เกษตรฯ ผนึก ม.เชียงใหม่ เปิดศูนย์นวัตกรรมสกัดสารพืชกระท่อม-สมุนไพร
“เฉลิมชัย” เร่งปฏิรูปภาคเกษตรสู่เกษตรมูลค่าสูง ผนึกมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดศูนย์นวัตกรรมสกัดสารพืชกระท่อมและสมุนไพร สั่งกระทรวงเกษตรเร่งขับเคลื่อนเทคโนโลยีเกษตร 4.0 สนับสนุนงบวิจัยและพัฒนาของศูนย์ AIC ทั่วประเทศเพื่อเพิ่มรายได้เกษตรกร
นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (ศูนย์ AIC : Agritech and Innovation Center) เปิดเผยวันนี้ว่า ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเปิดศูนย์นวัตกรรมสกัดสารสมุนไพรและกระท่อมสู่การต่อยอดเกษตรมูลค่าสูง ร่วมกับรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่และผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หลังจากประขุมรับฟังการนำเสนอโครงการพัฒนากระท่อม พืชเศรษฐกิจตัวใหม่เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก บนพื้นฐานผู้ประกอบการยุคใหม่ ของสมาคมพืชกระท่อมแห่งประเทศไทย อันประกอบด้วย “บทบาทพืชกระท่อมไทยขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากฐานราก นำร่อง 4 จังหวัดภาคใต้” “การพัฒนาและวิจัยพืชกระท่อมสู่ผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง” เมื่อ20มี.ค.ณ ห้องประชุมศูนย์นวัตกรรมอาหารและบรรจุภัณฑ์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ซึ่งเป็นศูนย์AICจังหวัดเชียงใหม่ภายในอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ
ทั้งนี้ รัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวมอบนโยบายว่าภายใต้ยุทธศาสตร์เทคโนโลยีเกษตร4.0 ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานของกระทรวงเกษตรฯ.จัดทำงบประมาณและโครงการสนับสนุนการดำเนินงานของศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรมหรือศูนย์AICเพื่อการวิจัยพัฒนานวัตกรรมนำมาใช้ส่งเสริมการผลิต การแปรรูป และการตลาดเช่นพืชสมุนไพรของไทย โดยมุ่งหวังให้เกษตรกร กลุ่ม วิสาหกิจชุมชน สถาบันเกษตรกร และผู้ประกอบการภาคเกษตรสามารถผลิตและพัฒนาสินค้าทางการเกษตรที่มีคุณภาพตรงกับความต้องการของตลาดทั้งภายใน และภายนอกประเทศตามยุทธศาสตร์ตลาดนำการผลิต เพื่อสร้างเกษตรมูลค่าสูง ยกระดับรายได้ของเกษตรกร อย่างยั่งยืนต่อไป
นายอลงกรณ์ กล่าวว่า กระทรวงเกษตรฯ.ได้จัดตั้งศูนย์AIC 77 จังหวัดดำเนินการตั้งแต่1มิถุนายน2563และศูนย์AICประเภทศูนย์ความเป็นเลิศอีก23ศูนย์ตามนโยบายและยุทธศาสตร์เทคโนโลยีเกษตร4.0ทำการพัฒนาเทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรมกว่า700นวัตกรรมสามารถถ่ายทอดสู่เกษตรกรและฟาร์มกว่า8พันรายทั่วประเทศภายใต้แผนปฏิบัติการเกษตรอัจฉริยะปี2565-2566 ถือเป็นคานงัดสำคัญในการปฏิรูปภาคเกษตรของไทยเชิงโครงสร้างและระบบที่มีกลไกการขับเคลื่อนแบบบูรณาการทุกภาคส่วนอย่างต่อเนื่องครอบคลุมพื้นที่ทุกจังหวัดทั่วประเทศ