พลังงาน

มร.เชียงใหม่ ลุยต้นแบบ Smart University ให้ กฟผ. บริหารจัดการพลังงานไฟฟ้าฯ ลดได้ถึง 110 ล้านบาท

มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ร่วมกับ กฟผ. ลงนามสัญญาให้บริการบริหารจัดการพลังงานไฟฟ้า โดยระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนแบบรับประกันผลงาน ในพื้นที่โครงการ Smart Campus ของมหาวิทยาลัย โดยนำระบบบริหารจัดการพลังงานของ กฟผ. มาใช้เพิ่มประสิทธิภาพการใช้ไฟฟ้า ในรูปแบบ Win-Win Solution หวังเป็นต้นแบบขยายผลสู่มหาวิทยาลัยอื่น ๆ และชุมชน ส่งเสริมการประหยัดพลังงาน สามารถลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานได้ถึง 110 ล้านบาท

รองศาสตราจารย์ ดร.ชาตรี มณีโกศล รักษาราชการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ (มร.ชม.) พร้อมด้วยนายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ร่วมลงนามสัญญาให้บริการบริหารจัดการพลังงานไฟฟ้า โดยระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนแบบรับประกันผลงาน ในพื้นที่โครงการ Smart Campus ของ มร.ชม.

รองศาสตราจารย์ ดร.ชาตรี มณีโกศล รักษาราชการแทนอธิการบดี มร.ชม.

รองศาสตราจารย์ ดร.ชาตรี มณีโกศล รักษาราชการแทนอธิการบดี มร.ชม. กล่าวว่า มร.ชม. เป็นมหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น และถือเป็นมหาวิทยาลัยแรกที่ได้ลงนามกับ กฟผ. ซึ่งความสำเร็จของความร่วมมือกันในโครงการนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของการช่วยลดภาวะโลกร้อน ประหยัดพลังงาน และเป็นความรับผิดชอบต่อสังคม โดยหวังให้เป็นโครงการต้นแบบของการเป็น Smart University ในเรื่องการลดใช้พลังงาน และยังสามารถเป็นต้นแบบขยายผลสู่มหาวิทยาลัยแห่งอื่น หรือชุมชนต่อไปในอนาคต โดยจะนำความรู้ความเข้าใจหรือประโยชน์ที่ได้รับไปเผยแพร่ต่อชุมชนผ่านกระบวนการด้านการศึกษา ในขณะเดียวกันก็จะมีการศึกษาวิจัยร่วมกันกับ กฟผ. เพื่อสร้างความก้าวหน้าทางวิทยาการต่าง ๆ ให้สูงขึ้นต่อไป

นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการ กฟผ.

ด้านนายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวว่า โลกของเรากำลังเผชิญภาวะโลกร้อนจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ กฟผ. และ มร.ชม. จึงตั้งใจที่จะร่วมมือกันพัฒนามหาวิทยาลัยสู่โครงการ “Smart Campus- Chiang Mai Rajabhat University” รวมถึงบูรณาการความร่วมมือในการใช้งานวิจัยเทคโนโลยีและนวัตกรรมของทั้ง 2 ฝ่าย ผ่านการใช้ระบบบริหารจัดการพลังงานในพื้นที่ (Energy Management System: EMS) ซึ่งพัฒนาโดย กฟผ. ระบบบริหารจัดการพลังงานในอาคาร ภายใต้ Application ที่ชื่อว่า ENZY Platform และระบบกักเก็บพลังงาน (ENGY Wall) ซึ่งเป็นเครื่องมือหลักในการจัดการพลังงานแสงอาทิตย์ให้เหมาะสมกับความต้องการใช้ไฟฟ้าในอาคาร และลดค่าพลังงานไฟฟ้า นอกจากนั้น ระบบบริหารจัดการพลังงานในพื้นที่ ยังสามารถเชื่อมต่อกับระบบกักเก็บพลังงาน กับระบบเก็บข้อมูลที่มีความสำคัญสูง ทำให้ระบบเก็บข้อมูลมีความมั่นคง สามารถลดค่าใช้จ่ายและเวลาที่เสียไปจากการขาดความต่อเนื่องของพลังงานไฟฟ้า และยังสามารถใช้พลังงานที่สะสมไว้บางส่วนในระบบกักเก็บพลังงานเพื่อสร้างความยืดหยุ่นในการบริหารจัดการพลังงาน และลดค่าพลังงานไฟฟ้าได้ ซึ่ง Platform ที่ กฟผ. จะเตรียมไว้ให้ในพื้นที่ Smart Campus นี้ พร้อมให้ มร.ชม. ได้ศึกษาและต่อยอดงานวิจัยต่าง ๆ เพื่อให้เกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ สร้างประโยชน์ให้กับประเทศชาติด้วย

สำหรับ Smart Campus ของ มร.ชม. ประกอบไปด้วย 2 พื้นที่ ได้แก่ พื้นที่เวียงบัว และพื้นที่ศูนย์แม่ริม โดย กฟผ. มุ่งพัฒนา มร.ชม. ใช้เป็นมหาวิทยาลัยที่ใช้พลังงานสะอาด มีการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ขนาด 1.43 MW ระบบกักเก็บพลังงาน ขนาด 250 kWh ระบบบริหารจัดการพลังงานเพื่อบริหารจัดการการใช้พลังงานในมหาวิทยาลัย มีสถานีอัดประจุไฟฟ้ารถยนต์แบบ Normal Charge และแบบจ่ายพลังงานกลับเข้ามาในระบบไฟฟ้า (V2G) พร้อมทั้งดัดแปลงรถยนต์ขนส่งนักศึกษาที่ใช้น้ำมันในมหาวิทยาลัยให้เป็นรถยนต์ไฟฟ้า ปรับปรุงไฟถนนให้เป็น Smart Street Light เพื่อให้เกิดองค์รวมของ Smart Campus และสนับสนุนแผนนโยบาย Net Zero ของมหาวิทยาลัย โดยสัญญาฯ ฉบับนี้มีอายุสัญญา 15 ปี มีมูลค่าสัญญารวม 117 ล้านบาท หลังจากนั้น กฟผ. จะทำการเปลี่ยนอุปกรณ์ที่ครบกำหนด ทั้งนี้ มร.ชม. จะสามารถประหยัดพลังงานประมาณ 110 ล้านบาท

Related Articles

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button