คมนาคม

ส่องทางด่วน 5 สายใหม่ กทพ. ผนึก “ทล.-ทช.” เปิดมิติใหม่จับมือก่อสร้างลดความซ้ำซ้อน ปักธงสายแรก “ศรีนครินทร์-สนามบินสุวรรณภูมิ” โปรเจกต์คิวต่อไป “ภูเก็ต-สมุย” เฮ !

กทพ. ผนึก ทล. และ ทช. เปิดมิติใหม่จับมือก่อสร้างถนนลดความซ้ำซ้อน ผุดทางด่วนนำร่อง 5 สาย มูลค่ากว่า 2.3 แสนล้านบาท เล็งใช้รูปแบบจัดตั้งกองทุน TFF และ PPP ขับเคลื่อนโครงการ เผยโปรเจกต์แรก “ศรีนครินทร์เชื่อมสนามบินสุวรรณภูมิ” จะได้เห็นก่อน คิวต่อไปนักท่องเที่ยว “ภูเก็ต-สมุย” เฮลั่น !

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อการบูรณาการการพัฒนานวัตกรรมและโครงข่ายทางถนนร่วมกันระหว่างกรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท และการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) โดยมี นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง นายสมชาย ลีลาประภาภรณ์ รองอธิบดีกรมทางหลวงชนบท และนายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลง ณ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2565

โดยนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ กล่าวว่า รัฐบาลภายใต้การบริหารงานของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีนโยบายให้ทุกหน่วยงานดำเนินงานโดยยึดหลักการบูรณาการ การมีส่วนร่วม และสร้างการรับรู้ควบคู่การประชาสัมพันธ์ กระทรวงคมนาคมได้ดำเนินการตามนโยบายดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง สำหรับการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อบูรณาการความร่วมมือในการกำหนดแนวทางในการพัฒนาโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง โครงการทางหลวงชนบท และโครงการทางพิเศษ โดยให้ความร่วมมือในการวางแผน การศึกษา และออกแบบโครงการ พร้อมทั้งส่งเสริม สนับสนุน เรียนรู้ และพัฒนานวัตกรรมต่างๆ  ของทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง ทางหลวงชนบท และทางพิเศษร่วมกัน เช่น การบริหารจัดการแบบ Single Command เพื่อให้เกิดการสั่งการที่ชัดเจนและมีประสิทธิภาพ การเชื่อมโยงข้อมูลการจราจรเพื่อวิเคราะห์และแก้ไขปัญหาการจราจรในโครงข่ายคมนาคมทางถนนของประเทศ

พร้อมกันนี้ ได้มอบหมายให้ กทพ. เป็นผู้ดำเนินโครงการ และบูรณาการความร่วมมือในการพัฒนานวัตกรรมและโครงข่ายทางถนนร่วมกันระหว่าง ทล. ทช. และ กทพ. ซึ่งการร่วมมือทั้ง 3 หน่วยงานครั้งนี้ถือเป็นมิติใหม่ในการทำงานร่วมกันของหน่วยงานภาครัฐในการวางแผนการดำเนินงานเพื่อลดความซ้ำซ้อน และเพิ่มประสิทธิภาพและความรวดเร็วในการดำเนินงาน สอดคล้องกับบทบาทหน้าที่ของหน่วยงาน ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนผู้ใช้ทางได้รับความสะดวก ปลอดภัย ประหยัดเวลา และค่าใช้จ่ายในการเดินทางได้มากยิ่งขึ้น นับเป็นการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมทางถนนของประเทศไทยอย่างยั่งยืน ประกอบด้วย 5 โครงการนำร่อง มูลค่า 233,799 ล้านบาท จากทั้งหมด 18 โครงการ โดยจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2565-2570

“ตอนนี้ให้ กทพ. ไปศึกษาดูว่ารูปแบบการลงทุนแต่ละโครงการจะเป็นการระดมตั้งกองทุน ไทยแลนด์ ฟิวเจอร์ฟันด์ หรือ TFF หรือลงทุนในรูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน หรือ PPP ถ้าโครงการไหนระดมทุนได้ก็สามารถดำเนินการได้เลย แต่ถ้าหากรอคอยงบประมาณจากภาครัฐคงใช้เวลานานกว่าจะได้ก่อสร้าง ซึ่งการมอบให้ กทพ. ดำเนินการจะคุ้มค่ามากกว่า” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าว

สำหรับโครงการที่ กทพ. จะดำเนินการก่อสร้างนำร่อง จำนวน 5 โครงการ ได้แก่ 1. โครงการทางพิเศษสายเมืองใหม่ – เกาะแก้ว – กะทู้ จังหวัดภูเก็ต ระยะทางประมาณ 30 กิโลเมตร ซึ่งเดิมกรมทางหลวง (ทล.) ได้เคยศึกษาออกแบบเป็นทางหลวงแนวใหม่สายเมืองใหม่ – เกาะแก้ว นั้นให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เป็นผู้ดำเนินโครงการเป็นรูปแบบทางพิเศษเชื่อมต่อกับโครงการทางพิเศษสายกะทู้ – ป่าตอง

2. โครงการทางยกระดับบนทางหลวงหมายเลข 305 (ปทุมธานี – รังสิต – องครักษ์) ระยะทางประมาณ 20 กิโลเมตร ที่ ทล. ได้ศึกษาออกแบบไว้ ให้ กทพ. เป็นผู้ดำเนินการเป็นโครงการทางพิเศษสายอุดรรัถยา – ปทุมธานี

3. โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายทางยกระดับศรีนครินทร์ – ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะทางประมาณ 18 กิโลเมตร ที่ ทล. ได้ศึกษาออกแบบไว้ ให้ กทพ. เป็นผู้ดำเนินการเป็นทางพิเศษ โดยให้ปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

 

4. โครงข่ายทางสนับสนุนการเชื่อมต่อระบบขนส่งหลักของประเทศ ช่วงจังหวัดสมุทรสาคร – สมุทรปราการ (สะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณอำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ และถนนเชื่อมต่อ) ระยะทางประมาณ 72 กิโลเมตร ที่กรมทางหลวงชนบท (ทช.) ได้ศึกษาและออกแบบไว้นั้น รวมทั้งได้เสนอรายงาน EIA ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการและเตรียมนำเสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติให้ความเห็นชอบ ให้ กทพ. เป็นผู้ดำเนินโครงการ โดยบูรณาการร่วมกับโครงการถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร รอบที่ 3 ด้านใต้ และให้ ทช. เป็นผู้ดำเนินโครงการถนนโครงข่ายรองที่เชื่อมต่อช่วงถนน      จาก ทล.3 บรรจบ ทล.34 ระยะทางประมาณ 16 กิโลเมตร

5. โครงการสะพานเชื่อมเกาะสมุย จากอำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ไปยังอำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช ระยะทางประมาณ 17 กิโลเมตร

ด้านนายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กล่าวว่า การร่วมมือของ 3 หน่วยงานครั้งนี้ถือว่าเป็นมิติใหม่ในการบูรณาการการทำงานร่วมกัน โดยการทางพิเศษฯ มีความเชี่ยวชาญด้านการลงทุน ส่วนกรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบทมีความเชี่ยวชาญด้านการออกแบบ ซึ่งการได้ประสานความร่วมมือกันจะทำให้การก่อสร้างโครงการได้รวดเร็วมากขึ้น และเป็นการประหยัดงบประมาณด้วย เพราะการทางพิเศษฯ จะมีการปรับปรุงแบบก่อสร้างให้ค่าก่อสร้างลดลงเพื่อจะได้คุ้มค่ากับการลงทุนและเกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศไทยชาติด้วย

ผู้ว่าการทางพิเศษ ระบุว่า การลำดับความสำคัญการก่อสร้างจาก 5 โครงการนำร่องนั้น โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายทางยกระดับศรีนครินทร์เชื่อมต่อกับท่าอากาศยานสุวรรณภูมิน่าจะได้เห็นเป็นโครงการแรก เพราะเป็นการก่อสร้างเชื่อมต่อจากทางด่วนศรีนครินทร์ที่มีเดิมอยู่แล้ว ส่วนโครงการต่อมาคือโครงการทางพิเศษสายเมืองใหม่ – เกาะแก้ว – กะทู้ ที่จังหวัดภูเก็ต คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2566 เพื่อให้เสร็จรองรับการจัดงาน Specialised Expo 2571 ที่จังหวัดภูเก็ตเป็นเจ้าภาพ และโครงการสะพานเชื่อมเกาะสมุย จากอำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งจะต้องรอดูผลศึกษาทั้งด้านปริมาณการจราจรและความคุ้มค่าการลงทุนด้วย

พร้อมกันนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้เยี่ยมชมศูนย์บริหารการจราจรทางพิเศษ กทพ. (Expressway Traffic Management Center: ETM) ซึ่งจัดตั้งขึ้นเป็นศูนย์บริหารจัดการแบบ Single Command เพื่อให้เกิดการสั่งการชัดเจนและมีประสิทธิภาพ มีการเชื่อมโยงข้อมูลการจราจรเพื่อวิเคราะห์และแก้ไขปัญหาการจราจรในโครงข่ายคมนาคมทางถนนของประเทศ

Related Articles

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button