พลังงาน

กลุ่ม ปตท. นำร่องศึกษา CCS Hub Model เป็นต้นแบบเทคโนโลยีมุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน

กลุ่ม ปตท. นำร่องศึกษา CCS Hub Model เป็นต้นแบบเทคโนโลยีมุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์

นายนพดล ปิ่นสุภา ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐาน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) พร้อมด้วยผู้บริหาร กลุ่ม ปตท. ประกอบด้วย นายมนตรี
ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) นางสาวคณิตา ศาศวัตายุ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงานวิศวกรรมศาสตร์และการพัฒนา บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) นางวราวรรณ ทิพพาวนิช รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานกลยุทธ์องค์กร บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) นายจีราวัฒน์ พัฒนสมสิทธิ์
รองกรรมการผู้จัดการใหญ่-ด้านธุรกิจไฟฟ้า ธุรกิจนวัตกรรมและดิจิทัล บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) นายสมเกียรติ เลิศฤทธิ์ภูวดล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายกลยุทธ์ แผนและพัฒนาธุรกิจองค์กร
บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) และ นางรสยา เธียรวรรณ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่พัฒนาธุรกิจ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ชินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) ร่วมพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการศึกษาความเป็นไปได้การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture and Storage: CCS) หรือ CCS Hub Model กลุ่ม ปตท.

นายนพดล กล่าวว่า วิกฤตด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) นับเป็นประเด็นที่ทั่วโลกต่างให้ความสำคัญในการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือและป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้น โดยจำเป็นต้องอาศัยการผลักดันและมีส่วนร่วมจากหลายภาคส่วน ประกอบกับเจตนารมณ์ของประเทศไทยด้านเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี ค.ศ. 2065 กลุ่ม ปตท. ในฐานะองค์กรด้านพลังงานของประเทศ เราตระหนักและยึดมั่นในการดำเนินธุรกิจตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนให้ครอบคลุมทุกมิติ ทั้งเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ตามกรอบวิสัยทัศน์ Powering Life with Future Energy and Beyond โดยกำหนดเป้าหมายและทิศทางการดำเนินงานให้สอดคล้องกับนโยบายและเป้าหมายของประเทศ ผ่านความร่วมมือทางด้านเทคโนโลยีภายใต้คณะกรรมการเทคโนโลยีกลุ่ม ปตท. (PTT Group Technology Committee: GTC) ในการบริหารจัดการเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกร่วมกันในกลุ่ม ปตท. โดยจะนำร่องศึกษาแนวทางการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture and Storage: CCS) ในรูปแบบ CCS Hub Model ซึ่ง CCS เป็นเทคโนโลยีที่มีศักยภาพในการกักเก็บ CO2 จากกระบวนการผลิตได้ในระดับหลายล้านตันต่อปี และนำไปกักเก็บในชั้นธรณีที่มีศักยภาพและเหมาะสมแบบปลอดภัยและถาวร (Permanent Geological Storage) โดยไม่มีการปล่อยกลับเข้าสู่ชั้นบรรยากาศได้อีก โดยจะเริ่มศึกษาในพื้นที่ปฏิบัติการกลุ่ม ปตท. จังหวัดระยองและชลบุรี ความร่วมมือนี้นับเป็นต้นแบบสำคัญในการขยายผลสู่ระดับประเทศได้ในอนาคตเพื่อช่วยขับเคลื่อนองค์กรและประเทศไทยให้บรรลุเป้าหมาย Carbon Neutrality และ Net Zero อย่างเป็นรูปธรรม ยกระดับการพัฒนาประเทศสู่ความยั่งยืนได้ต่อไป

นางสาวคณิตา กล่าวว่า บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. เล็งเห็นว่าปัจจุบันธุรกิจพลังงานมีการเปลี่ยนผ่านไปสู่การเป็นธุรกิจคาร์บอนต่ำ บริษัทจึงมุ่งมั่นที่จะใช้ความรู้ความเชี่ยวชาญด้านธรณีศาสตร์ และวิศวกรรมศาสตร์จากธุรกิจสํารวจและผลิตปิโตรเลียม มาต่อยอดในการพัฒนา CCS ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่หลาย ๆ ประเทศนำมาใช้และได้ผลที่ดี โดย ปตท.สผ. ได้เริ่มศึกษาเทคโนโลยี CCS ที่โครงการอาทิตย์ในอ่าวไทยเมื่อปี 2564 เรียกได้ว่า เป็นการริเริ่มดำเนินโครงการ CCS เป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยขณะนี้ ได้เสร็จสิ้นการศึกษาความเป็นไปได้ (Feasibility study) แล้ว และกำลังอยู่ในขั้นตอนการศึกษาทางวิศวกรรมเบื้องต้น (Pre-FEED study) นอกจากนี้ ปตท.สผ. ยังร่วมมือกับพันธมิตรที่มีประสบการณ์จากต่างประเทศทำการศึกษา CCS ในพื้นที่อื่น ๆ เพื่อสนับสนุนให้ภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ สามารถดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และส่งไปกักเก็บในชั้นหินทางธรณีวิทยาที่เตรียมไว้ได้อย่างปลอดภัย รวมทั้ง CCS Hub Model อันเป็นความร่วมมือของกลุ่ม ปตท. ครั้งนี้ ซึ่ง ปตท.สผ. ในฐานะผู้รับผิดชอบหลักจะศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาโครงการ CCS ร่วมกับบริษัทต่าง ๆ ในกลุ่ม ปตท. เพื่อสามารถเดินหน้าสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นางวราวรรณ กล่าวว่า ในปีที่ผ่านมา GC Group ในฐานะผู้นำด้านธุรกิจเคมีภัณฑ์ระดับสากล เพื่อสร้างสรรค์คุณภาพชีวิต ซึ่งเป็นบริษัทลูกของปตท. ได้ให้คำมั่นตาม Paris Agreement และร่วมเป็นหนึ่งในผู้แก้ปัญหาสภาวะโลกร้อน ด้วยการกำหนดเป้าหมายที่ท้าทายและแผนงานรวมถึงงบประมาณที่ชัดเจน โดย GC ได้ตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ (Net Zero) ในปี ค.ศ. 2050 ซึ่งจะดำเนินการผ่าน 3 แนวทาง คือ 1. Efficiency-driven การมุ่งเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานในทุกกระบวนการ 2. Portfolio-driven การปรับโครงสร้าง ก้าวสู่ธุรกิจคาร์บอนต่ำ และ 3. Compensation-driven การชดเชยคาร์บอนด้วยการปลูกป่า รวมถึงได้เข้าร่วมศึกษาแนวทางการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture and Storage: CCS) ในรูปแบบ CCS Hub Model ทั้งนี้ GC พร้อมมุ่งมั่นผลักดันการดำเนินงานโครงการ CCS ให้บรรลุเป้าหมาย Net Zero ของกลุ่ม ปตท. และของประเทศต่อไป

นายจีราวัฒน์ กล่าวว่า ด้วยวิสัยทัศน์ “สร้างสรรค์คุณภาพชีวิต ด้วยพลังงานและเคมีภัณฑ์ที่ยั่งยืน” ไทยออยล์มุ่งมั่นที่จะสร้างอนาคตที่ยั่งยืนด้วยการต่อยอดศักยภาพทางธุรกิจ ผลิตผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และบริหารจัดการความยั่งยืนกลุ่มไทยออยล์ เพื่อให้เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมเติบโตร่วมกัน เพื่อบรรลุตามเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ของกลุ่มไทยออยล์ ภายในปี ค.ศ 2060 เทคโนโลยีการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture and Storage: CCS) มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อ Net Zero Pathway ที่รวมถึงการเปลี่ยนผ่านพลังงานไปสู่พลังงานไฮโดรเจนสะอาด ที่เรียกว่า Blue Hydrogen โดยคาดว่าเทคโนโลยีนี้จะมีบทบาทที่สำคัญมากในอนาคต ซึ่งผลการศึกษานี้จะช่วยทำให้เกิดความร่วมมือระหว่างองค์กรเอกชนและภาครัฐอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กรและประเทศชาติ ให้บรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามที่กำหนดไว้

นายสมเกียรติ กล่าวว่า IRPC ดำเนินธุรกิจตามวิสัยทัศน์ของบริษัท “สร้างสรรค์นวัตกรรมการใช้วัสดุและพลังงาน เพื่อชีวิตที่ลงตัว” โดยเชื่อว่าธุรกิจสามารถเติบโตควบคู่ไปกับการดูแลสังคม ชุมชน ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม โดยยึดมั่นตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติและความรับผิดชอบต่อสังคม โดยได้เดินหน้าขับเคลื่อนกลยุทธ์มุ่งสู่องค์กร Net Zero Emission ด้วยการกำหนดแนวทางและการบริหารจัดการในด้านต่าง ๆ เพื่อลดการปล่อยคาร์บอน ได้แก่ การสนับสนุนการใช้พลังงานทางเลือก ด้วยการสร้างสวนโซลาร์เซลล์ลอยน้ำในบ่อน้ำดิบสำรองของบริษัทฯ บนพื้นที่รวมกว่า 200 ไร่ กำลังการผลิต 12.5 เมกะวัตต์ ใช้สำหรับกระบวนการผลิตในโรงงาน ถือเป็นการบูรณาการคุณค่าในเชิงการดำเนินธุรกิจที่เสริมความมั่นคงทางด้านพลังงาน และในเชิงสิ่งแวดล้อม ที่ช่วยลดภาวะโลกร้อนจากพลังงานทดแทน สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกว่า 9,459 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี หรือเทียบเท่าการปลูกต้นไม้บนเกาะเสม็ดทั้งเกาะประมาณ 10,000 ไร่ รวมถึงการดำเนินโครงการปรับปรุงประสิทธิภาพโรงกลั่นและปรับปรุงคุณภาพน้ำมันดีเซล ตามมาตรฐานยูโร 5 (Ultra Clean Fuel Project: UCF) ซึ่งจะช่วยลดปัญหามลภาวะฝุ่นละออง PM 2.5 และตอบสนองนโยบายของบริษัทฯ ที่มุ่งมั่นสู่การเป็นโรงงานสีเขียว (Eco Factory) คาดว่าจะพร้อมดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์ต้นปี 2567 และการแสวงหาเทคโนโลยี ผลิตภัณฑ์ และธุรกิจใหม่ ๆ ที่ปลดปล่อยคาร์บอนต่ำ

ทั้งนี้ IRPC เชื่อมั่นว่าความร่วมมือในครั้งจะเป็นส่วนหนึ่งในการนำร่องศึกษา CCS Hub Model ต้นแบบเทคโนโลยี เพื่อบริหารจัดการและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และเป็นก้าวเเรกที่กลุ่ม ปตท. ขับเคลื่อนโครงการไปด้วยกัน เพื่อประเทศและโลกของเรา
นางรสยา กล่าวว่า ความร่วมมือในครั้งนี้นับเป็นก้าวสำคัญของ GPSC ที่จะร่วมศึกษาแนวทางการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CCS) ซึ่งเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่กำลังได้รับการพัฒนาให้สามารถใช้งานได้จริงในเชิงพาณิชย์ระดับวงกว้าง เพื่อขับเคลื่อนองค์กรและประเทศไทยให้บรรลุเป้าหมาย Carbon Neutrality และ Net Zero Emission อย่างเป็นรูปธรรม GPSC ในฐานะ Flagship ด้านพลังงานของกลุ่ม ปตท. และมุ่งที่จะก้าวสู่การเป็นบริษัทชั้นนำด้านนวัตกรรมพลังงานเพื่อความยั่งยืน 1 ใน 3 ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เห็นโอกาสอันดีในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี CCS ในการดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ที่ทำลายชั้นบรรยากาศลงสู่ชั้นดินหรือแหล่งกำเนิด ซึ่งลดปัจจัยเสี่ยงต่อการสร้างมลภาวะทางสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันเทคโนโลยีนี้มีการนำไปใช้กับโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลในหลายประเทศทั่วโลก จึงมั่นใจว่าการศึกษาร่วมกันครั้งนี้ของกลุ่ม ปตท. จะนำไปสู่ความสำเร็จและสามารถขยายผลไปยังพื้นที่อื่น ๆ ได้ต่อไป

Related Articles

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button