“สนธิรัตน์” ฟิตลุยตรวจโรงอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์แบบพาราโบลาโดม
“สนธิรัตน์” ฟิตจัดประเดิมลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโรงอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์แบบพาราโบลาโดม ชมผลผลิตแปรรูปหมู่บ้านหนองเขื่อน ตำบลไร่ใหม่พัฒนา อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ภายใต้โครงการสนับสนุนการลงทุนติดตั้งใช้งานระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์โดย พพ. ซึ่งถือเป็นหนึ่งในกลไกด้านพลังงานที่มีส่วนช่วยสร้างฐานรากให้ชุมชนในการสร้างรายได้
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยในวันนี้ (19 ก.ค. 2562 ) ว่า ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมความก้าวหน้าการดำเนินงาน ในการเข้าไปส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนเพื่อการสร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ผ่านโครงการสนับสนุนการลงทุนติดตั้งใช้งานระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ (พาราโบลาโดม) ปี 2561 ซึ่งดำเนินการโดย กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน หรือ พพ. ที่กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรวัยหวาน หมู่บ้านหนองเขื่อน ตำบลไร่ใหม่พัฒนา อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการที่รับเงินสนับสนุนการสร้างโรงอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์สำหรับผลิต ผลิตภัณฑ์กล้วยตากจากกล้วยหอมทอง ซึ่งเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรที่ได้มาตรฐานด้านสุขอนามัย ซึ่งถือเป็นหนึ่งในการส่งเสริมอาชีพให้กับเกษตรกรในการเพิ่มรายได้อีกทางหนึ่ง
“ทิศทางนโยบายพลังงานให้ความสำคัญกับการทำให้พลังงานเข้ามามีส่วนในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ด้วยการใช้กลไกด้านพลังงานที่มีอยู่พัฒนาสู่ชุมชน ต้องทำให้ชุมชนมีองค์ประกอบของการสร้างรายได้เพื่อดำรงชีวิต หรือไปช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน จะต้องเป็นทิศทางที่พี่น้องประชาชนได้รับประโยชน์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานกล่าวย้ำ
นายยงยุทธ จันทรโรทัย อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กล่าวว่า รูปแบบของการดำเนินการก่อสร้างระบบอบแห้งมาตรฐานแห่งนี้ เป็นแบบ พพ.3 ขนาด 8×20.8 ตารางเมตร บนพื้นที่ในแนวราบ 166.4 ตารางเมตร ซึ่งเป็นไปตามเงื่อนไขการสนับสนุนการติดตั้งไม่เกิน 30% ของเงินลงทุนทั้งหมด หรือ คิดเป็นเงินสนับสนุน 2,430 บาทต่อตารางเมตร รวมเป็นเงิน 404,352 บาท
โครงการสนับสนุนการลงทุนติดตั้งใช้งานระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์
พพ. ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ ปี 2554 จนถึงปัจจุบัน ผ่านการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ในการช่วยเหลือเกษตรกรและวิสาหกิจชุมชน ในการใช้ระบบอบแห้งจากพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อลดการใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงชนิดอื่นๆ เช่น แอลพีจี พลังงานไฟฟ้า เป็นต้น รวมถึงเป็นการยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์สินค้าชุมชนให้มีมาตรฐาน ปลอดสารเคมี เป็นที่ยอมรับของตลาดและผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน
“โครงการนี้ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม เห็นได้จากจำนวนชุมชน และวิสาหกิจชุมชน ที่ขอรับการส่งเสริมสนับสนุนตั้งแต่ปี 2554 -2561 รวมทั้งสิ้น 254 ระบบ หรือ คิดเป็น 30,202.30 ตารางเมตร ใช้วงเงินสนับสนุนรวมทั้งสิ้น 101.6 ล้านบาท ซึ่งนำไปลงทุนก่อสร้างโรงอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์แบบพาราโบลาโดมตามแบบมาตรฐานที่ พพ. กำหนด โดย พพ. ยังมีเป้าหมายที่จะขยายการสนับสนุนผู้ประกอบการทั้งภาครัฐและเอกชน ทั้งขนาดกลางและขนาดย่อมและผู้สนใจติดตั้งใช้งานระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ (พาราโบลาโดม) ต่อเนื่องทุกปีจนถึงปี 2569 รวมพื้นที่ 75,000 ตารางเมตร” นายยงยุทธกล่าว