กระทุ้ง “กระทรวงการต่างประเทศ” เร่งเจรจาพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา รับมือพลังงานโลกขยับขึ้นระลอกใหม่
จับตาทิศทางพลังงานโลกขยับขึ้นสูงระลอกใหม่ จากปัจจัยสงครามยืดเยื้อ การเข้าสู่ฤดูหนาวของทวีปยุโรป และโอเปคพลัสลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบ “พลังงานสากล” ส่องกล้องปี 66 ตลาดก๊าซทั่วโลกยังคงตึงตัว กระทุ้งกระทรวงการต่างประเทศ เร่งเจรจาพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน ลดภาระภาคครัวเรือน และภาคอุตสาหกรรมจ่ายค่าไฟฟ้าแพง
สถานการณ์พลังงานโลกยังน่าห่วงหลังจากสำนักงานพลังงานสากล (ไออีเอ) ระบุว่า “ตลาดก๊าซธรรมชาติทั่วโลกอยู่ในสภาวะตึงตัวนับตั้งแต่ปี 2564 และการบริโภคก๊าซทั่วโลกคาดว่าจะปรับตัวลดลงราว 0.8% ในปีนี้ อันเป็นผลมาจากอุปสงค์ก๊าซในยุโรปที่หดตัวลงเป็นประวัติการณ์ที่ 10% และอุปสงค์ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกอยู่คงที่”
แนวโน้มการบริโภคก๊าซทั่วโลกในปี 2566 คาดว่าจะขยับขึ้น 0.4% หลังการบริโภคก๊าซในยุโรปปรับตัวลดลง 10% ในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564 โดยได้รับแรงหนุนจากการผลิตของภาคอุตสาหกรรมที่ปรับตัวลดลง 15% เนื่องจากราคาพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น
สำหรับปริมาณก๊าซในท่อส่งของรัสเซียไปยังยุโรปในปีนี้ลดลง และยิ่งน้อยลงไปอีกหลังจากการมีการปิดท่อส่งนอร์ดสตรีม 1 ซึ่งลำเลียงก๊าซจากรัสเซียไปยังเยอรมนีเมื่อต้นเดือนกันยายน และได้เกิดเหตุก๊าซรั่วไหลจากท่อนอร์ดสตรีม 1 และ 2 เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา
จากทิศทางราคาก๊าซในตลาดโลกยังมีทิศทางขาขึ้นในปี 2566 คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อแนวโน้มอัตราค่าไฟฟ้าที่จะทรงตัวอยู่ในระดับสูงต่อไป เนื่องจากจากราคาเชื้อเพลิงหลักอย่างก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ LNG ที่ไทยจะต้องนำเข้าถึง 20% มีราคาสูงขึ้น
และหากราคา LNG ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าขยับขึ้นไปอีกอาจจะได้เห็นค่าไฟปรับขึ้นไปอยู่ที่ 5-6 บาทต่อหน่วย และยังมีค่า FT ค้างท่อที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รับภาระไว้เป็นเงินกว่า 8 พันล้านบาท
เช่นเดียวกับราคาน้ำมันในตลาดโลกมีทิศทางจะปรับขึ้น อันผลมาจากกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันดิบ หรือโอเปกพลัส (OPEC+) ได้ปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบ 2 ล้านบาร์เรล/วัน ในเดือนพฤศจิกายน นี้ ซึ่งเมื่อรวมกับการปรับลดกำลังการผลิตเพิ่มเติมโดยสมัครใจของชาติสมาชิก ทำให้เป็นการปรับลดกำลังการผลิตครั้งใหญ่ที่สุดของโอเปกพลัสนับตั้งแต่ปี 2563
รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ประธานกรรมการบริษัท บีบีไอจี ไบโอเอทานอล จำกัด มองว่า “ราคาน้ำมันดิบอาจกลับมาทะลุระดับกว่า 100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล จากการลดกำลังการผลิตของกลุ่มเอเปคพลัส รัฐบาลควรเดินตามแผนยุทธศาสตร์ ความมั่นคงทางด้านพลังงานที่วางไว้ โดยสร้างการพึ่งพาตัวเองด้านพลังงานให้มากที่สุด ด้วยการเร่งเจรจาพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา เพื่อเตรียมรับมือราคาพลังงานสูงระลอกใหม่”
และนับเป็นข่าวดีที่การพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา มีความคืบหน้าไปอีกก้าว เมื่อคณะรัฐมนตรีได้มีมติฟื้นคณะกรรมการเฉพาะกิจในการทำงานเพื่อขับเคลื่อนทางการเพื่อพัฒนาแหล่งพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา (Overlapping Claims Area : OCA) และอยู่ระหว่างกระทรวงการต่างประเทศจะเป็นผู้เจรจาหารือกับทางรัฐบาลกัมพูชา เพื่อนำก๊าซธรรมชาติในพื้นที่ทับซ้อนขึ้นมาใช้ให้ได้ภายใน 10 ปีนับจากนี้ ขณะนี้หลายฝ่ายได้ออกมาสนับสนุนให้รัฐบาลเร่งหารือกับรัฐบาลกัมพูชาเพื่อพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมแห่งใหม่ เพื่อลดภาระราคาพลังงานให้กับคนไทย
โดยนายเกรียงไกร เธียรนุสุต ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้แสดงความกังกลราคาพลังงานที่สูงขึ้นจากสงครามยูเครน-รัสเซีย และใกล้เข้าสู่หน้าหนาวของทวีปยุโรป จะส่งผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าภาคครัวเรือน และภาคอุตสาหกรรม ถ้าหากฝ่ายความมั่นคงมีการเจรจาเพื่อพัฒนาแหล่งก๊าซในพื้นที่ทับซ้อนได้เร็วจะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของประเทศ และจะกลายเป็นแหล่งพลังงานแห่งใหม่ที่มีขนาดใหญ่ และราคาถูก ทำให้คนไทยมีไฟฟ้าใช้ในราคาที่ถูกลง และต้นทุนค่าไฟฟ้าผลิตสินค้าของผู้ประกอบการจะถูกลง ทำให้เราสามารถแข่งขันกับประเทศคู่แข่งได้
ด้านนายสารัชถ์ รัตนาวะดี ประธานกรรมการเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กัลฟ์ เอ็นเจอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ได้แสดงความเห็นด้วยว่า “รัฐบาลควรจะเร่งเจรจาแหล่งปิโตรเลียมพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา ร่วมกับทางรัฐบาลกัมพูชาให้เร็วที่สุด เพื่อทั้งสองประเทศจะได้ใช้ประโยชน์จากปิโตรเลียม หรือก๊าซ ที่มีอยู่ร่วม และเชื่อว่าหากพัฒนาขึ้นมาได้ราคาก๊าซจะไม่แพงกว่าราคา LNG ซึ่งจะช่วยให้ค่าไฟฟ้าในระยะยาวปรับตัวลดลงได้”
ก่อนหน้านี้ ผศ.ดร.รักไทย บูรพ์ภาค อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ผู้เชี่ยวชาญด้านปิโตรเลียม และเคยมีส่วนร่วมในการปฏิรูปพลังงานประเทศไทย ก็ได้เรียกร้องให้รัฐบาลไทยเร่งเจรจากับรัฐบาลกัมพูชาเพื่อพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา ลักษณะเดียวกับความร่วมมือ JDA ไทย-มาเลเซีย ซึ่งแหล่งปิโตรเลียมในพื้นที่ทับซ้อนกัมพูชาถือว่ามีศักยภาพสูงมาก และเป็นก๊าซธรรมชาติที่มีคุณภาพสูงเหมือนกับแหล่งที่อ่าวไทย ซึ่งจากการศึกษาของบริษัทเอกชนพบว่า ตั้งแต่บล็อกที่ 10-14 เป็นพื้นที่มีศักยภาพสูงมาก บริเวณพื้นที่ทับซ้อนทั้งหมด 150,000 ตารางกิโลเมตร ฝั่งไทยจะมีก๊าซธรรมชาติมากสุด ส่วนฝั่งกัมพูชาจะมีน้ำมันมากสุด คาดว่าจะสามารถสร้างรายได้นำมาแบ่งกันมากกว่า 5 แสนล้านบาท
“ตอนนี้ภาครัฐรับภาระค่า FT อยู่จากที่จะต้องจ่ายกันที่ 5-6 บาทต่อหน่วย ทำให้ลดลงเหลือ 4.72 บาทต่อหน่วย แต่ในอีก 3 ปีข้างหน้าถ้ารัฐบาลไม่หาแหล่งก๊าซแห่งใหม่ที่มีราคาถูกเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า คาดว่าค่าไฟจะปรับขึ้นไปอยู่ที่ 8-9 บาทต่อหน่วย” ผล.ดร. รักไทย กล่าว
นับถอยหลังรับมือราคาพลังงานโลกปรับขึ้นระลอกใหม่ คนไทยหวังลึกๆ ว่า การพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา จะเป็นกุญแจความสำเร็จทำให้คนไทยได้ใช้ไฟฟ้าราคาถูก ฝากความหวังไว้กับทางกระทรวงการต่างประเทศ ให้เร่งเจรจากับรัฐบาลกัมพูชา เพื่อจะได้มีแหล่งก๊าซฯ แห่งใหม่ สร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศไทยอย่างยั่งยืน