ประกันภัย

ชำแหละกลโกง “ประกันโควิด” สูญ 1.5 หมื่นล้าน คปภ.แฉฮิตฉ้อฉลจัดฉากเคลม “ประกันรถยนต์-สุขภาพ”

แม้ว่าความร้ายกาจของเจ้าไวรัสโควิดจะทุเลาเบาบางอันตรายลง แต่วันนี้ยอดยอดผู้ป่วยก็ยังสูงกว่า 2 พันรายต่อวัน ส่งผลให้ปี 2565 นี้มียอดผู้ป่วยสะสมกว่า 2 ล้านราย และมียอดเคลมสินไหมประกันภัยโควิดพุ่งสูงกว่า 8 พันบาท

หากมองย้อนกลับไปช่วง 2 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2563-2564 จะเห็นว่า ประชาชนพากันทำประกันภัยโควิดจำนวน 19.7 ล้านฉบับ เพื่อคุ้มครองความเสี่ยงจากภัยอุบัติใหม่ บริษัทประกันกวาดเบี้ยรวมไปกว่า 1 หมื่นล้านบาท

แต่ผลจากการแพร่ระบาดของไวรัสอย่างหนักในช่วงที่ผ่านมา ทำให้มียอดเคลมสินไหมประกันภัยโควิดพุ่งจนน่าวิตก ส่งผลให้บริษัทประกันภัยขาดทุนกันถ้วนหน้า บางรายถึงกับต้องเลิกกิจการไปในที่สุด โดยปี 2564 มีตัวเลขการขาดทุนทั้งระบบไปกว่า 8 พันล้านบาท

ถึงตอนนี้มีการประเมินไว้ว่า ภาพรวมยอดเคลมสินไหมประกันโควิดน่าจะทะลุไปถึง 1.5 แสนล้านบาท ถือว่าเป็นตัวเลขที่สูงจนน่าตกใจ แต่ที่ตกใจยิ่งกว่านั่นก็คือ มีกลุ่มคนได้หลอกลวง ฉ้อฉล ประกันโควิดสารพัดวิธี เพื่อหวังประโยชน์จากสินไหมทดแทนคิดเป็นเงินมหาศาลเลยทีเดียว

กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง  และสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) จึงได้จับมือกันป้องปรามการฉ้อฉลประกันภัยโควิด นำไปสู่การจับกุมคนที่กระทำความผิด และเตรียมออกหมายจับด้วย

ล่าสุด คปภ.ได้แจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีกับกลุ่มคนที่ปลอมเอกสารผลการตรวจโควิด เพื่อเรียกร้องผลประโยชน์จากการทำประกันดังกล่าวโดยทุจริต และกลุ่มคนที่หลอกลวงให้คนทั่วไปเข้าทำสัญญาประกันชีวิต แต่ไม่ได้ดำเนินการให้มีการทำสัญญาประกันภัยเกิดขึ้น หรือไม่ดำเนินการรักษาสถานของสัญญาประกันชีวิตดังกล่าว รวมจำนวนทั้งสิ้น 21 ราย โดยเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2565 พนักงานสอบสวน กก.4 ปอศ. ได้ดำเนินการอนุมัติหมายจับผู้ต้องหาทั้ง 21 ราย ต่อศาลอาญา

นอกจากนี้ ยังมีการจับกุมในฐานความผิด “ปลอมและใช้เอกสารปลอม,เรียกร้องผลประโยชน์ตามกรรม์โดยทุจริตหรือแสดงหลักฐานอันเป็นเท็จในการเรียกร้อง” ตาม พ.ร.บ.ประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 และประมวลกฏหมายอาญาผู้ต้องหาจำนวน 11 ราย

และจับกุมในฐานความผิด “โดยทุจริตหลอกหลวงผู้อื่นด้วยการชักชวน ชี้ช่อง หรือจัดการให้ผู้อื่นนั้นทำหรือรักษาสถานะสัญญาประกันชีวิตกับบริษัท  แต่ไม่ดำเนินการให้มีการทำสัญญาเกิดขึ้น หรือไม่ดำเนินการเกี่ยวกับการรักษาสถานะสัญญาประกันชีวิตเดิม และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม” ตาม พ.ร.บ.ประกันชีวิต พ.ศ. 2535 จำนวน 3 ราย

“พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช” ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง กล่าวว่า การจับกุมครั้งนี้ถือว่าเป็นการจับกุมผู้กระทำผิดครั้งใหญ่ที่สุดเกี่ยวกับประกันภัยโควิด โดยเป็นการจับกุมในกลุ่มปลอมและใช้เอกสารปลอม เบื้องต้นได้ดำเนินการจับกุมมาแล้ว 11 ราย วงเงินเอาประกันภัยเฉลี่ย 5 หมื่นบาท และกำลังติดตามจับกุมผู้กระทำผิดที่เหลืออีก จำนวน 7 ราย รวมมูลค่าความเสียหายประมาณ 9  หมื่นบาท มีอัตราโทษจำคุกข้อหาละ 3 ปี

“เครือข่ายการโกงประกันภัยโควิดนิยมใช้วิธีการชักจูงผู้เอาประกันภัยโควิดที่สนใจจะเบิกเคลมสินไหมโควิด โดยใช้ใบตรวจโควิดปลอมให้ไปแสดงผลการติดเชื้อ โดยที่ผู้เอาประกันไม่ได้ไปตรวจโควิดจริง แต่กระบวนการโกงประกันโควิดได้ใช้เอกสารคนอื่นมาปลอมแปลงเปลี่ยนชื่อว่าติดเชื้อโควิด แล้วนำเอกสารไปยื่นเบิกเคลมสินไหมกับบริษัทประกันวินาศภัย เมื่อได้เงินมาแล้วนำมาแบ่งกัน โดยกลุ่มคนที่ชักชวนการโกงประกันโควิดจะได้ 3 หมื่นบาท คนที่เอาประกันภัยโควิดจะได้ 2 หมื่นบาท” พล.ต.ท.จิรภพ กล่าวและว่า

“คนที่ชักจูงให้มีการโกงประกันภัยโควิดจะต้องมีข้อมูลเบื้องต้นว่า ใครมีกรมธรรม์ประกันภัยโควิดบ้าง จึงต้องเป็นคนที่สามารถเข้าถึงข้อมูลนี้ ตอนนี้อยู่ระหว่างสอบสวน และขยายผล รวมถึงการตรวจสอบเส้นทางการเงินจากการแบ่งเงินกัน 3 หมื่นบาท 2 หมื่นบาท ที่ว่านั้นด้วย”

ส่วนการทำผิดของตัวแทนนายหน้าประกันชีวิตมีการจับกุมแล้ว 3 ราย จากที่กระผิดทั้งหมด 5 ราย มูลค่าความเสียหายกว่า 53 ล้านบาท มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปีเช่นเดียวกัน

การฉ้อฉลของกลุ่มนี้มีพฤติการณ์หลอกลวงเก็บเบี้ยประกันไว้ ไม่นำส่งบริษัท โดยที่ผู้นำเอาประกันภัยไม่ทราบเรื่อง ซึ่งทำให้ผู้เอาประกันภัยไม่ได้รับการคุ้มครองตามกรมธรรม์ และเป็นการซ้ำเติมประชาชนในช่วงการแพร่ระบาดโควิดด้วย

“พล.ต.ท.จิรภพ” กล่าวเพิ่มเติมว่า ยังพบวิธีการฉ้อฉลประกันท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศด้วย โดยนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวเมืองไทยจะนิยมแจ้งความลงบันทึกประจำวันว่ากระเป๋าหาย สิ่งของหาย กับทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทั้งที่กระเป๋าและสิ่งของไม่ได้หายจริง เพื่อนำเอกสารไปเคลมสินไหมกับบริษัทประกันวินาศภัย ทำให้ลดค่าใช้จ่าย เหมือนกับมาเที่ยวประเทศไทยฟรีๆ เลย

“เรื่องนี้มองเผินๆ เหมือนไม่มีอะไร แต่เบื้องหลังทำให้เกิดความเสียหายกับประเทศไทยมาก เพราะสถิติการแจ้งสิ่งของหายในประเทศไทยสูงเกินจริง การเคลมประกันภัยสิ่งของหายสูงมาก สูงเกินความเป็นจริง ทำให้ประเทศไทยถูกมองด้านภาพลักษณ์ไม่ดีมีสิ่งของนักท่องเที่ยวหายบ่อย ผลที่ตามมาทำให้เบี้ยประกันภัยนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกที่มาเมืองไทยสูงขึ้นด้วย”

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า เครือข่ายโกงประกันภัยโควิดมีหลากหลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการปลอมเอกสารใบรับรองผลการติดโควิด RT-PCR เพื่อนำไปเคลมสินไหมประกันภัยโควิด นอกจากนี้ ยังมีการพบเอกสาร RT-PCR ปลอมจำนวนมากซึ่งคาดว่าเอกสารดังกล่าวน่าจะเตรียมไว้ยื่นขอเคลมสินไหม ตอนนี้อยู่ระหว่างสอบสวนทางคลินิกและห้องแล็บว่ามีส่วนเกี่ยวข้องเป็นขบวนการหรือไม่

นอกจากนี้ ยังพบพฤติการณ์ของคนมีรายได้ต่ำ แต่ทำกรมธรรม์ประกันโควิดไว้หลายฉบับ บางรายทำได้มากถึง 6-7 ฉบับ แล้วตั้งใจให้ติดโควิดด้วยการนำหน้ากากอนามัยของคนที่ติดโควิดมาสวมใส่ หรือนำยาดมของคนติดโตวิดมาใช้ เป็นต้น

“อดิศร พิพัฒน์วรพงศ์” ผู้ช่วยเลขาธิการสายกฎหมายและคดี คปภ. กล่าวว่า “การฉ้อฉลประกันภัยส่งกระทบภาพต่อรวมทางเศรษฐกิจของประเทศ และกระทบต่อระบบประกันภัยที่ต้องสูญเสียเงินไปกับกลุ่มคนเหล่านี้เป็นจำนวนมาก จากสถิติการฉ้อฉลประกันภัยทั่วโลกพบว่า ตัวเลขการฉ้อฉลมีสัดส่วนประมาณ 10% ของเคลมสินไหมของแต่ละประเทศ ในทางตรงกันข้ามหากไม่มีการฉ้อฉลประกันภัยเกิดขึ้นเลยจะทำให้ทุกคนจ่ายเบี้ยประกันถูกลง และผู้เอาประกันภัยโควิดจะไม่ได้รับผลกระทบจากการพิจารณาค่าสินไหมล่าช้า หรือไม่ได้รับค่าสินไหมจากบริษัทประกันขาดสภาพคล่องด้วย”

ทั้งนี้ หากอ้างอิงสถิติการฉ้อฉลมีสัดส่วนประมาณ 10% ของเคลมสินไหมของแต่ละประเทศ นั่งหมายความว่า ประเทศไทยมีตัวเลขเคลมสินไหมประกันภัยโควิดทะลุไปถึง 1.5 แสนล้านบาท อาจจะส่งผลให้ยอดเงินโกงประกันภัยโควิดสูงถึง 1.5 หมื่นล้านบาท กันเลยทีเดียว

และแนวโน้มมีความเป็นไปได้สูงเมื่อสำนักงาน คปภ. ระบุว่า ตอนนี้อยู่ระหว่างดำเนินการตรวจสอบผู้ต้องสงสัยที่เข้าข่ายพฤติกรรมฉ้อฉลประกันภัยโควิดอีกกว่า 4 พันราย จากฐานข้อมูล 5-6 บริษัทประกันวินาศภัย วงเงินเอาประกันภัย 5 หมื่นบาทถึง 1 แสนบาทต่อราย

โดยผู้ช่วยเลขาธิการสายกฎหมายและคดี คปภ. กล่าวว่า “ตอนนี้สำนักงาน คปภ. กำลังสอบสวนการฉ้อฉลประกันภัยโควิดจำนวน 4 พันราย ซึ่งมีการจ่ายเคลมสินไหมไปแล้ว และต้องยอมรับว่า  เมื่อมีการจ่ายสินไหมกับคนโกงประกันภัยโควิดไปแล้วได้ส่งผลกระทบต่อผู้เอาประกันภัยโควิดที่สุจริต เพราะกระบวนการจ่ายเคลมมีการระมัดระวังมากขึ้น ทำให้ใช้เวลาในการตรวจสอบมากขึ้น ทางสำนักงาน คปภ. จึงต้องเร่งสอบสวนและร่วมมือกับตำรวจสอบสวนกลางให้มีการจับกุมเครือข่ายโกงประกันภัยโควิดในครั้งนี้  เพื่อเป็นการป้องปรามให้ยอดเคลมสินไหมประกันทุกประเภทลดลง”

นอกจากการโกงประกันภัยโควิดที่กล่าวมาแล้ว บริษัทประกันภัยยังได้ส่งข้อมูลพฤติกรรมที่อาจเป็นพฤติกรรมที่เข้าข่ายฉ้อฉลประกันภัยประเภทต่างๆ อีกจำนวน 1 หมื่นราย ให้กับสำนักงาน คปภ. โดยกลุ่มการฉ้อฉลประกันภัยที่พบมากที่สุด ได้แก่ ประกันภัยรถยนต์ และประกันภัยสุขภาพ

“การฉ้อฉลประกันภัยรถยนต์ที่นิยมมากที่สุดคือ การจัดฉากรถชน การเปลี่ยนผู้ขับขี่ ส่วนการฉ้อฉลประกันสุขภาพคือ ผู้เอาประกันไม่ได้ป่วยจริง แต่นอนโรงพยาบาลเพื่อขอเคลมสินไหมชดเชยรายวัน ปัจจุบันถือว่ายังไม่รุนแรงเท่ากับสมัยก่อนที่มีการยื่นเคลมสินไหมขอเงินชดเชยรายวันแต่คนป่วยอยู่ข้างนอก ไม่ได้นอนโรงพยาบาลแต่อย่างใด แต่ตอนนี้ทำแบบเดิมไม่ได้แล้ว ถ้าโรงพยาบาลปล่อยคนไข้ออกไปข้างนอกแล้วมีการออกเอกสารรับรองจะมีโทษถึงจำคุก” ผู้ช่วยเลขาธิการสายกฎหมายและคดี คปภ. กล่าว และว่า

“สมัยก่อนมีการฉ้อโกงประกันภัยอุบัติส่วนบุคคล (พีเอ) ถึงขนาดยอมตัดนิ้ว ทำตัวเองตาบอดก็มีมาแล้ว”

การเปิดปฏิบัติการป้องปรามครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการบังคับใช้กฎหมายทางอาญา ซึ่งมีโทษจำคุก 3 ปี ปรับไม่เกิน 3 แสนบาท และถ้าเป็นตัวแทน หรือนายหน้าประกันกระทำผิดถือว่าหมดอนาคตไปเลย เพราะบทลงโทษไม่ใช่แค่ยึดใบอนุญาตเท่านั้น แต่มีโทษถึง “นอนคุก” เลยทีเดียว

Related Articles

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button