สวทช.จับมือ สพฐ.ปั้นนวัตกรน้อยรับการพัฒนา EEC
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เดินหน้าพัฒนาศักยภาพเด็กไทยสู่การเป็นนวัตกร ส่งเสริมสังคมความคิดสร้างสรรค์ ผนึกกำลังสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) นำตัวแทนเยาวชนจากสถานศึกษากว่า 80 แห่งใน 3 จังหวัด ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา พื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) จัดการแข่งขันหุ่นยนต์วิ่งจับเส้น และการนำเสนอโครงงานสมองกลฝังตัวด้วยบอร์ด KidBright ในกิจกรรมการเรียนรู้สมองกลฝังตัว สร้างชิ้นงาน 3 มิติ และ Internet of Things (KidBright, LekObot, NETPIE) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งภายใต้โครงการส่งเสริมการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีให้กับโรงเรียนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี เมื่อเร็วๆ นี้
ดร.อ้อมใจ ไทรเมฆ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. เปิดเผยว่า การแข่งขัน KidBright เป็นส่วนหนึ่งของโครงการขยายผลการพัฒนาบุคลากร STEM สำหรับพื้นที่เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EECi) ซึ่งทางหน่วยงานได้ร่วมมือกับพันธมิตรหลายภาคส่วน โดยมีเป้าหมายเพื่อให้นักเรียนเกิดความคิดเชิงระบบ สามารถเข้าใจกระบวนการเขียนโปรแกรม ผ่านชุดคำสั่งโปรแกรม KidBright ซึ่งรองรับการเชื่อมต่อกับเซนเซอร์ที่หลากหลาย และการเชื่อมต่อระหว่างอุปกรณ์ (Internet of Things) โดย สวทช.ในฐานะผู้รับผิดชอบหลัก EECi ต้องการที่จะกระตุ้นการสร้างนวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี พร้อมสร้างทัศนคติ และอุปนิสัยการเป็นนวัตกร และผู้ประกอบการเทคโนโลยีในกลุ่มเยาวชนในพื้นที่ EEC เนื่องจากเยาวชนกลุ่มนี้จะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในอนาคต ปัจจุบันมีสถานศึกษาในพื้นที่ให้ความสนใจเข้าร่วมโครงการขยายผลฯ นี้แล้วกว่า 80 แห่ง ตั้งแต่ระดับอนุบาล ประถม มัธยมตอนต้นและตอนปลาย ถึงระดับอาชีวศึกษา
รูปแบบการแข่งขันของโครงการ KidBright ครั้งนี้ แบ่งการแข่งขันออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่ การประกวดโครงงาน การแข่งขันหุ่นยนต์ BEAM การแข่งขันหุ่นยนต์ KidBright และการแข่งขันหุ่นยนต์ไต่ราว ซึ่งเยาวชนทุกทีมที่เข้าร่วมแข่งขันต่างมีผลงานที่แสดงออกถึงความคิดสร้างสรรค์ในการบูรณาการความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ (Science) เทคโนโลยี (Technology) วิศวกรรมศาสตร์ (Engineering) และคณิตศาสตร์ (Mathematics) หรือ STEM มาประยุกต์เข้าด้วยกันผ่านกระบวนการการคิดเชิงระบบได้เป็นอย่างดี
โครงงานสมองกลฝังตัว Smart Wheelchair ของ นักเรียนชั้น ม.5 โรงเรียนวัดป่าประดู่ จังหวัดระยอง ซึ่งได้รับรางวัลชนะเลิศ โดยทางทีมตั้งใจออกแบบให้เป็นอุปกรณ์ช่วยเหลือผู้สูงอายุ ผู้พิการ รวมถึงผู้ป่วยเด็กที่มีปัญหาด้านการเคลื่อนไหวและจำเป็นต้องช่วยเหลือตนเองให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหรือได้รับบาดเจ็บในกรณีฉุกเฉิน โดยติดตั้งกลไกอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งควบคุมการทำงานผ่านบอร์ด KidBright เข้ากับรถเข็นให้ผู้ใช้สามารถควบคุมการเคลื่อนที่และระดับความเร็วได้ โดยมีเซ็นเซอร์ตรวจวัดอัตราการเต้นของชีพจร ที่จะส่งข้อมูลแจ้งเตือนผ่านแอปพลิเคชันโดยอัตโนมัติ เมื่อผู้ป่วยมีอัตราการเต้นของหัวใจต่ำกว่า 40 หรือสูงกว่า 110 และเซ็นเซอร์ตรวจวัดความเอียงแจ้งเตือนกรณีรถเข็นเกิดเหตุพลิกคว่ำ และยังมีปุ่มฉุกเฉินสำหรับขอความช่วยเหลือหากผู้ป่วยเกิดอาการผิดปกติ
นางสาวรัชนีวรรณ แสงกล้า หนึ่งในสามสมาชิกของทีม เล่าความรู้สึกว่า โครงการนี้ช่วยให้ทุกคนได้ประสบการณ์เรียนรู้ที่หาไม่ได้ในโรงเรียน เพราะโครงงานจะต้องสามารถตอบโจทย์ใช้งานได้จริงและมีประสิทธิภาพทุกคนจึงจำเป็นต้องลงพื้นที่เพื่อหาข้อมูลและศึกษาปัญหาที่เกิดขึ้นด้วยตัวเอง ทางทีมมองว่าโครงงาน Smart Wheelchair นี้เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของทุกคน เนื่องจากได้ช่วยจุดประกายความคิดให้ทุกคนสนใจที่จะเรียนรู้และพัฒนาตัวเองต่อไปในด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม และตั้งใจที่ส่งต่อโครงงานนี้ในรุ่นน้องได้พัฒนาต่อไป
ทั้งนี้ บอร์ดสมองกล KidBright เป็นผลงานวิจัยและพัฒนาโดยเนคเทค สวทช. เพื่อเป็นเครื่องมือส่งเสริมการเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีเรื่องการเขียนโปรแกรมสำหรับเยาวชนวัยเรียน ผ่านการเรียนรู้แบบ Learn and Play โดยบอร์ดถูกออกแบบให้มีการแสดงผลและเซ็นเซอร์ที่เข้าใจง่าย ควบคุมการทำงานด้วยชุดคำสั่งที่ผู้เรียนสามารถออกแบบและสร้างชุดคำสั่งได้เองแบบ Block-structured Programming ผ่านแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟน เช่น รดน้ำต้นไม้ตามระดับความชื้นที่กำหนด หรือเปิด-ปิดไฟตามเวลาที่กำหนด เป็นต้น