คฟปย. เคาะยื่น “ลุงตู่” ทบทวนขึ้นค่าเอฟทีใน 15 วัน ก่อนบุกทำเนียบฯ ด้าน “กฟผ.” โอดกู้ 5 หมื่นล้านแบกค่าไฟแพงทำขาดสภาพคล่อง
จากกรณีที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานมีมติให้ปรับเพิ่มค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่าเอฟที) สำหรับการเรียกเก็บค่าไฟฟ้าในรอบเดือนพฤษภาคม – สิงหาคม 2565 อยู่ที่ 24.77 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลให้อัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 23.38 สตางค์ต่อหน่วย เป็น 4.00 บาทต่อหน่วย อย่างไรก็ดี ในความเป็นจริงมีการประมาณการค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิงที่สูงขึ้นส่งผลให้ประมาณการค่าเอฟที ในช่วงเดือนพฤษภาคม ถึงเดือนสิงหาคม 2565 เพิ่มสูงขึ้นเป็น 129.91 สตางค์ต่อหน่วย และหากพิจารณาภายใต้หลักการการปรับขึ้นแบบขั้นบันได อาจทำให้ต้องขึ้นค่าเอฟที งวดละ 47.3 สตางค์ต่อหน่วย หรือในปี 2565 จะมีการปรับอัตราค่าไฟขึ้นไปอยู่ประมาณ 5 บาทต่อหน่วย ซึ่งสร้างภาระค่าครองชีพให้กับประชาชนในช่วงที่ได้รับผลกระทบด้านเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด ขณะเดียวกับได้สร้างภาระให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่จะต้องแบกรับค่าไฟที่แท้จริงแทนประชาชน ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการกู้เงินจำนวน 2 หมื่นกว่าล้านบาท เพื่อรับภาระดังกล่าวทำให้ขาดสภาพคล่องอยู่ในเวลานี้
นอกจากนี้ จากการที่รัฐบาลได้ออกมาตรการช่วยค่าไฟวงเงิน 23,773 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือประชาชนในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดได้สร้างภาระให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) เป็นเงินเกือบ 1,000 ล้านบาท รวมถึงการปล่อยให้เอกชนเข้าไปดำเนินการขายน้ำประปาในเขตภาคตะวันออก การจัดหายา เวชภัณฑ์ ที่ใช้ในการรักษาโควิด อันจะทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน ซึ่งทางเครือข่ายไฟฟ้าประปาและยา เพื่อชาติประชาชน (คฟปย.) ได้แสดงความเป็นห่วงประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายที่มีผลทำให้การดำรงชีพ การทำมาหากินเป็นไปอย่างยากลำบากต่อการครองชีพในปัจจุบัน พร้อมกับหวั่นจะสร้างความเสียหายให้กับประเทศชาติด้วย
ดังนั้น เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2565 เครือข่ายไฟฟ้าประปาและยา เพื่อชาติประชาชน (คฟปย.) จึงได้จัดประชุมเสวนาถึงสถานการณ์ปัจจุบันเกี่ยวกับนโยบายของรัฐบาลต่อภาระการครองชีพของประชาชน โดยมีตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย 1. สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (สร.กฟผ.) 2. สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (สร.กฟภ.) 3. สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้านครหลวง (สภฟ.) 4. สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการประปานครหลวง (สร.กปน.) 5. สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการประปาส่วนภูมิภาค (สร.กปภ.) และ 6. สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การเภสัชกรรม (สร.อภ.)
โดยนายกิตติชัย ใสสะอาด ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (สร.กฟภ.) ในฐานะ เลขาธิการ คฟปย. เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมได้มีมติยื่นหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อเสนอแนะความเห็นจากที่ประชุมต่อรัฐบาล ดังนี้ 1. รัฐบาลต้องทบทวนนโยบายการขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) โดยเฉพาะเอกชนผู้ผลิต ต้องมีส่วนร่วมลดค่าไฟให้กับประชาชน และเพิ่มสัดส่วนการผลิตกระแสไฟฟ้า ของภาครัฐตามรัฐธรรมนูญให้มีสัดส่วนการผลิตเกินกว่า 50% 2. รัฐบาลต้องคงไว้ซึ่งรัฐวิสาหกิจด้านสาธารณูปโภค รัฐจะต้องดูแลต้นทุนต่างๆ เช่น การเรียกเก็บค่าเช่าพื้นที่ในการวางท่อประธานหรือท่อจ่ายน้ำ อย่างเช่นพื้นที่ของกรมทางหลวงและกรมธนารักษ์ วงเงินงบประมาณ 2 พันล้านบาท ในเขตพื้นที่ภูมิภาค ในเรื่องน้ำประปา ที่ปล่อยให้เอกชนเข้ามาดำเนินการในพื้นที่เศรษฐกิจ เช่น ภาคตะวันออก จังหวัดปทุมธานี รัฐบาลต้องใช้รัฐวิสาหกิจเป็นเครื่องมือในการกำกับดูแล และกำหนดราคาที่เป็นธรรมต่อประชาชนผู้ด้อยโอกาสทางสังคม 3. รัฐบาลต้องมีนโยบายสนับสนุนให้องค์การเภสัชกรรม ผลิตยา วัคซีนและเวชภัณฑ์เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้อย่างสะดวกมีคุณภาพและราคาถูก อย่างเพียงพอ 4. รัฐบาลต้องไม่ขายรัฐวิสาหกิจ อันเป็นสมบัติของชาติและต้องไม่ทำให้รัฐวิสาหกิจอ่อนแอ จนไม่สามารถดำเนินกิจการได้เพื่อคงไว้ซึ่งกิจการของรัฐที่ต้องมีไว้เพื่อเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชน เพราะรัฐบาลต้องใช้รัฐวิสาหกิจเป็นเครื่องมือในการกำกับดูแล รับผิดชอบในขอบเขตที่เหมาะสมและสอดคล้องกับนโยบาย การพัฒนาและส่งเสริมเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและสังคมตลอดจนความมั่นคงของประเทศ
“ที่ประชุมมีมติยื่นหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อให้ทบทวนนโยบายที่ได้สร้างผลกระทบให้กับประชาชน หลังจากมีการยื่นเรื่องไปแล้ว จะติดตามความคืบหน้าภายใน 15 วัน หากไม่มีการตอบรับข้อเสนอใดๆ ทางเครือข่ายทั้ง 3 การไฟฟ้าจะบุกเข้าทำเนียบรัฐบาล เพื่อทวงการทบทวนข้อเสนอทั้ง 4 ข้อ ต่อไป”
ด้านนางสาวสุวัฒนา ชาลีงาม ตัวแทนจากสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (สร.กฟผ.) กล่าวว่า ขณะนี้ กฟผ. ขาดสภาพคล่องเป็นอย่างมาก เนื่องจากได้กู้เงิน จำนวน 2 หมื่นล้านบาท เพื่อมาแบกรับภาระค่าไฟที่สูงขึ้นตามนโยบายของรัฐบาล เพื่อไม่ให้ประชาชนต้องจ่ายค่าไฟสูงขึ้นตามความเป็นจริงในสถานการณ์ปัจจุบัน และคาดว่าภายในปลายปีนี้ กฟผ. จะต้องกู้เงินเพิ่มอีกประมาณ 3 หมื่นล้านบาท เพื่อชดเชยสภาพคล่องและนำมาแบกรับภาระค่าไฟที่สูงขึ้นในงวดต่อไป
“ทาง กฟผ. เป็นหน่วยงานของรัฐเรายินดีแบกรับภาระแทนประชาชน แต่สิ่งที่เราไม่เห็นด้วยกับนโยบายของรัฐบาล โดยเฉพาะหน่วยงานเรกูเรเตอร์ที่กำกับดูแลค่าไฟไม่แตะหน่วยงานที่ดูแลต้นทุนเชื้อเพลิง หรือไม่แตะภาคเอกชนที่ผลิตไฟฟ้าเลย ซึ่งจริงๆ แล้วสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ. ในฐานะเรกูเรเตอร์ต้องลงมาดูทั้งระบบ ทั้งภาคเอกชนที่มีสัดส่วนการผลิตปริมาณไฟฟ้ามากถึง 69% มากกว่า กฟผ. ที่มีการผลิตไฟฟ้าอยู่ประมาณ 31% ซึ่งจะต้องพูดคุยกับภาคเอกชนจะมาช่วยอย่างไรบ้างเพื่อให้ค่าไฟถูกลง รวมถึงความมั่นคงด้านพลังงานที่ภาครัฐควรจะมีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าเกินกว่า 50%” นางสาวสุวัฒนา กล่าวและว่า วงเงินที่ กฟผ. กู้มารวมๆ กว่า 5 หมื่นล้านบาท จะต้องแบกรับภาระดอกเบี้ยด้วย รวมถึงจะมีผลต่อตัวเลขที่ กฟผ. จะส่งรายได้ให้กับรัฐบาลประมาณ 45% แต่ภาคเอกชนที่มีการผลิตไฟฟ้าสัดส่วนมากเกือบ 70% กลับไม่ต้องแบกรับภาระอะไรเลย