SMD ทุบสถิติกวาดรายได้ครึ่งปีแรกสูงสุด 1,398.67 ล้านบาท
บมจ.เซนต์เมด (SMD) ผู้นำธุรกิจจัดจำหน่ายเครื่องมือแพทย์ในประเทศไทย เผยผลงานไตรมาส 2/65 กวาดรายได้รวม 690.02 ล้านบาท เติบโต 109.37% และมีกำไรสุทธิ 86.72 ล้านบาท เติบโต 31.40% ส่งผลให้งวด 6 เดือน มีรายได้รวม 1,398.67 ล้านบาท เติบโตขึ้น 188.38% กำไรสุทธิ 223.43 ล้านบาท เติบโตขึ้น 202.17% โชว์ฟอร์มทำสถิติมีรายได้และกำไรครึ่งปีแรกสูงสุด ด้านบอร์ดฯ อนุมัติจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลเป็นเงินสดในอัตรา 0.25 บาทต่อหุ้น ประกาศย้ำเป้ารายได้ปี 65 ไม่ต่ำกว่า 2,100 ล้านบาท พร้อมเดินหน้าขยายน่านน้ำใหม่ เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว ผ่าน 4 กลุ่มธุรกิจ
ดร.วิโรจน์ วสุศุทธิกุลกานต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซนต์เมด จำกัด (มหาชน) หรือ SMD ผู้นำธุรกิจจัดจำหน่ายเครื่องมือแพทย์ในประเทศไทย เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานในไตรมาส 2/2565 (เมษายน-มิถุนายน) บริษัทฯ มีรายได้จากการขายและการบริการ จำนวน 690.02 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 109.37% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ทำได้ 329.56 ล้านบาทและมีกำไรสุทธิ 86.72 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 31.40% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ทำได้ 66 ล้านบาท ซึ่งได้รับผลบวกจากความต้องการสินค้าเครื่องมือแพทย์เพิ่มขึ้นมาก โดยเฉพาะชุดตรวจคัดกรองโควิด-19 แบบเร่งด่วน (SARS-CoV-2 Antigen Rapid Test) หรือ ATK ที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จากสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน
ทั้งนี้ บริษัทฯ มีสัดส่วนรายได้จากกลุ่มสินค้าด้านเวชบำบัดวิกฤต คิดเป็นสัดส่วน 14.34% กลุ่มการช่วยหายใจและเวชศาสตร์การนอนหลับคิดเป็นสัดส่วน 9.44% กลุ่มหทัยวิทยาคิดเป็นสัดส่วน 2.73% กลุ่มเครื่องมือแพทย์ทั่วไป คิดเป็นสัดส่วน 73.28% และกลุ่มสมาร์ทฮอสพิทอล คิดเป็นสัดส่วน 0.15% เป็นต้น โดยมีสัดส่วนรายได้จากลูกค้าที่เป็นภาครัฐ 22.16% และลูกค้าภาคเอกชน 77.84%
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SMD กล่าวเพิ่มเติมว่า ผลการดำเนินงานที่เติบโตต่อเนื่อง บริษัทฯ ได้ปรับเพิ่มเป้ารายได้ในปี 2565 จากเดิม 1,800 ล้านบาท เพิ่มเป็นไม่ต่ำกว่า 2,100 ล้านบาท โดยจะมีรายได้ใน Q3/2565 ไม่ต่ำกว่า 450 ล้านบาท พร้อมกันนี้ SMD ได้เดินหน้าต่อยอดธุรกิจเดิมรวมถึงขยายธุรกิจใหม่ เพื่อสร้างการเติบโตแบบสมดุล ยั่งยืน และรุ่งเรืองร่วมกัน ผ่าน 4 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่
1) ธุรกิจจัดจำหน่ายเครื่องมือแพทย์เดิม แต่มีการเพิ่มสินค้าใหม่สำหรับผู้ป่วย Long COVID เช่น เครื่องตรวจสมรรถภาพปอดระดับสูง (Lung Function Test) แบบ Bodystik เครื่องเพิ่มสมรรถภาพการไหลเวียนโลหิต (EECP) และเครื่องผลิตออกซิเจนขนาดเล็กแบบพกพาติดตัว (Portable Medical Oxygen Concentrator) เครื่องบำบัดด้วยออกซิเจนความกดบรรยากาศสูง (Hyperbaric Chamber) เป็นต้น
2) ธุรกิจบริการให้เช่าใช้เครื่องมือแพทย์ (Leasing) รองรับความต้องการของภาครัฐ ในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา SMD ชนะการประมูลเช่าใช้เครื่องมือแพทย์ในโรงพยาบาลรัฐหลายแห่ง จำนวนหลายรายการ
3)ธุรกิจด้านซอฟแวร์ทางการแพทย์พร้อมฮาร์ดแวร์เชื่อมต่อกับระบบ HIS ของโรงพยาบาล (Health Tech) ถือเป็นการนำระบบซอฟแวร์ Telemedicine ต่างๆ มาเชื่อมต่อระหว่างเครื่องมือแพทย์เพื่อไปสู่ Hospital Information System ของโรงพยาบาล รวมถึงการจัดจำหน่ายระบบ Hospital Information System โดยบริษัทฯ ได้รับการแต่งตั้งจากบริษัท อีซีฟาย เทคโนโลยี จำกัด ให้เป็นตัวแทนจำหน่ายแต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย ระบบ EzHMIS เป็นระยะเวลา 3 ปี (ลงนามในสัญญาการเป็นตัวแทนจำหน่าย เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2565)
4)ธุรกิจจำหน่ายเครื่องมือแพทย์สำหรับใช้ดูแลสุขภาพด้วยตัวเองที่บ้าน (SAINTmed 24/7 Selfcare Vending Machine) เพื่อรองรับความต้องการของประชาชน โดยเป็นการขายสินค้าเครื่องมือแพทย์ต่างๆ เช่น เครื่องวัดความดันโลหิตแบบดิจิตอล เครื่องบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจขณะออกกำลังกาย ปรอทวัดไข้ดิจิตอล วิตามิน ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และ ATK เป็นต้น ผ่านช่องทางตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ Vending Machine ซึ่งหน้าจอเป็นระบบทัชสกรีนขนาดใหญ่ จ่ายเงินสะดวกด้วยระบบ QR code บัตรเครดิต เงินสด ธนบัตรทุกชนิด เหรียญทุกประเภท พร้อมมีระบบทอนเงิน ทำให้สะดวกต่อการใช้งาน ซึ่ง SMD ได้เซ็นสัญญาเป็นตัวแทนจำหน่ายแต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทยเป็นเวลา 3 ปี โดยจะติดตั้งตู้ Vending Machine ชนิดใหม่นี้ในโรงพยาบาลต่างๆให้ได้ 60 ตู้ ภายในปี 2565
“SMD อาจแตกต่างจากบริษัทอื่นๆ เราให้ความสำคัญกับ Business Model และ ESG ที่จะส่งเสริมและสนับสนุนการเติบโตแบบสมดุล ยั่งยืน และรุ่งเรืองร่วมกัน อีกทั้งยังมุ่งเน้นการแสวงหาเครื่องมือแพทย์ที่มีประโยชน์ต่อวงการแพทย์ ทำให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาพยาบาลที่สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น รวมไปถึงมีอายุยืนยาวมากขึ้น และ/หรือ มีอัตราการรอดชีวิตมากขึ้นในเครื่องมือแพทย์บางประเภท ดังนั้นสิ่งที่นักลงทุนทุกท่านที่ได้ลงทุนกับหุ้น SMD ไม่ใช่แค่ได้รับผลดีจากเรื่องกำไรหรือผลตอบแทน แต่ยังเป็นเรื่องของประโยชน์ที่ผู้ป่วยจะได้รับตามที่ได้ดังกล่าวมาข้างต้นอีกด้วย” ดร.วิโรจน์ กล่าว