“พาณิชย์-DITP” นำทัพต้อนรับนักธุรกิจแอฟริกาตะวันออก 5 ประเทศ
กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) จับมือทูตพาณิชย์ สถานเอกอัครราชทูต ไนโรบี นำทัพนักธุรกิจจากแอฟริกาตะวันออก 5 ประเทศ มาเจรจาธุรกิจและดูงานด้านธุรกิจที่ไทย 19 ราย จาก 16 บริษัท นำผู้ผลิต ผู้ส่งออก SMEs 72 รายเข้าจับคู่เจรจา คาดตกลงซื้อขายไม่ต่ำกว่า 40 ล้าน พร้อมนำดูงาน โรงพยาบาลกรุงเทพธนบุรี SCG ดาวบิน และมูลนิธิชัยพัฒนา มั่นใจเพิ่มโอกาสทำธุรกิจระหว่างกันได้เพิ่มขึ้น
นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เปิดเผยว่า ตามนโยบายของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ได้มอบหมายให้เพิ่มกิจกรรมส่งเสริมและผลักดันการส่งออกสินค้าไทยไปยังประเทศต่าง ๆ ล่าสุดกรมฯ ได้ร่วมมือกับสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงไนโรบี และสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงไนโรบี ประเทศเคนยา จัดทำโครงการส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับแอฟริกาตะวันออก ปี 2565 โดยนำนักธุรกิจจาก 5 ประเทศในแอฟริกาตะวันออก ได้แก่ เคนยา แทนซาเนีย ยูกานดา เอธิโอเปีย และสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก (สป.คองโก หรือ DRC) จำนวน 19 รายจาก 16 บริษัท เดินทางมาเจรจาธุรกิจและดูงานด้านธุรกิจที่ไทย ระหว่างวันที่ 3-8 กรกฎาคม 2565 เพื่อเพิ่มโอกาสในการทำการค้าร่วมกัน โดยมีสินค้าเป้าหมาย ได้แก่ อาหาร อะไหล่รถยนต์ เม็ดพลาสติกและผลิตภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ ยาและเครื่องมือทางการแพทย์ สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เครื่องจักรทางการเกษตร และผลิตภัณฑ์ยาง โดยได้กำหนดจัดให้มีการเจรจาจับคู่ธุรกิจกับผู้ผลิต ผู้ส่งออก และผู้ประกอบการ SMEs ของไทย จำนวน 72 ราย ในวันที่ 6 กรกฎาคม2565 ที่โรงแรมอนันตรา สยาม กรุงเทพ เกิดการจับคู่ธุรกิจทั้งหมด 96 คู่ มูลค่ารวมทั้งสิ้น 115,465,000 บาท มูลค่าการซื้อขายทันที 51,800,000 บาท และมูลค่าการซื้อขายภายใน 1 ปี 63,350,000 บาท
ขณะเดียวกัน กรมฯ ได้ใช้โอกาสนี้ นำเสนอข้อมูลแนะนำตลาดและสินค้าศักยภาพในแอฟริกาตะวันออก โดยคณะผู้แทนการค้าจากแอฟริกาตะวันออก เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยได้รับทราบข้อมูลต่าง ๆ เช่น ศักยภาพของตลาดในแต่ละประเทศ พฤติกรรมผู้บริโภค รูปแบบสินค้าที่ต้องการ คู่แข่งสำคัญในตลาดกับสินค้าไทย เป็นต้น และเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการไทย ได้ขอรับคำปรึกษาจากทูตพาณิชย์ เพื่อขอทราบแนวโน้มตลาด โอกาสการส่งออกในตลาดแอฟริกาตะวันออก
นอกจากนี้ กรมฯ ยังมีกำหนดพาคณะนักธุรกิจแอฟริกาตะวันออก เข้าเยี่ยมชมโรงงาน และสถานประกอบการ โดยได้เข้าดูงานที่โรงพยาบาล (รพ.) กรุงเทพธนบุรี เพื่อดูเรื่องการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ (medical tourism) กลุ่มบริษัท SCG เพื่อดูงานด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน (BCG) บริษัท ดาวบิน จำกัด ดูงานด้านเครื่องจักรการเกษตร มูลนิธิชัยพัฒนา ดูงานด้านโรงสีข้าวและการทำเกษตร ตามแนวทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง
“กรมฯ มั่นใจว่า การจัดโครงการในครั้งนี้ จะเกิดการสร้างความสัมพันธ์และขยายเครือข่ายทางธุรกิจระหว่างผู้ซื้อ ผู้นำเข้าจากแอฟริกาตะวันออกกับนักธุรกิจ ผู้ประกอบการไทยมากขึ้น ช่วยเพิ่มโอกาสในสาขาธุรกิจที่ไทยต้องการขยายตลาดในอนาคต เช่น เศรษฐกิจหมุนเวียน (BCG) การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ และอุตสาหกรรมทางการเกษตร ช่วยเพิ่มโอกาสในการส่งออกสินค้าศักยภาพของไทย เช่น อะไหล่รถยนต์ เม็ดพลาสติกและผลิตภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องจักรทางการเกษตร ยาและเครื่องมือทางการแพทย์ และจะช่วยเพิ่มโอกาสขยายตลาดการส่งออกในประเทศที่ไทยยังมีการส่งออกมาน้อย เช่น สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ยูกานดา แทนซาเนีย และเอธิโอเปีย รวมทั้งได้รับรู้ถึงศักยภาพในการค้าการลงทุนในภูมิภาคแอฟริกาตะวันออกมากขึ้น”นายภูสิตกล่าว
นายณัฐพงศ์ เสนาณรงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงไนโรบี สาธารญรัฐเคนยา กล่าวว่า ภูมิภาคแอฟริกาตะวันออก เป็นตลาดใหม่ที่นักธุรกิจไทยยังมีความรู้จักและเข้าใจในข้อมูลต่าง ๆ ค่อนข้างจำกัด เช่น การทำการตลาด การหาสินค้าที่มีศักยภาพและเหมาะสม วิธีการส่งออกและนำเข้าสินค้า พฤติกรรมผู้บริโภค เป็นต้น เนื่องจากยังไม่ค่อยมีการแลกเปลี่ยนคณะเดินทางระหว่างกัน ทั้งในระดับภาครัฐและเอกชนมากนัก และไม่สามารถจัดคณะผู้แทนการค้าในช่วงระยะเวลา 2 ปี ที่ผ่านมา อันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และในด้านการค้า ก็มีปัญหาด้านความน่าเชื่อถือในการทำธุรกิจระหว่างกัน การหลอกลวงการขายและนำเข้าสินค้า (Trade Scam) อยู่บ่อยครั้ง รวมไปถึงความน่าเชื่อถือในระบบการชำระเงิน ทำให้ภูมิภาคแอฟริกาตะวันออกเป็นตลาดที่ผู้ประกอบการไทยให้ความสนใจที่จะทำการค้า ทั้งการส่งออก นำเข้า หรือการเข้ามาลงทุนค่อนข้างน้อย กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศจึงได้จัดกิจกรรมเพื่อเพิ่มโอกาสในการขยายตลาดเพิ่มขึ้น
สำหรับภูมิภาคแอฟริกาตะวันออก ถือเป็นแหล่งนำเข้าวัตถุดิบที่สำคัญในการผลิตสินค้าหลายชนิด เช่น ทองแดง อัญมณี โคบอล ทองคำ ดีบุก ชา กาแฟ เป็นต้น ซึ่งไทยสามารถพิจารณาเป็นทางเลือกในการนำเข้าวัตถุดิบเพื่อใช้ในการผลิตสินค้าได้ในอนาคต โดยเฉพาะแร่ทองแดง และโคบอล ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ และโทรศัพท์มือถือ ซึ่งเป็นสินค้าที่จะมีนัยสำคัญต่อภาคการผลิตรถไฟฟ้าของไทยในอนาคต และปัจจุบัน หลายประเทศในแอฟริกาตะวันออก ที่เคยพึ่งพาการนำเข้าจากจีน เช่น เคนยา ที่มีการนำเข้ากว่า 60% ก็ประสบปัญหาจีนส่งมอบสินค้าไม่ได้ตามปกติ จึงต้องหาแหล่งนำเข้าทดแทน รวมทั้งแหล่งนำเข้าเดิม เช่น รัสเซีย ยูเครน มีปัญหา จึงต้องหาแหล่งนำเข้าใหม่