ควบคู่ไปกับการการเร่งขยายการตลาดในส่วนของธุรกิจเทรดดิ้ง ไปยังอุตสาหกรรมอื่นๆ มากขึ้น อาทิ โรงกลั่นน้ำมัน โรงงาน ปิโตรเคมี พลังงานและเคมีภัณฑ์ พร้อมทั้งให้ความสำคัญกับการพัฒนาองค์กร เพื่อสร้างการเติบโตให้กับบริษัทฯอย่างยั่งยืน (Sustainable Development) และการดำเนินธุรกิจแบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เพื่อขับเคลื่อนการเติบโตของรายได้ในปีนี้ แตะระดับ 2,000 ล้านบาท รวมถึงการรักษาอัตรากำไรก่อนหักค่าใช้จ่ายดอกเบี้ย ภาษี และค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) มากกว่า 420 ล้านบาท ของรายได้ยอดขายรวม ให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้
ขณะเดียวกัน บริษัทฯมีแผนขยายการลงทุนใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น พร้อมทั้งเปิดกว้างด้านการร่วมกับพันธมิตรที่มีความแข็งแกร่ง นอกจากนี้ยังมีแผนในการเตรียมพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ อาทิ สารปรับปรุงดิน โรงไฟฟ้า รวมถึงการเป็นที่ปรึกษาให้กับพันธมิตรในด้านโรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพ ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าจะมีความชัดเจนภายในปีนี้
และล่าสุด บริษัทฯมีการลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนภูผาม่าน จังหวัดขอนแก่น โดยใช้หญ้าเนเปียร์ จำนวน 300 ตันต่อวัน เพื่อเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพ ขนาด 3 MW โดยโรงไฟฟ้าดังกล่าวจะดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) ได้ในไตรมาส 2/2565 นี้ โดยคาดว่าโครงการภูผาม่าน จะเป็นโรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพจากพืชพลังงานแห่งแรก ที่สามารถจ่ายไฟเข้าระบบได้ อีกทั้งบริษัทฯได้เข้าลงทุนแหล่งปิโตรเลียมหมายเลข L10/43 และ L11/43 พื้นที่ผลิตปิโตรเลียมอรุโณทัยและบูรพา จังหวัดสุโขทัย ซึ่งเป็นการต่อยอดการผลิตให้กับโรงผลิตผลิตภัณฑ์ PPP, โรงไฟฟ้าเสาเถียรเอ และโรงไฟฟ้าประดู่เฒ่า อย่างมีนัยสำคัญในอนาคต