“ค่าไฟ-เงินบาทอ่อน” ทุบอุตสาหกรรมอ่วม ! หวังแหล่งก๊าซราคาถูกจากพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา ช่วยลดต้นทุนผลิตสินค้าทำให้สู้ประเทศคู่แข่งได้
“เกรียงไกร” ประธานสภาอุตฯ ชี้ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ค่าเงินบาทอ่อน สร้างภาระด้านการเงินเพิ่มขึ้นให้กับภาคอุตสาหกรรม เหตุนำเข้าวัตถุดิบมาผลิตสินค้าเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันภาครัฐต้องจ่ายเงินนำเข้าพลังงานมากขึ้น ทำให้ประชาชนต้องแบกรับภาระค่าพลังงานสูงขึ้น หวังการเจรจาพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา สำเร็จเร็วจะส่งผลดีต่อด้านเศรษฐกิจ และลงทุน ทำให้ต้นทุนค่าไฟผลิตสินค้าถูกลง สามารถแข่งขันกับประเทศคู่แข่งได้
นายเกรียงไกร เธียรนุสุต ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ภาคอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าไฟฟ้ามาอยู่ที่ 4.72 บาทต่อหน่วย จากปัจจัยต้นทุนเชื้อเพลิงในตลาดโลกมีการปรับตัวสูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นราคาน้ำมันดิบ รวมถึงราคาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ที่จะต้องนำเข้ามาเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าก็มีราคาแพงเช่นเดียวกัน แม้ว่าในช่วงนี้สถานการณ์พลังงานโลกจะปรับตัวลดลงแต่เชื่อว่าจะเป็นระยะสั้นเท่านั้น เพราะทางยุโรปกำลังจะเข้าสู่ฤดูหนาวน่าจะทำให้ราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้นอย่างแน่นอน
ล่าสุดปัจจัยเสี่ยงท่อส่งก๊าซนอร์ด สตรีม 1-2 จากรัสเซียมายังยุโรปเกิดเหตุการณ์ระเบิดขึ้น ซึ่งคาดว่าจะเป็นตัวกระตุ้นให้ราคาพลังงานโลกปรับตัวขึ้นสูงมาก บวกกับสถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน จะกลายเป็นความเสี่ยงที่จะทำให้ราคาพลังงานในบ้านเราปรับตัวสูงขึ้น ทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อที่จะเป็นปัญหาใหญ่ตามมา
“ในภาคอุตสาหกรรมเรากังวลเรื่อง ศักยภาพการแข่งขัน โดยเฉพาะค่าพลังงาน ที่ผ่านมาผู้ประกอบการได้ปรับตัวด้วยการลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ทำอย่างไรให้เรา Lean ที่สุด ทำให้มีผลผลิตให้มากที่สุด มีศักยภาพการแข่งขันให้มากที่สุด แต่ที่เรากังวลมากที่สุดคือ ค่าไฟ เพราะมีการปรับขึ้นไปอยู่ที่ 4.72 บาทต่อหน่วย ถือว่าสูงมากเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งที่อยู่ในแถบประเทศเรา และผลิตสินค้าเหมือนๆ กัน เปรียบเทียบง่ายๆ ทันทีที่เราเปิดเครื่องจักร ต้นทุนก็แพงแล้ว สู้เขาไม่ได้แล้ว การแข่งขันจะมีปัญหาทันที” ประธานสภาอุตสาหกรรมฯ กล่าวและว่า
“ส่วนภาคครัวเรือนค่าครองชีพทุกอย่างจะเพิ่มขึ้นตามมา อยากให้กระทรวงพลังงานเข้าไปช่วยดูแล และลดภาระประชาชน เช่น หาแหล่งน้ำมัน หาแหล่งพลังงานที่ถูกลง ทำอย่างไรให้มีมาตรการเสริม ผ่อนผัน สนับสนุนให้ภาคเอกชนใช้พลังงานหมุนเวียน วันนี้ทำอยู่แล้ว แต่ว่ากฎเกณฑ์จะต้องเปิดให้เร็วขึ้น และเพิ่มจำนวนให้มากขึ้น เราคิดว่าพลังงานหมุนเวียน ไม่ว่าไฟฟ้าจะผลิตจากโซลาร์ หรือลม ตอนนี้ราคาถูกลงค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับต้นทุนจากพลังงานทั่วๆไป จึงต้องรีบดำเนินการ”
นายเกรียงไกร มองว่า การหาแหล่งพลังงานแห่งใหม่อย่างการพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา ถือว่าเป็นแหล่งผลิตก๊าซและน้ำมันที่เป็นประโยชน์ด้านเศรษฐกิจ การลงทุนอย่างมากต่อประเทศไทยและกัมพูชา เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ ที่ผ่านมามีการพูดคุยกันมาหลายรัฐบาล แต่ตอนนี้ติดอยู่ในภาคความมั่นคงก็ต้องไปพูดคุยกัน ถ้าเราสามารถเจรจาพัฒนาแหล่งก๊าซในพื้นที่ทับซ้อนได้เร็วเท่าไหร่ก็จะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของประเทศเรามากขึ้นเท่านั้น
“การร่วมมือกันพัฒนาแหล่งก๊าซในพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา จะทำให้ไทยเรามีแหล่งพลังงานอยู่ในแผ่นดินของเรา ทำให้สะดวก และง่ายในด้านการขนส่ง โลจิสติกส์ เพราะเดิมเรามีท่อส่งก๊าซจากอ่าวไทยอยู่แล้ว จะช่วยลดต้นทุนการขนส่งถูกลงในการลำเลียงก๊าซผ่านทางท่อจากหลุมขุดเจาะปิโตรเลียมต่างๆ ไปยังโรงไฟฟ้า เหมือนกับท่อส่งก๊าซนอร์ดสตรีมจากรัสเซียมายังยุโรป ถ้าหากสามารถพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมพื้นที่ทับซ้อนได้จะกลายเป็นแหล่งพลังงานแห่งใหม่ของไทยเราที่มีขนาดใหญ่ และราคาถูกด้วย ซึ่งจะทำให้ต้นทุนค่าไฟผลิตสินค้าของผู้ประกอบการถูกลง ทำให้เราสามารถแข่งขันได้”
ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวด้วยว่า กรณีที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มติเป็นเอกฉันท์ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี จากร้อยละ 0.75 เป็นร้อยละ 1.00 ต่อปี เป็นการปรับขึ้นตามธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ที่มีการปรับขึ้นก่อนหน้านี้ ซึ่งทำให้ค่าเงินบาทอ่อนตัวลง ทำให้ต้องนำเข้าพลังงานในอัตราที่แพงขึ้นผู้ที่ได้รบผลกระทบอย่างหนักคือ ประชาชนต้องรับภาระค่าพลังงานที่สูงขึ้นตามมา ในส่วนภาคอุตสาหกรรมก็จะได้รับผลกระทบจากการนำเข้าวัตถุดิบจะมีราคาสูงขึ้น กลุ่มอุตสาหกรรมผู้ประกอบการที่นำวัตถุดิบมาผลิตเพื่อบริโภคในประเทศจะมีต้นทุนสินค้าที่แพงขึ้น ท้ายที่สุดก็ต้องผลักภาระขึ้นราคาสินค้าให้กับผู้บริโภค
อย่างไรก็ตาม ผลบวกจากค่าเงินบาทอ่อนจะส่งผลดีต่อภาคการส่งออก และภาคการท่องเที่ยว เพราะสามารถส่งออกได้เงินมากขึ้น และนักท่องเที่ยวจะนิยมเดินทางมาท่องเที่ยวประเทศไทยมากขึ้น นอกจากเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมแล้วยังมีราคาถูกด้วย
“เราเริ่มเห็นสัญญาณชัดขึ้นว่า ค่าเงินบาทอ่อนมี 2 กลุ่มได้อานิสงส์คือ ภาคส่งออกและท่องเที่ยว แต่พอมาชั่งน้ำหนักผลประโยชน์โดยรวมปรากฏว่า ขาดทุนจากดุลบัญชีเดินสะพัด หมายความว่า การส่งออกที่ได้ผลดีจากเงินบาทอ่อนค่าลง แต่ตอนนี้การนำเข้ากลับขาดทุน เมื่อเดือนส.ค. ที่ผ่านมา แม้ว่าตัวเลขการส่งออกจะเติบโตถึง 7.5% แต่เมื่อเทียบกับการนำเข้าที่จ่ายเงินเพิ่มขึ้น ทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดเดือนส.ค. ติดลบกว่า 4 พันล้านเหรียญสหรัฐ ภาพรวมถึงตอนนี้เงินดุลบัญชีเดินสะพัดติดลบไปแล้วกว่า 1.4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ และถ้าอัตราค่าเงินบาทอ่อนแบบนี้ต่อไป แต่ยังไม่มีรายได้จากท่องเที่ยวเข้ามาตามเป้าที่วางไว้ ซึ่งเหลือเวลาช่วง 3-4 เดือนของปีนี้เป็นช่วงพีคซีซั่น ถ้ามีนักท่องเที่ยวเพิ่มเข้ามาเท่าตัวจาก 1 ล้านคนต่อเดือน เพิ่มเป็น 2-3 ล้านคนต่อเดือน จะทำให้มีรายได้จากท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น ความต้องการใช้เงินบาทจากนักท่องเที่ยวจะเป็นตัวสร้างเสถียรภาพที่ดีขึ้น” นายเกรียงไกร กล่าวทิ้งท้าย