“ชัชชาติ” เปิดรับงานวิจัยและนวัตกรรมพร้อมใช้ จับมือกองทุนส่งเสริม ววน. สร้างกรุงเทพฯ เมืองน่าอยู่
ผู้ว่าฯ กทม. จับมือกองทุนส่งเสริม ววน. ผลักดันงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์แก้ปัญหามุ่งสู่ “กรุงเทพฯ เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน” ชี้ต้องใช้แนวคิดพฤติกรรมศาสตร์ทั้งเรื่องความโปร่งใสและคอร์รัปชัน ความปลอดภัยทางถนน สิ่งแวดล้อม และความสะอาด รวมทั้งการตรวจหาเชื้อโควิดและฝีดาษลิงเชิงรุกในพื้นที่ที่เป็นจุดโฟกัส
วันนี้ (26 ก.ค.65) ดร.ลัษมณ อรรถาพิช ที่ปรึกษาผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) นำคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่เข้าพบและหารือการทำงานร่วมกันระหว่างกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กับนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และคณะ ณ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร โดยผู้บริหาร สกสว. ได้นำเสนอกลไกการทำงานของระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) พร้อมตัวอย่างงานวิจัยและนวัตกรรมที่สนับสนุนนโยบายผู้ว่าฯ กทม. ซึ่ง กทม.สามารถเป็นผู้ตั้งโจทย์และทำงานวิจัยร่วมกับหน่วยงานด้าน ววน. เพื่อใช้ประโยชน์ในพื้นที่ หรือเป็นผู้ทำวิจัยเองผ่านการขอทุนสนับสนุนจากกองทุนส่งเสริม ววน. หรือหน่วยบริหารและจัดการทุน นอกจากนี้ยังสามารถทำงานร่วมกับกองทุนส่งเสริม ววน. เพื่อใช้ประโยชน์จากข้อมูลงานวิจัยที่มีอยู่เพื่อพัฒนาและขับเคลื่อนนโยบาย
ทั้งนี้ สกสว.ได้จัดทำกระบวนการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อหาความสัมพันธ์ระหว่างนโยบาย กรุงเทพฯ 9 ดี และฐานข้อมูลงานวิจัย ววน. ในช่วงปี 2563-2565 สามารถรวบรวมผลงานที่ดำเนินการในพื้นที่ กทม. โดยตรง และงานวิจัยที่ดำเนินการในต่างพื้นที่แต่สามารถนำมาถอดบทเรียนใช้กับ กทม.ได้ ตัวอย่างเช่น งานวิจัยเพื่อสนับสนุนนโยบายถอดบทเรียนโควิด-19 ไม่ผิดพลาดซ้ำสอง และนวัตกรรมเตือนภัยล่วงหน้าเพื่อควบคุมการระบาดเชิงรุก งานวิจัยเพื่อแก้ปัญหาวิกฤตโควิดตามกรอบการดำเนินงานขององค์การอนามัยโลก งานวิจัยเพื่อสนับสนุนนโยบายการแก้ไขปัญหา PM2.5 ใน กทม. งานวิจัยเพื่อสนับสนุนนโยบายการรณรงค์สิทธิและระเบียบวินัยพลเมืองในเรื่องคอร์รัปชัน โดยตัวอย่างการทำงานของ กทม. ร่วมกับหน่วยงาน ววน. ที่ผ่านมา ได้แก่ โครงการวิจัยการออกแบบประติมากรรมบนที่สาธารณะกับการมีส่วนร่วมของชุมชน ซึ่งนักวิจัยได้ร่วมกับชุมชนในเกาะรัตนโกสินทร์ กองจัดรูปที่ดินและฟื้นฟูเมือง สำนักผังเมือง กรุงเทพมหานคร สร้างงานประติมากรรมและการจัดการสิ่งแวดล้อมทางศิลปะในองค์รวม
สำหรับข้อเสนอแนวทางการทำงานร่วมกัน เพื่อมุ่งสู่ “กรุงเทพฯ เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน” ผ่านกลไกเคลื่อนไทยด้วยวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จะใช้กลไกการทำงานในประเด็น ววน. ที่ กทม. สนใจ และสิ่งที่ สกสว. มี ทั้งงานวิจัยและนวัตกรรมพร้อมใช้ และเครือข่ายวิชาการ เพื่อให้ กทม. ใช้ประโยชน์จากงานวิจัยและนวัตกรรมในการแก้ปัญหาและพัฒนาพื้นที่ หรือเสนอโจทย์เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาร่วมกันโดยใช้ ววน. เพื่อให้เกิดผลลัพธ์และผลกระทบจากการนำงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์อย่างแท้จริง ดังตัวอย่างการทำงานร่วมกับชุมชน อาทิ การจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชนในย่านตลาดน้อย เพื่อให้เกิดการผลักดัน ปรับปรุงสภาพแวดล้อม คุณภาพสาธารณูปโภค อาคารบ้านเรือน เศรษฐกิจ และการก้าวสู่ย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่มาจากรากฐานและความต้องการของชุมชน หรือการใช้แพลตฟอร์มเชื่อมโยงระบบข้อมูลเพื่อการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ ระหว่างนักวิจัย ผู้มีเทคโนโลยี หรือผู้เชี่ยวชาญ กับนักลงทุน ผู้มองหาเทคโนโลยี
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กทม.พร้อมเป็นหน่วยงานร่วมทั้งการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยและนวัตกรรม และมีปัญหาที่จะนำไปตั้งเป็นโจทย์วิจัยได้ อยากได้งานวิจัยพร้อมใช้ แบบบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่ฉีกซองเติมน้ำร้อนกินได้เลย โดยให้ความสนใจการตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 และฝีดาษลิงจากน้ำเสียในชุมชน โดยทำงานเชิงรุกในจุดโฟกัส เช่น แถวนานา เป็นต้น รวมทั้งแนวคิดพฤติกรรมศาสตร์ (Nudge) 4 เรื่อง ได้แก่ ความโปร่งใสและคอร์รัปชัน ความปลอดภัยทางถนน สิ่งแวดล้อม และความสะอาด ซึ่งจำเป็นต้องใช้หลักการทางวิชาการเข้ามาช่วย และฝากโจทย์ให้ สกสว.ไปดำเนินการต่อ โดยหลังจากนี้จะมีการประชุมกลุ่มย่อยระหว่าง กทม. และ สกสว. เพื่อทำงานร่วมกับต่อไป
ขณะที่ รศ. ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ซึ่งให้ความสำคัญกับงานวิจัยด้านสังคมศาสตร์ ระบุว่างานวิจัยเกี่ยวกับย่านนวัตกรรมหรือชุมชนต่าง ๆ ที่อยากให้ตั้งโจทย์ที่มองเห็นคนตัวเล็ก ๆ ที่มีอยู่หลายกลุ่มด้วย รวมถึงปัญหาคนไร้บ้านและคนจนเมืองที่อยากให้เชื่อมบทบาทของท้องถิ่น รวมทั้งอยากให้ กทม. เป็นหน่วยกลางของแอปพลิเคชันต่าง ๆ ที่มีจำนวนมาก โดยเฉพาะด้านอุตสาหกรรมและสุขภาพ นอกจากนี้ยังมีช่องว่างเรื่องการใช้เทคโนโลยี เช่น การแพทย์ทางไกล ที่อาจเป็นช่องเล็กช่องน้อยที่ สกสว.จะต้องทำเรื่องการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยและนวัตกรรมโดยเร่งด่วน เพื่อปิดช่องว่างเหล่านี้ ด้าน พญ.วันทนีย์ วัฒนะ รองปลัดกรุงเทพมหานคร เสริมว่าสังคมสูงวัยยังมีกิจกรรมที่จะทำให้ผู้สูงอายุมีชีวิตชีวา และอยู่อย่างมีเกียรติมีศักดิ์ศรี สามารถทำงาน ช่วยตัวเองและคนอื่นได้