นักศึกษา วพน. รุ่นที่ 16 ร่วมมือกลุ่มประมงระยองขับเคลื่อนนำพลังงานสะอาด
นักศึกษา วพน. รุ่นที่ 16 ร่วมมือกลุ่มประมงระยองขับเคลื่อนนำพลังงานสะอาด ทางเลือกใหม่วิถีประมงไทย
กลุ่มนักศึกษา สถาบันวิทยาการพลังงาน (วพน.) (Thailand Energy Academy – TEA) รุ่นที่ 16 กลุ่มเบญจมาศ ได้ลงพื้นที่เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้และรับฟังปัญหาของชุมชนชาวประมง ปากน้ำกระแส อ.แกลง จ.ระยอง กับแนวคิด “พลังงานสะอาด ทางเลือกใหม่ในวิถีประมงไทย” และการประยุกต์ใช้พลังสะอาดเพื่อให้เกิดผลสัมฤทธ์เชิงประจักษ์ สามารถขยายผลต่อได้ ลดการส่งมลภาวะ และประหยัดค่าใช้จ่ายในด้านเชื้อเพลิง และพลังงานให้แก่กลุ่มชาวประมง
เมื่อวันที่ 4 ก.ย. 2565 นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดการเสวนาระดมความคิดเห็นจากกลุ่มชาวประมง ภาครัฐ ภาคเอกชน และนักวิจัย ในหัวข้อ “พลังงานสะอาด ทางเลือกใหม่ในวิถีประมงไทย” โดยมีทีมนักศึกษา ประกอบด้วย อาจารย์ สันติวิภา พานิชกุล พล.อ.อ ชนัท รัตนอุบล นายยุทธนา เจริญวงศ์ นายกมล คงสกุลวัฒนสุข นายกฤษดา อัครพัทธยากุล นางสิริวิภา สุพรรณธเนศ นางสุเนตร คุณานันทกุล นายชญาน์ จันทวสุ นายจิตชาย มุสิกบุตร นายธนัทเทพ จันทรกานต์ ร่วมรับฟังความเห็นจากกลุ่มชาวประมงพื้นบ้าน พร้อมกับ ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี เขตตรวจราชการที่ 8 นายกเทศมนตรีตำบลปากน้ำประแส ประมงจังหวัดระยอง และ พลังงานจังหวัดระยอง ผู้แทนจากสำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 1 (ระยอง) พร้อมนายกสมาคมชาวประมงปากน้ำประแส ชาวประมงในพื้นที่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้แทนภาคประชาชน ภาคเอกชน และนักวิจัยพลังงานสะอาด เข้าร่วมเสวนา
การเสวนาครั้งนี้มีการนำเสนอแนวทางการส่งเสริมการประยุกต์ใช้พลังงานสะอาดในการประกอบอาชีพประมงและกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง รวมถึงสนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ในพื้นที่ปากน้ำประแส พร้อมทั้งรับฟังความคิดเห็นจากชาวประมงในพื้นที่ และแลกเปลี่ยนข้อมูลกับนักวิจัยและพัฒนาด้านพลังงานสะอาด เพื่อขับเคลื่อนการนำพลังงานสะอาด มาใช้ในภาคการประมง ทดแทนการใช้น้ำมันเพียงอย่างเดียว รวมถึงช่วยลดการปล่อยมลพิษต่างๆ ที่จะเป็นเงื่อนไขในการควบคุมการส่งออกผลิตภัณฑ์ประมงไปยังต่างประเทศในอนาคต การเสวนาเห็นควรเสนอจัดตั้งคณะทำงาน และนำหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมประชุมหารือร่วมกัน โดยจะนำงานวิจัยและนวัตกรรมใหม่ๆ เข้ามาสนับสนุน เพื่อเป็นการลดต้นทุนและลดปัญหามลพิษไปพร้อมกัน โดยมุ่งหวังให้โมเดลนี้เป็นต้นแบบแก่ชุมชนประมงในพื้นที่อื่นๆ ในประเทศต่อไป