WPAT จับมือภาครัฐ-เอกชน หนุนกฎหมายการติดตั้ง AED ในอาคารสูงและพื้นที่สาธารณะ หวังช่วยเหลือผู้ป่วยภาวะหัวใจหยุดเต้นกะทันหัน
วันนี้ (26 ก.ค.65) สมาคมส่งเสริมความปลอดภัยและอนามัยในการทำงาน (ประเทศไทย) ในพระราชูปถัมภ์ฯ (SHAWPAT) จัดงานเสวนาพิเศษหัวข้อ “สังคมที่ปลอดภัย เพื่อผู้ป่วยภาวะหัวใจหยุดเต้นกะทันหัน” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความตระหนักรู้ด้านความปลอดภัยในที่สาธารณะและสถานที่ทำงานในกรณีที่เกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นกะทันหัน ตลอดจนให้ความรู้แก่องค์กรและบริษัทในประเทศไทยเกี่ยวกับความสำคัญของเครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าอัตโนมัติ (Automated External Defibrillator หรือ AED) และการติดตั้งเครื่อง AED ในพื้นที่ดังกล่าว รวมถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการเสริมสร้างความรู้เกี่ยวกับการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานที่เหมาะสมให้แก่คนไทย
พร้อมตัวแทนจากภาครัฐฯ อาทิ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และกรมโยธาธิการและผังเมือง และภาคเอกชนได้แก่ บริษัท สยามสินธร จำกัด บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และบริษัท เจี่ยรักษา จำกัด ผู้จัดจำหน่ายอุปกรณ์การแพทย์และเครื่อง AED ชั้นนำในประเทศไทย ร่วมพูดคุยเสวนาเพื่อตอกย้ำความสำคัญของมาตรการป้องกันและส่งเสริมความปลอดภัยในพื้นที่ต่างๆ เช่น อาคารสำนักงาน คอนโดมิเนียม ห้างสรรพสินค้า เป็นต้น ในการสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยต่อหัวใจและเสริมสร้างความปลอดภัยในที่ทำงานเมื่อเกิดเหตุภาวะหัวใจหยุดเต้นกะทันหัน
ประเด็นเรื่องสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยในที่ทำงานและในที่สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน เช่น ภาวะหัวใจหยุดเต้นกะทันหัน เป็นหัวข้อสำคัญที่ถูกหยิบยกมาพูดถึงในสังคมไทยมากขึ้น เนื่องจากเกี่ยวข้องกับชีวิตและความสูญเสียที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น ตามรายงานของวารสารการแพทย์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทย ที่ตีพิมพ์เมื่อเดือนธันวาคมปี 2564 ที่ผ่านมา ภาวะหัวใจหยุดเต้นนอกโรงพยาบาล (OHCA: Out-of-hospital cardiac arrest) ที่เกิดขึ้นทั่วโลกมีอัตราการเกิดโดยเฉลี่ย 55 คน ใน 100,000 คนต่อปี ซึ่งถือเป็นปัญหาด้านสาธารณสุขที่สำคัญ นอกจากนี้ ความปลอดภัยของสถานที่ทำงานก็เป็นหนึ่งในหัวใจหลักที่องค์กรทั่วโลกต้องคำนึงถึง องค์กรจำเป็นต้องมีแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดเพื่อรับรองสภาพแวดล้อมการทำงานที่ปลอดภัยให้แก่พนักงาน ซึ่งในที่นี้รวมถึงแผนการสื่อสารด้วย
พญ.ขจีรัตน์ ปรักเอโก ที่ปรึกษาสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวเสริมว่า “อัตราการเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจของคนไทย อยู่ที่ประมาณ 60,000 คนต่อปี ซึ่งผู้ป่วยมักไม่รู้ตัวและเกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันได้ทุกที่ ทุกเวลา ดังนั้นเพื่อเพิ่มโอกาสรอดชีวิตของผู้ป่วย จึงจำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือที่ถูกต้องและทันท่วงที ประชาชนทุกคนต้องสามารถแจ้งขอความช่วยเหลือ 1669 ทำการกู้ชีพขั้นพื้นฐาน (CPR) เข้าถึงและใช้เครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติหรือ AED ได้อย่างเหมาะสม ภายใน 3-5 นาทีแรกเมื่อจำเป็นต้องใช้ จะสามารถเพิ่มโอกาสรอดชีวิตได้ถึงร้อยละ 75 จึงจำเป็นต้องมีการสนับสนุนให้หน่วยงาน องค์กร บริษัท หรือ สถานประกอบการ ต่างๆ เห็นความสำคัญในการพัฒนาบุคลากร จัดหาอุปกรณ์ และสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยต่อพนักงานและทุกคนที่เกี่ยวข้อง รวมถึงผู้ใช้พื้นที่สาธารณะ อย่างไรก็ตาม การป้องกันโรคหัวใจเป็นสิ่งสำคัญที่ทุกคนต้องรู้จักประเมินความเสี่ยงของตนเองและมีพฤติกรรมสุขภาพที่เหมาะสม โดยไม่สูบบุหรี่ งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กินอาหารและมีกิจกรรมทางกายที่พอเหมาะพอดี จิตใจแจ่มใส และ ตรวจสุขภาพประจำปีด้วย”
งานวิจัยหลายฉบับแสดงให้เห็นว่า ปัจจัยต่างๆ อย่างการช่วยชีวิตด้วยการทำ CPR ไปจนถึงสถานที่ที่เกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นกะทันหัน ช่วงเวลาที่ผู้ป่วยได้รับการช่วยเหลือก่อนเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล เวลาตอบสนองในการช่วยเหลือที่ช้าหรือเร็ว เวลาเกิดเหตุ เวลาในการเดินทางไปยังโรงพยาบาล และการใช้เครื่อง AED ล้วนเป็นตัวชี้วัดอัตราการรอดชีวิต ซึ่งรัฐบาลไทยเห็นด้วยกับเรื่องนี้ สอดคล้องไปกับกฎกระทรวงมหาดไทยล่าสุด ที่ได้ประกาศในกฎกระทรวงฉบับที่ 69 (พ.ศ. 2564) โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 2 ธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา โดยกำหนดให้อาคารสูงและอาคารขนาดใหญ่พิเศษต้องมีอุปกรณ์ช่วยเหลือเพื่อเพิ่มโอกาสการรอดชีวิตของผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันก่อนเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์จะเดินทางมาถึงI
ดร. ศิริลักษณ์ จิตต์ระเบียบ สมาคมส่งเสริมความปลอดภัยและอนามัยในการทำงาน (ประเทศไทย) ในพระราชูปถัมภ์ฯ และที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการสาธารณสุขรัฐสภา สำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า “องค์กรต่างๆ ควรมีนโยบายและแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน เกี่ยวกับการสื่อสารด้านความปลอดภัยในสถานที่ทำงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน เนื่องจากการมีแผนการที่ดีจะช่วยดูแลป้องกันสุขภาพ สร้างความปลอดภัยและสวัสดิภาพที่ดีให้แก่พนักงานได้ โดยในการเตรียมตัวรับมือกับภาวะหัวใจหยุดเต้นกะทันหันนั้น แนวทางการสื่อสารด้านความปลอดภัยขององค์กร ควรประกอบด้วยโครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการช่วยฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐาน (CPR) และการใช้เครื่องกระตุกหรือกระตุ้นหัวใจด้วยไฟฟ้าอัตโนมัติ (AED) ให้แก่พนักงานและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้รับการฝึกอบรมและฝึกปฏิบัติอย่างเป็นประจำ เพื่อให้เกิดทักษะการช่วยฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐาน (CPR) แก่ผู้ป่วย รวมไปถึงเรียนรู้วิธีการใช้การใช้เครื่องกระตุกหรือกระตุ้นหัวใจด้วยไฟฟ้าอัตโนมัติ (AED) อย่างปลอดภัยและถูกต้อง จะช่วยสะท้อนความมุ่งมั่นขององค์กรในการปกป้องชีวิตของผู้ที่เกี่ยวข้องในธุรกิจ องค์กร และชุมชนของสังคมไทยได้อีกทางหนึ่ง”
ดร.ธนิต ใจสอาด วิศวกรโยธาชำนาญการพิเศษ สำนักควบคุมและตรวจสอบอาคาร กรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวว่า “เครื่อง AED ที่พร้อมใช้งานและเข้าถึงได้ง่ายจะช่วยเสริมสร้างความปลอดภัยสาธารณะสำหรับทุกคนที่เกี่ยวข้อง จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมการติดตั้งเครื่อง AED ในอาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษ และอาคารที่เป็นสาธารณะถึงสำคัญมาก โดยอาคารเหล่านี้ต้องจัดให้มีพื้นที่หรือตำแหน่งเพื่อติดตั้งเครื่อง AED ในพื้นที่ภายในตัวอาคารที่เข้าถึงได้ง่าย มองเห็นได้ชัดเจน ซึ่งอาจเป็นพื้นที่ที่มีคนเดินสัญจรผ่านบ่อยๆ หรือพื้นที่ที่ใกล้กับอุปกรณ์ฉุกเฉินที่มีอยู่ เช่น ถังดับเพลิงและชุดปฐมพยาบาล หากเป็นการติดตั้งเครื่อง AED ในที่ทำงาน พนักงานควรได้รับแจ้งเกี่ยวกับตำแหน่งของเครื่อง AED ด้วย ในขณะเดียวกัน การติดตั้งเครื่อง AED ไว้ตรงตำแหน่งตรงกลางหรือจุดเด่นในพื้นที่จะช่วยให้ทุกคนคุ้นเคยกับการเห็นเครื่องนี้และทราบทันทีว่าจะหาเครื่อง AED ได้ที่ไหนในกรณีเหตุการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งรายละเอียดของเครื่อง AED จำนวน ตำแหน่ง และระบบการติดตั้งเครื่อง AED ในอาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษที่เป็นอาคารสาธารณะได้มีกำหนดให้เป็นไปตามมาตรฐานการปฏิบัติการฉุกเฉินในการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานนอกสถานพยาบาล ของคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน”
ด้าน คุณสมชาย แซ่เจี่ย บริษัท เจี่ยรักษา จำกัด ผู้จัดจำหน่ายอุปกรณ์การแพทย์และเครื่อง AED ชั้นนำในประเทศไทย ได้กล่าวเสริมถึงปัจจัยและคุณสมบัติของเครื่อง AED ที่เหมาะสมที่องค์กรต่างๆ ควรพิจารณาก่อนติดตั้ง ได้แก่ “ต้องคำนึงถึงความง่ายต่อการใช้งาน เครื่อง AED ต้องสามารถแสดงผลลัพธ์การช่วยชีวิตแบบ CPR ด้วยภาพและเสียงคำแนะนำที่เข้าใจง่าย โดยเฉพาะเวลาแนะนำน้ำหนักและความถี่ในการกดหน้าอกผู้ป่วยที่เหมาะสม นอกจากนี้ เครื่อง AED ต้องสะดวกต่อการจัดเก็บและติดตั้งในตำแหน่งเหมาะสมทั่วทั้งอาคาร ทั้งยังต้องมีน้ำหนักเบา พกพาสะดวก และสามารถใช้งานในพื้นที่ที่มีข้อจำกัดได้ โดยจำนวนเครื่อง AED ที่ควรติดตั้งนั้น ขึ้นอยู่กับขนาดพื้นที่ในการใช้งาน เพื่อให้ถึงผู้หมดสติ เร็วที่สุด ภายในระยะเวลาที่กำหนด”
นายเทอดศักดิ์ มีแสง บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ สยามสินธร ยังได้กล่าวถึงแนวทางยกระดับสภาพแวดล้อมและคุณภาพชีวิตด้านความปลอดภัย รวมถึงมาตรการด้านการช่วยเหลือผู้ป่วยในสภาวะฉุกเฉินทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็น ผู้ป่วยเป็นลม จนถึงผู้ป่วยที่หมดสติว่า “ทุกอาคารของสยามสินธรมีการติดตั้งเครื่อง AED และมีการพัฒนาบุคคลากรด้านการแพทย์ โดยเจ้าหน้าที่เซฟตี้ของสยามสินธร ได้เข้ารับการฝึกอบรมหลักสูตร EMR ของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน (สพฉ.) ซึ่งได้มีการถ่ายทอดความรู้ในกับบุคคลากรในองค์กร ไม่ว่าจะเป็นพนักงาน แม่บ้าน รปภ. คนสวน โดยมีการจัดฝึกอบรมให้ความรู้และซักซ้อมแผนการช่วยเหลือ กรณีเกิดเหตุฉุกเฉินต่างๆ เนื่องจากมีผู้พักอาศัยที่เป็นผู้ป่วยติดเตียง และพนักงานของบริษัทเช่าในอาคารสินธร ที่เป็นผู้พิการ ทั้งนี้ เรามีการกำหนดจุดเซฟโซน (SAFE ZONE) และประชาสัมพันธ์ให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องทราบ และมีการซักซ้อมแผนกันเป็นประจำตามนโยบายของผู้บริหารที่เน้นย้ำและให้ความสำคัญ ทั้งยังรวมถึงการออกให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยที่ต้องต้องมีการทำ CPR ตามที่ได้รับการร้องขอของประชาชนในละแวกใกล้เคียง”