พลังงาน

“สภาองค์กรของผู้บริโภค” ชำแหละปมชาวบ้านแบกภาระจ่ายค่าไฟแพง

“สภาองค์กรของผู้บริโภค” ชำแหละปมชาวบ้านจ่ายค่าไฟแพงหูฉี่ เผยมีการเก็บค่าส่งก๊าซทางท่อเพิ่มขึ้น 20% หรือปีละ 2 หมื่นกว่าล้านบาท แถมแบกรับภาระแทนโรงไฟฟ้าที่ไม่ได้เดินเครื่อง 4 เดือนที่ผ่านมาเกือบ 1 หมื่นล้านบาท ทำให้ประชาชนต้องแบกรับภาระค่าเอฟทีถึง 12 สตางค์ต่อหน่วย แฉเอกชนรายใหญ่ได้ประโยชน์การจ่ายค่าไฟแพงผ่านบิลค่าไฟฟ้าทุกเดือนปีละ 2.2 หมื่นล้านบาท

เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2565 สภาองค์กรของผู้บริโภค ร่วมกับเครือข่ายสิ่งแวดล้อม และเครือข่ายภาคประชาชน  ได้จัดเสวนาออนไลน์ไฟล์สด หัวข้อ “เปิดข้อมูลต้นเหตุค่าไฟฟ้าแพง ใครได้ประโยชน์และทางรอดของประชาชน” หลังจากที่ประชุมคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้มีมติ เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2565 ได้มีมติให้ปรับเพิ่มค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่าเอฟที) ในการเรียกเก็บค่าไฟฟ้าในรอบเดือนพฤษภาคม – สิงหาคม 2565 อยู่ที่ 24.77 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลให้อัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 23.38 สตางค์ต่อหน่วย เป็น 4.00 บาทต่อหน่วย

โดย ผศ.ประสาท มีแต้ม ประธานอนุกรรมการด้านบริการสาธารณะ พลังงาน และสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ปัจจัยที่ทำให้ค่าไฟฟ้าสูงขึ้นส่วนหนึ่งมาจากการคิดค่าส่งก๊าซสูงตามราคาเนื้อก๊าซ โดยในช่วย 4 เดือนที่ผ่านมามีการเก็บค่าส่งก๊าซผ่านท่ออยู่ 6,700 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 20% ของเนื้อก๊าซ หรือประมาณปีละ 2 หมื่นล้านบาท รวมถึงก๊าซไม่ผ่านท่อ เพราะไม่เดินเครื่องก็มีการเก็บค่าผ่านท่อเหมือนกัน

นอกจากนี้ สาเหตุที่ประชาชนจ่ายค่าไฟแพงยังมาจากการรับภาระโรงไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ จำนวน 6 โรง แม้ไม่ได้ผลิตไฟฟ้าในช่วงเดือนม.ค.-เม.ย. 2565 คิดเป็นเงินประมาณ 7,859 ล้านบาท โดยคิดเป็นค่าความพร้อมจ่าย (AP) ให้เจ้าของท่อเป็นจำนวนเงิน 4,931 ล้านบาท และเป็นค่าพลังงาน (EP) ในรูปของค่าผ่านท่อก๊าซ ประมาณ 2,928 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ถ้าหากมีวิธีการคิดด้วยการไม่นำโรงไฟฟ้าที่ไม่ได้เดินเครื่อง จำนวน 6 โรงดังกล่าวเข้ามาสำรองไว้จะทำให้ค่าเอฟทีลดลงประมาณ 12 สตางค์ต่อหน่วย

ด้านนางชื่นชม สง่าราศรี กรีเซน นักวิชาการอิสระด้านพลังงาน กล่าวเสริมว่า ประเทศไทยมีความต้องการใช้ไฟฟ้าแต่ละปีอยู่ประมาณ 3 หมื่นกว่าเมกะวัตต์ แต่ต้องสำรองการผลิตไฟฟ้าไว้ที่ 15% หรือประมาณ 4.5 พันเมกะวัตต์ เพื่อความมั่นคงด้านพลังงน แต่อีกมุมหนึ่งกลายเป็นภาระกับประชาชน เพราะโรงไฟฟ้าเอกชนที่สร้างเสร็จแล้วแม้ไม่ได้เดินเครื่องก็ต้องจ่ายค่าตอบแทน โดยสิ้นปี 2563 ต้องมีปริมาณสำรองเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1.2 หมื่นเมกะวัตต์ คิดเป็นภาระค่าไฟฟ้าส่วนเกินสูงถึง 48,929 ล้านบาทต่อปี และเป็นภาระต่อผู้ใช้ไฟฟ้าอยู่ประมาณ 2 พันล้านบาท

“ช่วงเดือนเมษายนของทุกปี ซึ่งมีอากาศร้อนทำให้การใช้ไฟฟ้าพีคสูงสุด แต่กลับพบว่ามีโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่หยุดการเดินเครื่อง 8 โรงใน 12 โรงทั้งหมด และพบว่า 3 ใน 4 ส่วนอยู่ในการผลิตไฟฟ้าเป็นของบริษัท กัลฟ์ฯ ที่เหลือจะเป็นของบริษัท ราชบุรี โฮลดิ้ง และบริษัท GPSC ซึ่งทำให้ประชาชนรับภาระในส่วนนี้ไป 2,550 ล้านบาทต่อเดือน หรือคิดเป็นเงินจำนวน  22,000 ล้านบาทต่อปี โดยได้เรียกเก็บเงินผ่านบิลไฟฟ้าของทุกเดือน”

ทั้งนี้ ปัจจุบันประเทศไทยมีกำลังการผลิตไฟฟ้าอยู่ทั้งสิ้นจำนวน 46,136.4 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นสัดส่วนของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) อยู่ที่ 31.22% และของเอกชน อยู่ที่ 68.78% โดยในส่วนของภาคเอกชน แบ่งเป็น 1.ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (IPP) ประมาณ 23.09%  คิดค่าไฟอยู่ที่ 3.598 บาทต่อหน่วย  คิดเป็นเงิน 57,085 ล้านบาท 2.ผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPPs) ประมาณ 26.21% คิดค่าไฟอยู่ 4.067 บาทต่อหน่วย คิดเป็นเงิน 73,261 ล้านบาท ที่เหลือจะเป็นการซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน สปป.ลาว และมาเลเซีย ขณะที่ค่าไฟฟ้าฐานขายส่งของ กฟผ. อยู่ที่ 2.57 บาทต่อหน่วยเท่านั้น

นอกจากนี้ ทางสภาองค์กรของผู้บริโภคจะเดินทางไปยื่นหนังสือถึงนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เพื่อสะท้อนปัญหาและเสนอแนวทางแก้ปัญหาค่าไฟสูงขึ้นในวันที่ 21 มีนาคม 2565 เวลา 10.00 น. ที่กระทรวงพลังงาน อาคารเอ็นเนอร์ยี่คอมเพล็กซ์ ถนนวิภาวดี

Related Articles

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button