เทคโนโลยี

“วิศวะมหิดล-อว.-ดีอีเอส-WHA” ร่วมเปิดศึกแข่งขันลีกหุ่นยนต์ เวิลด์ โรโบคัพ 2022

“วิศวะมหิดล อว. ดีอีเอส WHA” ร่วมเปิดศึกแข่งขันลีกหุ่นยนต์ เวิลด์ โรโบคัพ 2022 เพิ่มแรงหนุนโรบอทรับเศรษฐกิจยุคดิสรัปต์ พร้อมอัดมาตรการส่งเสริม ทาเลนท์ด้านหุ่นยนต์รับดีมานด์เมืองสมาร์ท และการลงทุน เริ่มแล้ว!! กองทัพหุ่นยนต์ 45 ชาติบุกไทย สีสันใหม่แห่งวงการกีฬา และโซลูชันด้านอุตฯ เปิดประสบการณ์ความอัจฉริยะสุดว้าวพร้อมกัน 13 – 17 ก.ค.นี้ ณ ฮอลล์ EH 98 -100 ไบเทคบางนา

มหาวิทยาลัยมหิดล โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมหรือ อว. กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือดีอีเอส พร้อมด้วย สหพันธ์โรโบคัพ และบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดฉากการแข่งขันหุ่นยนต์ระดับโลกในรายการ World RoboCup 2022 โดยมี 45 ชาติ ร่วมนำหุ่นยนต์ในหลากหลายโซลูชันข้าร่วมการแข่งขัน และอวดโฉมความอัจฉริยะพร้อมกันนี้ ยังได้มีการเผยถึงมาตรการส่งเสริมหุ่นยนต์ในประเทศไทยเพื่อตอบโจทย์กับภาคการลงทุน ภาคอุตสาหกรรม รวมถึงเมืองอัจฉริยะ อาทิ การยกเว้นการเก็บภาษี Capital Gains Tax เป็นเวลา 10 ปี การส่งเสริมหลักสูตรทางด้านสาขาวิชาวิศวกรรมหุ่นยนต์และเทคโนโลยี การผลักดันผู้ที่มีความสามารถและบุคลากรสมรรถนะสูงเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม โดยการจัดการแข่งขันหุ่นยนต์ระดับโลกในรายการ World RoboCup 2022 ประกอบด้วยการแข่งขันทั้งหมด 2 ประเภทหลัก คือ หมวด Major League 4 ประเภท ได้แก่ การแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ การแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัย การประกวดหุ่นยนต์ในบ้านเพื่อการบริการส่วนบุคคล และการจัดประกวดหุ่นยนต์และแขนกลเพื่องานอุตสาหกรรม และหมวด Junior League (RCJ) สำหรับเยาวชนอายุ 14-19 ปี รวมถึงเวทีการแสดงผลงานสินค้าสิ่งประดิษฐ์ด้านนวัตกรรมหุ่นยนต์ 13 – 17 กรกฎาคมนี้ ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทคบางนา Hall EH98-100

รศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ประธานจัดการแข่งขันหุ่นยนต์ระดับโลก ครั้งที่ 25 กล่าวว่า การจัดแข่งขัน “World RoboCup 2022 มีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้น แลกเปลี่ยน และต่อยอดงานวิจัยในด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์ ปัญญาประดิษฐ์ และระบบอัตโนมัติ รวมทั้งเพื่อสร้างบุคลากรให้มีความรู้ความสามารถในด้าน AI และหุ่นยนต์ กระตุ้นการพัฒนาบุคลากรภายในประเทศ ผู้ประกอบการ นักประดิษฐ์ นักวิจัย นิสิตนักศึกษาให้เป็นวิศวกรพันธุ์ใหม่ ที่สนใจแก้ไขปัญหา ทำงานร่วมกันเป็นทีม รู้จักแลกเปลี่ยนความรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีในระดับสากล โดยมีกำหนดจัดขึ้นตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 17 กรกฎาคม 2565 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทคบางนา (Hall EH98-100) โดยแบ่งเป็น 4 ส่วน ได้แก่

ส่วนที่ 1 RoboCup Leagues หมวด Major League สำหรับผู้เข้าแข่งขันในกลุ่มอายุ 19 ปี ขึ้นไป โดยจะมีการแข่งขันตั้งแต่วันที่ 13–16 กรกฎาคม 2565 รวมทั้งสิ้นจำนวน 130 รอบการแข่งขัน ประกอบด้วยการแข่งขันทั้งหมด 4 ประเภท คือ การแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ (RoboCupSoccer) การแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัย(RoboCupRescue) การประกวดหุ่นยนต์ในบ้านเพื่อการบริการส่วนบุคคล (RoboCup@Home) และการจัดประกวดหุ่นยนต์และแขนกลเพื่องานอุตสาหกรรม (RoboCupIndustrial) และ หมวด Junior League (RCJ) สำหรับเยาวชนอายุ 14-19 ปี จำนวน 16 รอบการแข่งขัน ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการริเริ่มด้านการศึกษาที่เน้นการสนับสนุนกิจกรรมหุ่นยนต์ตั้งแต่ในระดับท้องถิ่น ตลอดจนถึงระดับนานาชาติสำหรับนักเรียนตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษา รวมถึงนิสิตนักศึกษาระดับปริญญาตรีที่ขาดแคลนทุนทรัพย์

ส่วนที่ 2 Robotics & AI Exhibitions หนึ่งในเวทีการแสดงผลงานสินค้าในกลุ่มเครื่องมืออุปกรณ์อัจฉริยะ หุ่นยนต์ และระบบเครื่องกลที่ใช้อิเล็กทรอนิกส์ควบคุม รวมถึงสิ่งประดิษฐ์ด้านนวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์ และระบบอัตโนมัติ โดยภายในงานจะมีบูธสินค้าเทคโนโลยีโรโบติกส์ที่น่าสนใจมาจัดแสดง อาทิ หุ่นยนต์ส่งยาและเวชภัณฑ์ในโรงพยาบาล หุ่นยนต์ช่วยเหลือการเดิน-ลุก-นั่งสำหรับผู้สูงอายุ เก้าอี้รถเข็นไฟฟ้าขึ้นบันได นวัตกรรมการพัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์เพื่อจำแนกชนิดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (SARS-CoV-2) ด้วยวิธีวิเคราะห์ High-resolution Melt แบบอัตโนมัติ และสาธิตเทคโนโลยีหุ่นยนต์เพื่อการวินิจฉัยทางการแพทย์ทางไกลของคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล รวมทั้งข้อมูลด้านนวัตกรรมสำหรับธุรกิจโลจิสติกส์ การพัฒนานิคมอุตสาหกรรม สาธารณูปโภคและพลังงาน และดิจิตอลแพลตฟอร์มการให้ข้อมูลเรื่องกลยุทธ์นวัตกรรมของบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) รวมถึงการนำเทคโนโลยี 360 องศา เพื่อให้ผู้เข้าชมงานได้เยี่ยมชมนิคมอุตสาหกรรมของดับบลิวเอชเอ ได้จากภายในงาน

นอกจากนี้ ยังมีการให้ข้อมูลผ่านเทคโนโลยี AI เสมือนจริงอีกด้วย พร้อมกันนี้ยังพบกับระบบเทคโนโลยีสุดพิเศษจากมูลนิธิเอสซีจี บริษัท ซีเกทเทคโนโลยี (ประเทศไทย) และชุดทดสอบสารเคมีกำจัดแมลงตกค้างในผักและผลไม้ ชุดตรวจสิ่งปนเปื้อนบนวัสดุการแพทย์ รวมถึงนวัตกรรมทางการแพทย์อีกมากมายจากคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ส่วนที่ 3 Robotics Startup & Pitchingที่เปิดโอกาสให้กลุ่มธุรกิจสตาร์ทอัพได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์จากผู้เชี่ยวชาญระดับประเทศ อีกทั้งยังเป็นการสร้างเครือข่าย ภาคเอกชน นักลงทุน และมหาวิทยาลัยชั้นนำจากทั้งในและต่างประเทศเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ และส่วนสุดท้ายคือ RoboCup Symposium เวทีการประชุมวิชาการที่เปิดโอกาสให้บรรดาผู้เชี่ยวชาญ และกลุ่มนักวิชาการระดับโลกได้แลกเปลี่ยนไอเดียใหม่ ๆ ทางด้านเทคโนโลยีโรโบติกส์ต่าง ๆ ที่น่าสนใจ

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า การพัฒนาเมืองอัจฉริยะ หรือ สมาร์ทซิตี้ เป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญที่กระทรวงฯ มุ่งขับเคลื่อนและส่งเสริมให้เกิดขึ้นตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งมีเป้าหมายสร้างพื้นที่และเมืองที่ทันสมัย ตอบโจทย์กับความก้าวล้ำของโลกยุคใหม่ที่เน้นการพึ่งพาดิจิทัลและเทคโนโลยี และนำโซลูชั่นที่ทันสมัยไม่ว่าจะเป็นปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI คลาวด์ อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง หรือแม้แต่กระทั่งหุ่นยนต์เข้ามาช่วยพัฒนาเรื่องการเดินทาง การขนส่ง ความปลอดภัย การจ้างงาน ตลอดจนคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะในเรื่องของการส่งเสริมหุ่นยนต์ ที่นับเป็นโอกาสสำคัญของประเทศไทยทั้งในแง่ของการเกิดขึ้นของสตาร์ทอัพที่จะช่วยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจที่มหาศาลให้กับประเทศ การนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงอุตสาหกรรม ต่อเนื่องไปถึงการสร้างแรงจูงใจเพื่อรับการลงทุนจากทั่วโลก โดยขณะนี้ประเทศไทยถือว่ามีศักยภาพในด้านหุ่นยนต์ที่สูงขึ้นเมื่อเทียบกับในอดีต และจำเป็นที่จะต้องผลักดันให้เติบโตมากกว่าในด้านการแข่งขันหรือเพียงต้นแบบที่พัฒนากันในปัจจุบัน

“รัฐบาลมีนโยบายที่จะส่งเสริมผู้ประกอบธุรกิจสตาร์ทอัพ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศ ด้วยการยกเว้นการเก็บภาษี Capital Gains Tax เป็นเวลา 10 ปี แก่นักลงทุนไทยและต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในสตาร์ทอัพไทย ภายใต้ 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย อาทิ อุตสาหกรรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมท่องเที่ยวระดับคุณภาพ อุตสาหกรรมเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหารที่มีมูลค่าเพิ่มสูง และอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ ซึ่งมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมสตาร์ทอัพ จะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยสนับสนุนให้สตาร์ทอัพไทย รวมถึงในด้านหุ่นยนต์ เพิ่มขีดความสามารถการระดมทุนจากนักลงทุนได้เพิ่มขึ้น โดยสภาดิจิทัลฯ คาดการณ์ว่ามาตรการ Capital Gains Tax จะทำให้ไทยมีเงินลงทุนในสตาร์ทอัพภายในปี 2569 เพิ่มขึ้น 320,000 ล้านบาท เกิดการจ้างงานทั้งทางตรง และทางอ้อมเพิ่มขึ้นมากกว่า 4 แสนตำแหน่ง รวมถึงสร้างความแข็งแกร่งให้ระบบเศรษฐกิจประเทศคิดเป็นมูลค่า 790,000 ล้านบาท”

ด้าน ดร.ดนุช ตันเทอดทิตย์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์
วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า ในฐานะเจ้าภาพการจัดกิจกรรมการแข่งขันหุ่นยนต์ระดับโลก ครั้งที่ 25 “World RoboCup 2022” กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เล็งเห็นถึงศักยภาพของเยาวชนไทยที่มีทักษะความรู้ความสามารถ และความคิดสร้างสรรค์ในการสร้างสิ่งประดิษฐ์ ที่เป็นทรัพย์สินทางปัญญาอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งสอดคล้องต่อการดำเนินงานตามแผนพัฒนา 12 อุตสาหกรรมเป้าหมายตามนโยบายของรัฐบาล โดยเฉพาะการใช้หุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ โดยวางเป้าหมายให้ประเทศไทยสามารถก้าวเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม หรือ Innovative Economy ตามโมเดล Thailand 4.0 ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐบาลอย่างยั่งยืน

“ปัจจุบันนี้ทิศทางของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีหุ่นยนต์มีมูลค่ารวมกว่า 350,400 ล้านบาท และคาดการณ์ว่าจะเติบโตในตลาดโลกในอีก 5 ปีข้างหน้าในมูลค่ามากกว่า 1.7 ล้านล้านบาท ทั้งนี้ จึงเป็นโอกาสดีที่ควรส่งเสริมภาคสถาบันการศึกษาโดยเฉพาะในหลักสูตรทางด้านสาขาวิชาวิศวกรรมหุ่นยนต์และเทคโนโลยี รวมถึงกลุ่มธุรกิจสตาร์ทอัพประเทศไทย เพื่อสร้างโอกาสทางด้านอาชีพให้กับบรรดานักวิศวกรคุณภาพ ที่จะร่วมผลักดันประเทศชาติต่อไปได้ในอนาคต”

นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปัจจุบันองค์กรมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ที่มีเป้าหมายในการสร้างกลุ่มอุตสาหกรรมไฮเทคใหม่ในอุตสาหกรรมอนาคต เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า การบิน พลังงานชีวภาพและเคมีชีวภาพ ดิจิทัลเพื่อสุขภาพ หุ่นยนต์และโรโบติกส์ที่จะเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรมในประเทศไทย ดังนั้น การแข่งขันครั้งนี้จะสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่พร้อมที่จะเข้ามาช่วยขับเคลื่อนประเทศให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลของภูมิภาค และการเติบโตของระบบนิเวศไอซีทีให้มีความแข็งแกร่งและยั่งยืนมากขึ้น

“ในฐานะผู้สนับสนุนนโยบายด้านการเสริมสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ และผู้นำในด้านโลจิสติกส์ นิคมอุตสาหกรรมครบวงจร รวมถึงอำนวยความสะดวกด้านอุตสาหกรรม โดยมีเป้าหมายที่จะก้าวสู่การเป็น Technology Company ในปี 2567
ด้วยการนำเทคโนโลยีล้ำสมัยมาใช้ในดำเนินงานของทุกกลุ่มธุรกิจของดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป เพื่อช่วยเสริมสร้างศักยภาพและเร่งการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลให้รวดเร็วยิ่งขึ้น ดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ยินดีที่ได้มีส่วนร่วมเป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนหลักการจัดการแข่งขันหุ่นยนต์ครั้งนี้ เพราะมั่นใจว่านวัตกรรมด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติที่พัฒนาขึ้นจากศักยภาพและความสามารถของผู้เข้าแข่งขันหุ่นยนต์จากประเทศไทย รวมถึงอีก 44 ประเทศ จะช่วยให้ทุกภาคส่วนรวมถึงภาคอุตสาหกรรมมีความก้าวหน้า รวมถึงทำให้ทั้งภาคประชาชน ภาคธุรกิจ และภาครัฐ ให้ความสนใจอุตสาหกรรมหุ่นยนต์เพิ่มขึ้นตามบริบทสังคมและเศรษฐกิจฐานนวัตกรรม”

ศาสตราจารย์ ดร.ปีเตอร์ สโตน ประธานสหพันธ์โรโบคัพ เปิดเผยว่า จุดเริ่มต้นการแข่งขันหุ่นยนต์ระดับโลกในรายการ World RoboCup จัดขึ้นภายใต้การดำเนินงานของสหพันธ์โรโบคัพนานาชาติ (International RoboCup Federation) ซึ่งเป็นการจัดการแข่งขันวิชาการหุ่นยนต์ระดับนานาชาติ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมผลักดันการวิจัยและพัฒนาวงการหุ่นยนต์ระดับโลก โดยเริ่มมีการจัดการแข่งขันตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 ซึ่งเป็นการแข่งขันครั้งยิ่งใหญ่ที่ยังคงดำเนินการเรื่อยมาจนถึงปัจจุบันนี้ สำหรับการแข่งขันในครั้งนี้ มีผู้ร่วมกิจกรรมไม่ต่ำกว่า 3,000 คน จาก 45 ประเทศทั่วโลก อาทิ ประเทศสหรัฐอเมริกา แคนาดา อังกฤษ เนเธอร์แลนด์ เยอรมัน ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ จีน และไทย เป็นต้น โดยผู้เข้ารอบชิงชนะเลิศจะได้รับโล่รางวัลพร้อมประกาศนียบัตรเพื่อเป็นเกียรติคุณ ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่ผู้เข้าแข่งขันสู่การเข้าถึงโอกาสทางวิชาชีพในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีหุ่นยนต์ได้ในระดับสากล สำหรับผู้ที่สนใจสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ https://2022.robocup.org/index.php

Related Articles

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button