พลังงาน

กพช. เทกระจาดรับซื้อไฟฟ้า

กพช.  เทกระจาดรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนปี 65-73 และขยะชุมชนในรูปแบบ FiT สั่ง กกพ. เปิดรับซื้อกำหนด COD ปี 68 ขณะเดียวกันได้ไฟเขียวร่างสัญญาซื้อขายไฟฟ้าโครงการ “ปากแบง” สปป.ลาว ให้ กฟผ.ลงนามในสัญญาซื้อไฟฟ้า 897 เมกะวัตต์ ในปี 76
นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา มีมติเห็นชอบอัตรารับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) สำหรับปี 2565 ภายใต้แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561-2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP2018 Rev.1) สำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) และผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) รวม 34 โครงการ ปริมาณรับซื้อไฟฟ้ารวม 282.98 เมกะวัตต์ ระยะเวลาสนับสนุน 20 ปี และกำหนดวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (SCOD) ในปี 2568-2569 โดยในที่ประชุมได้มอบหมายให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ดำเนินการการออกระเบียบและประกาศรับซื้อไฟฟ้าต่อไป

ที่ประชุม กพช. ยังได้รับทราบแผนการเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ภายใต้แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561-2580 ฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 1 (PDP2018 Rev.1) ในช่วงปี พ.ศ. 2564-2573 (ปรับปรุงเพิ่มเติม) โดยมีกำลังผลิตตามสัญญาจากพลังงานสะอาดรวมทั้งสิ้น 9,996 เมกะวัตต์ และเห็นชอบหลักการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนและข้อเสนออัตรารับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff สำหรับปี พ.ศ. 2565-2573 สำหรับกลุ่มที่ไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง กำลังผลิตตามสัญญาไม่เกิน 90 เมกะวัตต์ ได้แก่ พลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน (Solar Ground-mounted) พลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน (Solar+BESS) พลังงานลม และก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย) ซึ่งจะดำเนินการเปิดรับซื้อไฟฟ้าด้วยวิธีการใช้หลักเกณฑ์การคัดเลือกที่พิจารณาถึงความพร้อมด้านราคา คุณสมบัติ และเทคนิคร่วมกัน เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นว่าโครงการที่ได้รับการคัดเลือกมีความเป็นไปได้สูงในการพัฒนาให้สำเร็จ สามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้ตามแผนที่กำหนด

สำหรับการจัดหาไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนครั้งนี้เป็นการเริ่มต้นครั้งสำคัญในการจัดหาพลังงานสะอาดทุกรูปแบบอย่างจริงจัง เพื่อให้ได้ราคาค่าไฟฟ้าที่ไม่สร้างภาระต้นทุนในระยะยาวให้กับประเทศ เพื่อส่งเสริมให้มีการใช้พลังงานสะอาดในการผลิตไฟฟ้าในสัดส่วนที่มากขึ้น สอดคล้องกับนโยบายภาครัฐในการมุ่งสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Economy) และสร้างเสถียรภาพทางด้านราคาค่าไฟฟ้าจากการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในระยะยาวด้วยการกำหนดราคารับซื้อในระดับที่แข่งขันได้กับอัตราค่าไฟฟ้าขายส่งเฉลี่ย (Grid Parity) ด้วยการกำหนดอัตรารับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน (Solar Ground-mounted) พลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน (Solar+BESS) พลังงานลม และก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย) โดยมีระยะเวลาสนับสนุนการรับซื้อไฟฟ้าเป็นเวลา 20-25 ปี ในรูปแบบสัญญา Non-Firm สำหรับพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน (Solar Ground-mounted) พลังงานลม และก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย) และรูปแบบสัญญา Partial-Firm สำหรับพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน (Solar+BESS) อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมให้เกิดการสร้างงานสร้างรายได้ เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศจากการส่งเสริมให้มีการดำเนินธุรกิจพลังงานหมุนเวียน ตลอดจนสร้างแรงจูงใจให้เกิดการไหลเวียนเข้าของเงินทุนจากต่างประเทศในการลงทุนในธุรกิจพลังงานหมุนเวียนในประเทศไทย

ทั้งนี้ ในที่ประชุมได้มอบหมายให้ กกพ. ดำเนินการออกระเบียบ ประกาศการรับซื้อไฟฟ้าและกำกับดูแลการคัดเลือกตามขั้นตอนต่อไป ทั้งนี้ ให้มีการกำหนดเงื่อนไขให้กรรมสิทธิ์ในหน่วย Renewable Energy Certificate (REC) ที่เกิดขึ้นจากการผลิตไฟฟ้าเป็นกรรมสิทธิ์ของภาครัฐด้วยการระบุไว้ในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า

​นายกุลิศ กล่าวว่า ที่ประชุม กพช. ได้เห็นชอบหลักการร่างสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) โครงการปากแบง และได้มอบหมายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ลงนามในสัญญาโครงการปากแบง ที่ผ่านการตรวจพิจารณาจากสำนักงานอัยการสูงสุดแล้ว โดยโครงการปากแบงเป็นโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำประเภท Run of River มีอายุสัญญา 29 ปี ปริมาณเสนอขายไฟฟ้า 897 เมกะวัตต์ และมีกำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในปี 2576

นอกจากนี้ ที่ประชุม กพช. ยังได้มีมติเห็นชอบอัตราค่าไฟฟ้าของโครงการเซกอง 4A และ 4B และมอบหมายให้ กฟผ. ลงนามในบันทึกความเข้าใจการรับซื้อไฟฟ้า (Tariff MOU) โครงการเซกอง 4A และ 4B ที่ผ่านการตรวจพิจารณาจากสำนักงานอัยการสูงสุด (อส.) แล้ว ทั้งนี้ โครงการเซกอง 4A และ 4B เป็นโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำประเภท Reservoir มีอายุสัญญา 27 ปี ปริมาณเสนอขายไฟฟ้า 347.30 เมกะวัตต์ และมีกำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในปี 2576

​พร้อมกันนี้ ที่ประชุม กพช. มีมติเห็นชอบกำหนดให้อัตราค่าไฟฟ้าที่รับซื้อจากโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนที่ดำเนินการโดยกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) โดยที่ประชุมได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และ กฟผ. รับซื้อไฟฟ้าจากโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนที่ พพ. โดยดำเนินการตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP) จำนวน 26 แห่ง กำลังผลิตรวม 94.447 เมกะวัตต์ โดยเป็นโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าที่รวมเงินนำส่งเข้ากองทุนพัฒนาไฟฟ้าตามชนิดของเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าไว้ด้วยแล้ว อีกทั้งที่ประชุมยังมีมติเห็นชอบให้กรรมสิทธิ์ Renewable Energy Certificate (REC) ที่เกิดขึ้นจากการผลิตไฟฟ้าจากโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนที่ดำเนินการโดย พพ. เป็นกรรมสิทธิ์ของภาครัฐ

​นายกุลิศ กล่าวทิ้งท้ายว่า ไม่เพียงเท่านี้ที่ประชุม กพช. ยังได้เห็นชอบทบทวนมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ครั้งที่ 7/2550​ (ครั้งที่ 116) เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2550​ ในส่วนของกลไกการกำกับดูแลและเงื่อนไข เรื่องการลงทุนและการร่วมทุนโครงการของ บริษัท กฟผ. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ในข้อที่ 2 โดยขยายกรอบการพิจารณาการลงทุนและร่วมทุน ดังนี้ “ในการลงทุนและร่วมทุนในต่างประเทศของบริษัท กฟผ. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยขอความเห็นชอบจากกระทรวงพลังงานก่อนเป็นรายโครงการ โดยให้หมายรวมถึง การลงทุนในพันบัตร หุ้นกู้ หลักทรัพย์อื่นของบริษัทใดๆ และกองทุนประเภทต่างๆ ที่เกี่ยวกับกลุ่มธุรกิจนวัตกรรมทางด้านพลังงานไฟฟ้าหรือธุรกิจนวัตกรรมพลังงานไฟฟ้าที่เกี่ยวเนื่องหรือต่อเนื่องกับกิจการของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ในต่างประเทศ และสำหรับโครงการที่มีประเด็นนโยบายพิเศษให้นำเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติให้ความเห็นชอบ”

Related Articles

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button