พลังงาน

เครือข่ายวิสาหกิจฯ 30 ชุมชน เคาะแนวทางสร้างรายได้เกษตรกรหนุนปลูก “หญ้าเนเปียร์-ไม้เศรษฐกิจ” ทั่วประเทศ เตรียมยื่น “ลุงป้อม” สนับสนุนโครงการ

เครือข่ายวิสาหกิจฯ 30 ชุมชน มีมติหนุนเกษตรกรปลูก “หญ้าเนเปียร์-ไม้เศรษฐกิจ” ทั่วประเทศ เพื่อสร้างรายได้ 4 ช่องทางแก้ปัญหาความยากจน เผยการปลูกหญ้าเป็นเชื้อเพลิงป้อนโรงไฟฟ้าชุมชน และเลี้ยงสัตว์ พร้อมแปรรูปไม้เศรษฐกิจขาย ทำให้เกิดการจ้างงาน สร้างอาชีพที่มั่นคง เตรียมยื่นหนังสือถึง “ลุงป้อม” สนับสนุนโครงการอย่างต่อเนื่อง

วันนี้ (31 ส.ค.65) ตัวแทนเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนธนาคารต้นไม้กว่า 40 คนจาก 30 วิสาหกิจชุมชน 7 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดอุดรธานี ชุมพร ชัยภูมิ ขอนแก่น ร้อยเอ็ด หนองบัวลำภู และเพชรบุรี ได้ประชุมฯ ณ ศูนย์ประชุมรัชนีแจ่มจรัส สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย เขตดุสิต กรุงเทพฯ เพื่อรับรองแผนพัฒนาวิสาหกิจชุมชน พร้อมกับได้ข้อสรุปแผนแนวทางการพัฒนาวิสาหกิจชุมชน ด้วยการผลักดันโครงการส่งเสริมการปลูกไม้เศรษฐกิจ การนำต้นไม้มาเป็นหลักประกัน การส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากต้นไม้ป่าปลูกแบบครบวงจร ตลอดจนการให้โอกาสเกษตรกรผู้มีรายได้น้อยเข้าถึงที่อยู่อาศัยได้ง่าย สนับสนุนให้มีส่วนร่วมในการสร้างป่าสร้างรายได้จากการแปรรูป และนำไม้สับเป็นเชื้อเพลิงป้อนโรงไฟฟ้า ซึ่งการปลูกป่ายังช่วยลดก๊าซเรือนกระจก พร้อมกับส่งเสริมการปลูกพืชพลังงานเพื่อสนับสนุนโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก (โครงการนำร่อง) และพืชพลังงานสำหรับเลี้ยงสัตว์ด้วย

นายนฤพล วันทูล ผู้จัดการเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนธนาคารต้นไม้

โดยนายนฤพล วันทูล ผู้จัดการเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนธนาคารต้นไม้ เปิดเผยภายว่า ที่ประชุมฯ วันนี้ได้มีมติเห็นชอบแผนบริหารการปลูกไม้เศรษฐกิจเชิงพาณิชย์ พร้อมกับการปลูกพืชพลังงานและพืชอาหารสัตว์ (หญ้าเนเปียร์ ปากช่อง 1) เพื่อส่งเสริมเกษตรกรที่เป็นสมาชิกเครือข่ายวิสาหกิจฯ ให้ปลูกหญ้าเนเปียร์ เป็นการสร้างรายได้จากการนำไปจำหน่ายเป็นเชื้อเพลิงป้อนโรงไฟฟ้าชุมชน หรือนำไปจำหน่ายเป็นอาหารสัตว์ พร้อมกันนี้ยังมีมติการขอรับการสนับสนุน และแนวทางด้านนโยบายที่ชัดเจนจากรัฐบาล เช่น การนำไม้ยืนต้นเป็นหลักประกัน การขายคาร์บอน การส่งเสริมอุตสาหกรรมไม้จากป่าปลูก การเข้าถึงสินเชื่อที่อยู่อาศัยจากการสร้างป่า ตลอดจนการเชื่อมโยงวัตถุดิบเหลือใช้จากภาคการเกษตร วัตถุดิบจากไม้แปรรูป เพื่อสร้างมูลค่าผลิตเป็นเชื้อเพลิงพลังงานทดแทนด้วย ซึ่งหลังจากนี้ทางสมาชิกเครือข่ายฯ จะได้นำแผนไปสู่การปฏิบัติในพื้นที่เกษตรกรที่เป็นสมาชิกทั่วประเทศ

ขณะเดียวกันที่ประชุมฯ เห็นว่า เพื่อให้โครงการฯ สำเร็จลุล่วงไปด้วยดีต้องได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายภาคส่วน ดังนั้น ทางวิสาหกิจธนาคารต้นไม้ จึงเตรียมจะยื่นหนังสือถึงพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รักษาการนายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้สนับสนุนโครงการต่อเนื่อง และขอคำแนะนำในการช่วยเหลือเกษตรกรให้มีรายได้ หลังจากการได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

“มติจากที่ประชุมฯ ครั้งนี้ เป็นการสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรที่เป็นสมาชิกทั่วประเทศ ด้วยการส่งเสริมปลูกหญ้าเนเปียร์ และปลูกไม้เศรษฐกิจ เพื่อก่อให้เกิดรายได้จาก 4 ช่องทางคือ รายได้ช่องทางแรกจากการขายไม้สับ (Wood chip) ที่ได้จากการแปรรูปไม้เศรษฐกิจ ประการต่อมาเป็นรายได้จากหญ้าเนเปียร์สับ และรายได้จากการแปรรูปไม้เศรษฐกิจ ช่องทางสุดท้ายรายได้จากการขายหญ้าเนเปียร์สด สำหรับเป็นเชื้อเพลิงโรงไฟฟ้าชุมชน และเป็นอาหารสัตว์”

นางสังวาลย์ พิมลรัตน์ ประธานคณะกรรมการบริหารเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนธนาคารต้นไม้

ด้านนางสังวาลย์ พิมลรัตน์ ประธานคณะกรรมการบริหารเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนธนาคารต้นไม้ กล่าวเสริมว่า ปัจจุบันเกษตรกรได้รับความเดือดร้อนจากการขาดรายได้ และเป็นหนี้สิน จากผลกระทบการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เมื่อสถานการณ์คลี่คลายแล้วทางเครือข่ายฯ ได้นัดประชุมวางแผนเพื่อหาทางช่วยเหลือเกษตรกร ซึ่งจากการประชุมระดมสมองสมาชิกวิสาหกิจครั้งนี้ ได้ข้อสรุปสนับสนุนเกษตรกรให้ปลูกหญ้าเนเปียร์ และไม้เศรษฐกิจ ซึ่งขั้นตอนต่อไปจะมีการตั้งคณะทำงานแต่ละด้านขึ้นมา อาทิ คณะกรรมการด้านการจัดหาพื้นที่ปลูกหญ้าเนเปียร์ จำนวน 200 ไร่ เพื่อตรวจสอบเอกสารสิทธิ์ให้ถูกต้อง หรือคณะกรรมการเลี้ยงวัว เป็นต้น การส่งเสริมการปลูกไม้เศรษฐกิจ ไม้เนื้อแข็งเพื่อสร้างรายได้ให้เกษตรกรนำไปแปรรูปขาย นอกจากนี้ ยังมีรายได้จากการเก็บเห็ดจากป่า รวมถึงรายได้การคาร์บอนเพื่อลดโลกร้อนด้วย ซึ่งภาครัฐต้องสนับสนุนให้ภาคเกษตรกรเข้าถึงรายได้ในส่วนนี้ด้วย

“เกษตรกรได้มีการร่วมมือกันภายใต้เครือข่ายวิสาหกิจธนาคารต้นไม้ 30 ชุมชน เห็นด้วยกับแนวทางสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรด้วยการปลูกหญ้าเนเปียร์ และปลูกไม้เศรษฐกิจ เพราะสินค้าเกษตรอย่างอ้อยก็ประสบปัญหาราคาตกต่ำ มีต้นทุนปุ๋ยราคาแพง แต่ปลูกหญ้าเนเปียร์สามารถนำหญ้าไปขายเพื่อเลี้ยงวัว หรือป้อนโรงไฟฟ้าชุมชนได้ จากนั้นสามารถนำขี้วัว หรือปุ๋ยที่ได้จากโรงไฟฟ้าชุมชนมาใส่หญ้าเนเปียร์ได้ เป็นการตอบโจทย์การช่วยเหลือซึ่งกันและกันของเกษตรกร จึงอยากให้นายกรัฐมนตรีช่วยส่งเสริมการปลูกหญ้าเนเปียร์ การสนับสนุนการนำไม้ยืนต้นเป็นหลักประกัน การขายคาร์บอน และการเข้าถึงสินเชื่อที่อยู่อาศัยจากการสร้างป่าสำหรับเกษตรกร เพื่อสร้างรายได้อย่างเป็นรูปธรรมเหมือนกับองค์กรต่างๆ ที่สามารถทำได้ในตอนนี้” นางสังวาลย์ กล่าว

ส่วนนายอัจฉริยะ อินทร์ไชยา ประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเลี้ยงสัตว์ อำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี กล่าวว่า วันนี้ปัญหาของเกษตรกรคือ มีรายได้จากสินค้าเกษตรตกต่ำ ไม่ว่าจะเป็นข้าว ทางวิสาหกิจฯ จึงต้องการส่งเสริมอาชีพเกษตรกรให้มีรายได้เสริม จึงเห็นด้วยกับแนวทางการปลูกหญ้าเนเปียร์เพื่อเป็นอาหารสัตว์ เบื้องต้นจะปลูกท่อนพันธุ์ก่อนบนพื้นที่ 2 ไร่ จากนั้นขยายเป็น 20 ไร่ แล้วรวบรวมสมาชิกเกษตรกรนำไปปลูกหญ้าเนเปียร์ 200 ไร่ เพื่อผลิตป้อนให้กับวิสาหกิจชุมชนเลี้ยงวัวนำร่องก่อน จากนั้นค่อยขยายพื้นที่ปลูกเพื่อเป็นเชื้อเพลิงโรงไฟฟ้าชุมชนต่อไป เพื่อเป็นการสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร ทำให้เกิดการจ้างงานในชุมชนด้วย

“ทางวิสาหกิจชุมชนฯ อยากให้ภาครัฐสนับสนุนให้เกิดรายได้ที่มั่นคง ทำให้เกิดอาชีพตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เพื่อให้เป็นอาชีพที่ยั่งยืนต่อไป จึงเป็นโอกาสดีที่เครือข่ายวิสาหกิจฯ ได้ผลักดันเรื่องนี้อย่างจริงจัง โดยเฉพาะรายได้จากการปลูกหญ้าเนเปียร์เพื่อป้อนโรงไฟฟ้าชุมชน” ประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเลี้ยงสัตว์ อำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี กล่าวทิ้งท้าย

Related Articles

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button