คมนาคม

ดีเดย์เปิดรถไฟฟ้าสายสีเขียวเชื่อมเซ็นทรัลฯ 11 ส.ค.นี้

รฟม.ผนึก “กทม.-เคที-บีทีเอส” แสดงสัญลักษณ์ความพร้อมเปิดเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-เซ็นทรัลลาดพร้าว ก่อนให้บริการฟรี 1 สถานีเริ่ม 11 สค. เป็นต้นไป เผยกทม.เล็งต่อสัญญารถไฟฟ้าเหมาเข่ง จ่อยกสัมปทานให้ BTS เป็นเวลา 40 ปี

แหล่งข่าวระดับสูงจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า ความคืบหน้าการบริหารรถไฟฟ้าสายสีเขียวนั้นล่าสุดกรุงเทพมหานคร (กทม.) เลือกใช้แนวทางต่อขยายสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวให้บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสอีก 40 ปี แบบเหมาเข่งทั้งสองสัญญาสัมปทานเดินรถ ได้แก่ สัมปทานเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวของบีทีเอสสายหลักช่วงหมอชิต-อ่อนนุชและสนามกีฬาแห่งชาติ-สะพานตากสินนั้นที่จะหมดสัญญาในปี 2572 ขณะที่สัญญาสัมปทานเดินรถส่วนต่อขยาย ช่วงอ่อนนุช-แบริ่งและสะพานตากสิน-บางหว้าจะหมดในปี 2585 เพื่อให้การเดินทางของประชาชนมีความสะดวกสบายในการเชื่อมต่อระบบไม่ต้องลงจากขบวนเพื่อเปลี่ยนคัน หากจ้างเอกชนสองรายเดินรถจะต้องมีการเปลี่ยนขบวนเพราะเป็นรถไฟฟ้าคนละระบบกัน

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจากับผู้เดินรถรายเดิม คือ BTS ถึงห้วงเวลาการขยายสัญญาของทั้งสองสัมปทานออกไปอีก 40 ปี โดยแลกเปลี่ยนกับเงื่อนไข 3 ข้อ อาทิ เอกชนต้องลงทุนส่วนต่อขยายเองทั้งหมดและจ่ายส่วนแบ่งรายปีให้กทม. ตามที่ตกลงกัน และรับภาระค่าโอนหนี้สินและทรัพย์สินของโครงการมูลค่า 1 แสนล้านบาท เป็นต้น ทว่าเงื่อนไขที่ทำให้การเจรจานั้นล่าช้ามานานนับเดือนแม้ว่าฝ่ายนโยบายได้สั่งการให้เร่งรัด คือ ข้อเสนอเรื่องราคาค่าโดยสารตลอดสายที่ไม่เกิน 65 บาท ตั้งแต่ช่วง คูคต-สมุทรปราการ หรือช่วงคูคต-บางหว้า เป็นสิ่งที่ผู้เดินรถนั้นรับไม่ได้เพราะมองว่าไม่คุ้มค่าต่อการทำธุรกิจเดินรถ ส่วนการเจรจาเรื่องค่าแรกเข้าบีทีเอสมีท่าทีที่ผ่อนคลายมากขึ้น และมีแนวโน้มที่จะยอมยกเลิกค่าแรกเข้าเมื่อเชื่อมต่อตั๋วร่วมระบบบัตร EMV แล้ว

แหล่งข่าวคนเดิม กล่าวต่อว่า ตามที่มีเสียงต่อต้านเรื่องค่ารถไฟฟ้าจากหลายภาคส่วนในสังคม โดยเฉพาะการเสนอให้รัฐบาลทบทวนต้นทุนค่าโดยสารรถไฟฟ้าใหม่ ให้สอดคล้องกับบริบทการขยายตัวของเมืองหลวงเหมือนในต่างประเทศที่เจริญแล้ว มีค่ารถไฟฟ้าถูกกว่าไทยหลายเท่าตัว เนื่องจากต้นทุนการเดินรถไฟฟ้าของไทยคิดแค่เฉพาะต้นทุนประกอบการธุรกิจเดินรถพร้อมกำหนดราคาที่ตายตัวไว้ในสัญญาสัมปทาน แตกต่างกับในต่างประเทศมีการนำตัวเลขมูลค่าผลประโยชน์ด้านอื่นมาคิดคำนวณด้วย อาทิ รายได้จากค่าธุรกิจสื่อภายในสถานี รายได้เชิงพาณิชย์จากตัวสถานี และรายได้จากการพัฒนาพื้นที่ตามแนวเส้นทาง

“ดังนั้น จะเห็นได้ว่ามูลค่าทางเศรษฐกิจมหาศาลจะเกิดไปพร้อมกับเส้นทางรถไฟฟ้า จึงจำเป็นต้องนำมาคำนวณในการกำหนดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าเอาไว้ด้วย หากใช้แนวทางดังกล่าวมีโอกาสที่ค่ารถไฟฟ้าจะถูกลงกว่าเดิม ซึ่งบริษัทผู้เดินรถจะอ้างว่าเป็นเพียงรับจ้างเดินรถไม่ได้ เพราะว่าผู้เดินรถเองก็มีบริษัทลูกในการทำกิจกรรมดังกล่าว โดยพบว่าเมื่อรถไฟฟ้าเกิดขึ้นส่งผลให้ราคาที่ดินตามแนวเส้นทางเพิ่มสูงขึ้น 8-10 เท่าตัวจากราคาเดิม ผู้เดินรถจะมองแค่ว่าเป็นเพียงบริษัทเดินรถเท่านั้นไม่ได้”

ด้านแหล่งข่าวในวงการระบบขนส่งมวลชนรายหนึ่ง กล่าวว่า ขณะนี้ทราบว่ากทม.ได้ตัดสินใจชะลอแผนลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายมูลค่า 2 หมื่นล้านบาท ได้แก่ โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวใต้ส่วนต่อขยาย ช่วงสมุทรปราการ-บางปู วงเงิน 1.37 หมื่นล้านบาท และโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือส่วนต่อขยาย ช่วงคูคต-ลำลูกกา วงเงิน 1.19 หมื่นล้านบาท เนื่องจากมองว่าอาจไม่มีบริษัทเอกชนสนใจลงทุนเนื่องจากเป็นเส้นทางชานเมืองที่มีผู้โดยสารไม่มากนัก

“เช่นเดียวกับรถไฟฟ้าสายสีม่วงช่วงชานเมือง ดังนั้น จึงต้องการรอให้รถไฟฟ้าสายใหม่ อาทิ สายสีชมพู สายสีเหลืองและสายสีส้มเปิดบริการก่อนเพื่อประเมินทิศทางดีมานต์ของผู้โดยสารอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งก่อนหน้านี้กระทรวงคมนาคมได้ชะลอโครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีน้ำเงินช่วงบางแค-พุทธมณฑลสาย 4 ด้วยเหตุผลในทำนองเดียวกันนี้”

ด้านรศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า ประเทศอื่นๆ ทั่วโลกมีการใช้แนวทางดังกล่าวเพื่อหาแนวทางช่วยลดภาระค่ารถไฟฟ้าให้กับประชาชน ประเทศไทยมีค่ารถไฟฟ้าแพงติดอันดับโลก ขณะที่ค่าครองชีพของประชาชนนั้นสวนทางอย่างที่มีการเปรียบเทียบกันไปแล้วในข้อมูลศึกษาของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(TDRI) ซึ่งพบว่าค่ารถไฟฟ้าในเมืองไทยแพงกว่าอังกฤษและสิงคโปร์

ด้านนายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข รองผู้ว่าการ (วิศวกรรมและก่อสร้าง) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กล่าวว่า ส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีเขียวหรือบีทีเอสจากหมอชิต-คูคตที่ปัจจุบันการก่อสร้างช่วงสถานีหมอชิต-สถานีเซ็นทรัลลาดพร้าว คืบหน้าเกือบแล้วเสร็จนั้นอยู่ระหว่างการเร่งทดสอบการเดินรถจำนวน 1 สถานีและในวันที่ 8 กรกฎาคมนี้รฟม.เคที,บีทีเอสและกทม.ได้ร่วมกันแสดงสัญลักษณ์ความพร้อมให้บริการเดินรถก่อนที่จะเริ่มเปิดให้บริการฟรีตั้งแต่วันที่ 11 สิงหาคมนี้ เป็นต้นไป

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในวันที่ 8 กรกฎาคม นี้ จะเชื่อมเดินรถจากสถานีหมอชิตถึงสถานีเซ็นทรัลลาดพร้าว 1 สถานีเพื่อแสดงความพร้อมในการเริ่มต้นทดสอบระบบต่างๆ ก่อนที่จะเริ่มเปิดทดลองให้บริการเดินรถฟรีตั้งแต่วันที่ 11 สิงหาคมนี้เป็นต้นไป เดินรถตามปกติและจะเริ่มทยอยเปิดให้บริการไปยังสถานีอื่นๆอย่างต่อเนื่องกันไปจนกว่าจะสิ้นสุดถึงสถานีคูคต

Related Articles

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button