คมนาคม

บีทีเอส กรุ๊ปฯ นำร่องติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์บนชั้นดาดฟ้าโรงจอดและศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าสายสีชมพู-สีเหลือง” ดันไทยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ในปี 2608

เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา นายดาเนียล รอสส์ ผู้อำนวยการใหญ่สายการลงทุนและหัวหน้าฝ่ายการพัฒนาเพื่อความยั่งยืน บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด(มหาชน) หรือ บีทีเอส กรุ๊ปฯ เปิดเผยในงาน Asia Pacific Business Forum (APBF) 2022 : Toward an Asia-Pacific Green Deal for Business ว่า บีทีเอส กรุ๊ปฯ มีความมุ่งมั่นในความร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการผลักดันการดำเนินงานเพื่อสิ่งแวดล้อม ตามเจตนารมณ์ที่ประเทศไทยเข้าร่วมความตกลงปารีส (Paris Agreement) ซึ่งเป็นความตกลงตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ในปี 2608

นายดาเนียล กล่าวว่า “ บีทีเอส กรุ๊ปฯ ถือเป็นบริษัทที่ประกอบธุรกิจระบบขนส่งมวลชนทางรางแห่งแรกและแห่งเดียวในโลกที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ โดยตั้งแต่เปิดให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส มีผลการดำเนินงานที่ทำให้เครือข่ายการขนส่งมวลชนของไทยสามารถลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยสามารถหลีกเลี่ยงการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้กว่า 1.9 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า นอกจากนี้ยังมีการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานอย่างต่อเนื่อง และยังคงมุ่งมั่นที่จะจัดหาพลังงานทางเลือกและจัดให้มีการใช้พลังงานจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนอย่างน้อยร้อยละ 10 ของการดำเนินงาน รวมถึงได้มีการศึกษาความเป็นไปได้ในการติดตั้งระบบพลังงานแสงอาทิตย์บนชั้นดาดฟ้า (Solar PV Rooftop) ของโรงจอดและศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสีเหลือง ส่วนในด้านก่อสร้างโครงการทางรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายและโครงการต่าง ๆ ภายใต้บีทีเอส กรุ๊ปฯ นั้น เราให้ความสำคัญต่อการกำหนดนโยบายและการดำเนินงานที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมอย่างสูงสุด อาทิ การลดมลพิษทางอากาศฝุ่นละออง PM2.5 ที่เกิดจากการก่อสร้างและการลดมลภาวะทางเสียงจากการดำเนินงาน เป็นต้น”

ทั้งนี้ นายดาเนียล กล่าวว่า การดำเนินธุรกิจตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน ถือเป็นเรื่องท้าทายเพราะต้องใช้ทั้งต้นทุน และเวลาในการดำเนินงาน ดังนั้นการสร้างความร่วมมือกันจากทุกภาคส่วนถือเป็นเรื่องสำคัญ และภาครัฐเองยังมีความท้าทายในเรื่องการกำหนดกฎระเบียบ และการกำหนดนโยบายที่เกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงการกำหนดกรอบความรับผิดชอบที่มากขึ้นสำหรับผู้ประกอบการ และสิ่งสำคัญที่สุด คือ การได้รับความร่วมมือจากภาคประชาชน ซึ่งต้องมีการรณรงค์ให้ตระหนักถึงความสำคัญของการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และการร่วมลดการปล่อยปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์

นอกจากนี้ นายดาเนียล ยังเสนอมุมมองต่อแนวทางความร่วมมือทั้งในระดับประเทศ และระดับนานาชาติต่อการดำเนินงานด้านความยั่งยืน 4 ด้าน ได้แก่ 1.การสนับสนุนการจัดหา และใช้งานพลังงานทางเลือก (Renewable Energy Supply & Utilisation) ซึ่งควรมีการสนับสนุนนโยบายและกิจกรรมเพื่อส่งเสริมให้มีแหล่งพลังงานทางเลือกและการใช้งานภายในภูมิภาคมากขึ้น 2. การส่งเสริมแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการร่วมรับผิดชอบต่อการลดผลกระทบ หรือการปรับปรุงการดำเนินงานให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น สิทธิประโยชน์เพิ่มเติมสำหรับองค์กรที่มีนโยบายหรือกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม 3. สร้างการแลกเปลี่ยนระหว่างกันทั้งในด้านองค์ความรู้ และด้านเทคโนโลยีสำหรับการพัฒนาการดำเนินงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในระดับภูมิภาค และ 4. สร้างเครือข่ายพันธมิตรเพื่อส่งเสริมความร่วมมือในการพัฒนาการดำเนินงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านความยั่งยืนร่วมกัน

ทั้งนี้ งาน APBF จัดขึ้นทุกปี ตั้งแต่ปี 2547 โดยในปีนี้ APBF 2022 จัดขึ้นในวันที่ 26 สิงหาคม 2565 ณ ESCAP Hall อาคารสหประชาชาติ กรุงเทพฯ และทางออนไลน์ โดยความร่วมมือของ ESCAP Sustainable Business Network (ESBN) หน่วยงานภาครัฐ องค์กรธุรกิจ ภาคประชาสังคม และนักวิชาการจากทั่วภูมิภาค กว่า 300 คน โดยเป็นเวทีที่แสดงถึงความร่วมมือ และการแลกเปลี่ยนมุมมองการบริหารจัดการรวมถึงข้อเสนอแนะที่เป็นแนวคิดเชิงนวัตกรรมเพื่อมุ่งสู่การพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนสำหรับการดำเนินธุรกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกต่อไป

Related Articles

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button