พลังงาน

10 ประเทศอาเซียนเยี่ยมชมศูนย์การเรียนรู้ กฟผ.

เจ้าหน้าที่อาวุโสด้านพลังงาน 10 ประเทศอาเซียน เยี่ยมชมศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. สำนักงานกลาง  แหล่งรวมความรู้ด้านพลังงานไฟฟ้าแห่งใหม่

กฟผ. เปิดบ้านศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. สำนักงานกลาง ต้อนรับคณะเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านพลังงาน 10 ประเทศอาเซียนจากการประชุม SOME ครั้งที่ 37 กว่า 30 คน เข้าชมความทันสมัยของแหล่งศึกษาเรียนรู้ด้านพลังงานของกิจการไฟฟ้าไทยและของโลก ด้วยเทคนิคการนำเสนอข้อมูลรูปแบบใหม่ Interactive Multimedia เสริมสร้างการมีส่วนร่วมกับผู้เข้าชม

นายศานิต นิยมาคม ผู้ช่วยผู้ว่าการบริหารจัดการความยั่งยืน ในฐานะ รองโฆษกการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ให้การต้อนรับคณะเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านพลังงาน ซึ่งเดินทางมาร่วมการประชุม 37th Senior Officials Meeting on Energy (SOME) and Associated Meeting ระหว่างวันที่ 24 – 28 มิถุนายน 2562 กว่า 30 คน จาก 10 ประเทศ ได้แก่ มาเลเซีย อินโดนีเซีย กัมพูชา สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ บรูไนดารุสซาลาม สปป.ลาว เมียนมา เวียดนาม และประเทศไทย ในโอกาสเยี่ยมชมแหล่งศึกษาเรียนรู้ด้านพลังงานไฟฟ้าแห่งใหม่ของประเทศไทย ณ ศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. สำนักงานกลาง อ.บางกรวย จ.นนทบุรี

สำหรับศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. สำนักงานกลาง สร้างขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างสังคมแห่งภูมิปัญญา โดยนำเอาเทคโนโลยีสื่อปฏิสัมพันธ์ (Interactive Multimedia) ที่ทันสมัยมาใช้นำเสนอข้อมูลความรู้ด้านพลังงานไฟฟ้าเพื่อเสริมสร้างการมีส่วนร่วมกับผู้ชมผ่าน 7 โซนการเรียนรู้ ได้แก่ โซนที่ 1 จุดประกาย ลงทะเบียนรับ RFID (Radio Frequency Identification) เพื่อแปลงร่างเป็นอวตาร์ผจญภัยในโลกพลังงานไฟฟ้า โซนที่ 2 จากแสงแรกสู่แสงนิรันดร์ ภาพยนตร์ 3 มิติ “แสงแรกแห่งสยามสู่การก่อตั้งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย” บอกเล่าเรื่องราวประวัติความเป็นมากิจการไฟฟ้าในประเทศไทย และภาพยนตร์การ์ตูน 4 มิติ ที่จะสร้างความตระหนักถึงการใช้พลังงานเพื่อเตรียมความพร้อมสู่โลกแห่งอนาคต โซนที่ 3 คืนสู่สมดุล สัมผัสกับชีวิตในอนาคต ระหว่างมนุษย์ ธรรมชาติ และเทคโนโลยี พร้อมชมนวัตกรรมหุ่นยนต์ กฟผ. อาทิ หุ่นยนต์เคลื่อนที่เพื่อตรวจสอบสายส่งไฟฟ้าแรงสูง เอ็ม ซี อาร์ ยานสำรวจใต้น้ำ และหุ่นยนต์ตรวจสอบเครื่องกำเนิดไฟฟ้า โซนที่ 4 สายน้ำแห่งความภูมิใจ สัมผัสภารกิจแห่งความภาคภูมิใจเพื่อความสุขของคนไทย จากป่าต้นน้ำสู่แม่น้ำเจ้าพระยา โซนที่ 5 นวัตกรรมเพื่อชีวิต สำรวจเส้นทางประวัติศาสตร์เรียนรู้กิจการไฟฟ้าไทยคู่กับความเป็นไปของโลก เปิดโลกนวัตกรรมและเทคโนโลยีการผลิตและระบบส่งไฟฟ้า โซนที่ 6 โลกที่ยั่งยืน สำรวจโลกพลังงานไฟฟ้าและการใช้เชื้อเพลิงของประเทศต่างๆ ทั่วโลก รวมถึงความร่วมมือของกิจการไฟฟ้าในภูมิภาคอาเซียน และโซนที่ 7 แสงนิรันดร์ สรุปและประมวลผลการเรียนรู้ที่ได้รับจากศูนย์ฯ โดยจะถูกบันทึกไว้ในสายรัดข้อมืออัจฉริยะและถูกส่งไปทางอีเมล์เพื่อเป็นองค์ความรู้ต่อไป

นอกจากนั้น ยังเป็นต้นแบบอาคารอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งออกแบบและก่อสร้างให้เป็นอาคารเขียว (Green Building) ผ่านการรับรองมาตรฐานในระดับนานาชาติ LEED Certification ระดับ Platinum จากประเทศสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ทั้งภายในและภายนอกอาคารยังออกแบบตามหลัก Universal Design ที่เอื้อให้ผู้สูงอายุ คนพิการ สามารถเข้าเยี่ยมชมศูนย์การเรียนรู้ได้อย่างสะดวก

ในโอกาสนี้ ศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. แห่งนี้ ยังได้นำผลงานโครงการวิจัยนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ด้านต่างๆ ของ กฟผ. มาจัดแสดง อาทิ การสร้างหุ่นยนต์เคลื่อนที่เพื่อตรวจสอบสายส่งไฟฟ้าแรงสูง การพัฒนาต้นแบบหุ่นยนต์ตรวจสอบเครื่องกำเนิดไฟฟ้ารุ่นที่ 2 รถยนต์ไฟฟ้า EV Kit & Blueprint Project ระบบควบคุมการทำงานโรงไฟฟ้า EGAT Hydroelectric Power Plant Control System และปะการังเทียมจากเถ้าลอยลิกไนต์เพื่อป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง เพื่อนำเสนอความก้าวหน้าและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในการพัฒนานวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ด้านพลังงานไฟฟ้าของ กฟผ. รวมถึงนำผลงานความสำเร็จของการส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์จากวัสดุในท้องถิ่นของเยาวชนในโครงการ Move World Together ซึ่ง กฟผ. ให้การสนับสนุน อาทิ เจลแต้มสิวจากผิวส้มเกลี้ยงและสบู่สครับทุเรียน ที่ได้รับรางวัลการประกวดนวัตกรรม Seoul International Invention Fair 2018 (SIIF 2018) ในเวทีระดับสากลมาจัดแสดงด้วย

Related Articles

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button