NIAโชว์ 5 ยุทธศาสตร์เร่งด่วนตอบโจทย์กระทรวงใหม่
NIA เปิดแผนการดำเนินงานภายใต้การจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) โดยเตรียมยกระดับหน่วยงานเป็น “บูรณากรระบบนวัตกรรมแห่งชาติ” เพื่อสร้างความเข้มแข็งในการทำงานร่วมกันของระบบนิเวศนวัตกรรม และพัฒนานวัตกรรมที่สร้างคุณค่าและผลกระทบทั้งเชิงเศรษฐกิจและสังคม นอกจากนี้ ยังมีแผนงานเร่งด่วนที่จะเพิ่มความเข้มแข็งของระบบนวัตกรรมใน 5 ด้าน ประกอบด้วย การปรับปรุงกฎหมายและข้อจำกัดทางการบริหารระบบนวัตกรรม การสร้างโอกาสทางนวัตกรรมในภูมิภาค การสร้างนักรบเศรษฐกิจนวัตกรรมใหม่ การเงินและการลงทุนนวัตกรรม และการสร้างภาพลักษณ์ประเทศแห่งนวัตกรรม
ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) เปิดเผยว่า ตามที่ได้มีการประกาศจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม หรือ อว.นั้น NIA ถือเป็นหน่วยงานหนึ่งภายใต้การดำเนินงานของกระทรวงดังกล่าว ซึ่งหลังจากนี้จะมีหน้าที่ในการพัฒนากำลังคน ระบบนิเวศ และโครงสร้างพื้นฐานด้านนวัตกรรมที่สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศ พร้อมด้วยบทบาทในการผลักดันการสร้างสรรค์ผลงานนวัตกรรมที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งแสวงหาความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เพื่อให้เกิดความร่วมมือและดำเนินการไปในทิศทางที่มีความเชื่อมโยงและสอดรับกับนโยบาย ยุทธศาสตร์ และแผนงานด้านวิทยาศาสตร์ – วิจัยของประเทศ อย่างไรก็ตาม ในการควบรวมหน่วยงานและปรับโครงสร้างครั้งนี้ ถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญที่จะช่วยให้ประเทศไทยมีความก้าวหน้าเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องของกำลังคนที่มีความรู้ความสามารถ และจะช่วยให้หลายภาคส่วนมีความพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
ดร.พันธุ์อาจ กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมา NIA ได้มีการปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์การดำเนินงาน เพื่อขยายขอบเขตการดำเนินงานให้ครอบคลุมกับภารกิจตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสำนักงานทั้ง 5 ด้าน จากเดิมที่มุ่งเน้นการส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการนวัตกรรมผ่านการให้เงินทุนเท่านั้น เรียกได้ว่าเป็น 4 ปีแห่งการเตรียมความพร้อมด้านรากฐานที่สำคัญ เพื่อก้าวสู่ 10 ปี แห่งการสร้างการบูรณาการเชิงระบบทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค ซึ่ง NIA พร้อมจะก้าวสู่การเป็น ผู้สร้างระบบนิเวศ (ecosystem builder) และ สะพานเชื่อม (system integrator) ระหว่างหน่วยงานพันธมิตร นวัตกร และผู้ประกอบการ โดยมีองค์ความรู้ ระบบนิเวศ ไอเดียทางธุรกิจ การเผยแพร่แนวคิดการพัฒนานวัตกรรมแบบเปิด รวมถึงโอกาสใหม่ๆ มาใช้ต่อยอดคุณค่าและมูลค่าทางเศรษฐกิจร่วมกัน นอกจากนี้ การปรับบทบาทดังกล่าวยังจะช่วยส่งเสริมการเติบโตทางนวัตกรรมในระดับภูมิภาค การเข้าถึงทรัพยากรและการบริการ ลดอุปสรรคในด้านโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น ตลอดจนขยายผลความร่วมมือไปสู่กิจกรรมเป้าหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง
สำหรับในอนาคตของการดำเนินงานภายใต้กระทรวงใหม่ NIA กำลังเร่งทำแผนและนโยบาย โดยเรื่องแรกจะยกระดับ NIA ให้เป็น “บูรณากรระบบนวัตกรรมแห่งชาติ” ใน 2 มิติ คือ 1) การบูรณาการแนวระนาบเพื่อพัฒนาอุปทานทางนวัตกรรม (Horizontal System Integrator 4 Supply-side Development) ด้วยการเชื่อมโยงและประสานงานหน่วยงานสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรม เพื่อสร้างความเข้มแข็งในการทำงานร่วมกันของระบบนิเวศนวัตกรรม และ 2) การบูรณาการแนวดิ่งเพื่อพัฒนาอุปสงค์ทางนวัตกรรม (Vertical System Integrator 4 Demand-side Development) โดยเชื่อมโยงและประสานงานภาคเอกชน ภาคประชาสังคมและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อการพัฒนานวัตกรรมที่สร้างคุณค่าและผลกระทบทั้งเชิงเศรษฐกิจและสังคม
สำหรับแผนงานต่อมาเป็นแผนงานเร่งด่วน (ระหว่างปี 2563 – 2566) ที่จะต้องเร่งดำเนินการ ซึ่งเป็นแผนงานในการขับเคลื่อนเพื่อเพิ่มความเข้มแข็งของ “ระบบนวัตกรรม” 5 ด้าน ประกอบด้วย
- ปรับปรุงกฎหมายและข้อจำกัดทางการบริหารระบบนวัตกรรม โดยลดข้อจำกัดและสร้างสภาพแวดล้อมเชิงระบบที่เอื้อต่อการเติบโตของนวัตกรรม เช่น การปรับปรุงกฎหมายสตาร์ทอัพ พ.ร.บ. สำหรับการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์และการประกอบธุรกิจ
- การสร้างโอกาสทางนวัตกรรมในภูมิภาค เป็นการยกระดับความเท่าเทียมและการพัฒนาอย่างเข้มแข็งของระบบนวัตกรรม ด้วยการสร้างเครือข่ายนวัตกรรมที่เข้มแข็งในพื้นที่ โดย NIA จะทำหน้าที่เชื่อมโยงส่วนราชการท้องถิ่น มหาวิทยาลัย ภาคเอกชน และชุมชน โดยมีเป้าหมาย 3 ข้อ ได้แก่ 1) การทำให้ความสามารถด้านนวัตกรรมของบุคลากรที่อยู่ในระบบนิเวศนวัตกรรมเพิ่มขึ้น และเพิ่มจำนวนนวัตกรและองค์กรนวัตกรรมในพื้นที่ 2) การพัฒนาคลัสเตอร์อุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่เพื่อเพิ่มศักยภาพการลงทุน และ 3) การส่งเสริมอัตลักษณ์ด้านนวัตกรรมของพื้นที่ เพื่อก่อให้เกิดการขยายผลการลงทุนในธุรกิจนวัตกรรมของพื้นที่
- การสร้างนักรบเศรษฐกิจนวัตกรรมใหม่ ซึ่งจะมุ่งเน้นสร้างนวัตกรและนวัตกรรมเพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยเฉพาะธุรกิจนวัตกรรมที่เติบโตได้ในระดับโลก และการสร้างงานแห่งอนาคต (Jobs for the future) โดยมีเป้าหมายไม่ต่ำกว่า 20,000 งาน
- การเงินนวัตกรรม โดยมุ่งกระตุ้นการเติบโตนวัตกรรมด้วยเงินสนับสนุนและการลงทุนทั้งจากหน่วยงานภาครัฐ ธุรกิจขนาดใหญ่ สถาบันการเงิน รวมทั้งการทำตลาดให้กับผู้ประกอบการ
- การสร้างภาพลักษณ์ประเทศแห่งนวัตกรรม ด้วยการสร้างการยอมรับและความร่วมมือด้านนวัตกรรมด้วยยุทธศาสตร์การทูตนวัตกรรม และ Innovation Thailand Campaign ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยได้รับการยอมรับทั้งความเชื่อมั่นในด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี และทำให้นานาประเทศรู้จักกับนวัตกรรมที่พัฒนาโดยคนไทยมากขึ้น
อย่างไรก็ดี นอกเหนือจากแนวนโยบายที่จะดำเนินการในอนาคต NIA ยังจะมีการยกระดับแผนงานเดิมให้มีความเข้มข้นและเห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้นไม่ว่าจะเป็นโปรแกรม GROOM GRANT และ GROWTH โดย GROOM จะเป็นการส่งเสริมและสร้างผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรม รวมทั้งกระจายโอกาสในการพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมในระดับส่วนกลางและภูมิภาคให้เพิ่มมากขึ้น GRANT จะเน้นสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อพัฒนาธุรกิจนวัตกรรม และสร้างธุรกิจนวัตกรรมที่หลากหลายและเข้มแข็ง ขณะที่ GROWTH จะมุ่งยกระดับความสามารถธุรกิจนวัตกรรมของผู้ประกอบการไทยสู่เวทีนานาชาติ และสร้างโอกาสลงทุนเพิ่มในธุรกิจนวัตกรรม ด้วยการเชื่อมโยงระบบเทคโนโลยีและนวัตกรรมจากพันธมิตรต่างประเทศให้เกิดขึ้นอย่างหลากหลาย นอกจากนี้ ยังมีการสร้างนวัตกรรมในเชิงพื้นที่ (Area Based Innovation) ไม่ว่าจะเป็น ระเบียงนวัตกรรม เมืองนวัตกรรม และย่านนวัตกรรม การส่งเสริมสตาร์ทอัพภายใต้โปรแกรม STARTUP THAILAND หน่วยงานเพื่อการยกระดับศักยภาพบุคลากรด้านนวัตกรรม เช่น สถาบันวิทยาการนวัตกรรม (NIA Academy) ศูนย์สร้างสรรค์ธุรกิจนวัตกรรมการเกษตร (ABC Center) สถาบันการมองอนาคตนวัตกรรม เป็นต้น ดร.พันธุ์อาจ กล่าวทิ้งท้าย