บจธ.โชว์แก้ปัญหาการกระจายถือครองที่ดิน
บจธ. เร่งเดินหน้าโครงการธนาคารที่ดิน พร้อมผลักดันโครงการกระจายการถือครองที่ดิน ใน 4 รูปแบบ (โมเดล) ประชาชนได้รับประโยชน์กว่า 500 ครัวเรือน เผยเกษตรกรและผู้ยากไร้มีที่ดินทำกิน พร้อมทั้งแก้ไขปัญหาการสูญเสียสิทธิ์ในที่ดินของเกษตรกรและผู้ยากจน อันเนื่องมาจากการนำที่ดินไปจำนองกับสถาบันการเงิน หรือขายฝากกับนายทุนจนหลุดจำนอง หรือขายฝากเจ้าหนี้และถูกยึดไป คาดสามารถจัดตั้งธนาคารที่ดินได้สำเร็จใน 3 ปี
นายขจรศักดิ์ เจียรธนากุล ผู้อำนวยการสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) หรือ บจธ. กล่าวถึงความคืบหน้าในการจัดตั้งธนาคารที่ดิน และการจัดทำโครงการกระจายการถือครองที่ดิน ซึ่ง บจธ. ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องในหลายพื้นที่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทยว่า ได้มีการดำเนินงานใน 4 โครงการ ได้แก่ 1.โครงการนำร่องธนาคารที่ดินในพื้นที่นำร่อง 5 ชุมชน ครอบคลุมพื้นที่ใน 2 จังหวัดคือ เชียงใหม่และลำพูน 2.โครงการบริหารจัดการที่ดินแบบครบวงจร 3.โครงการแก้ไขปัญหาการสูญเสียสิทธิ์ในที่ดินของเกษตรกรและผู้ยากจน และ 4.โครงการช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาด้านที่ดินจากการดำเนินนโยบายของรัฐ
“เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ครม. มีมติต่ออายุให้ บจธ. ออกไปอีก 3 ปี โดยจะมีการประเมินผลงานปีต่อปีใน 2 เรื่องคือ ความสัมฤทธิ์ผลของงาน และไม่เป็นภาระงบประมาณ ซึ่งหากไม่ผ่านในปีแรกก็ยุติเลย แต่หากทำงานได้ตามแผนที่วางไว้ ใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่าก็ต่อไปอีกคราวละ 1 ปี แต่ภายใน 3 ปีนี้ เราจะต้องตั้งธนาคารที่ดินให้เห็นเป็นรูปธรรมให้ได้ ต้องเห็นรูปแบบของธนาคารที่ดินอย่างชัดเจน ขณะเดียวกันก็จะต้องหาโมเดลหรือรูปแบบการกระจายการถือครองที่ดินควบคู่กันไปด้วย เพราะหลังจากที่มีการจัดตั้งเป็นธนาคารที่ดินสำเร็จแล้ว จะมีการนำรูปแบบหรือโมเดลนี้ไปใช้ดำเนินการกับธนาคารที่ดินด้วย และเมื่อจัดตั้งธนาคารที่ดินได้สำเร็จ บจธ. ก็จะยุติบทบาทลงทันที และโอนถ่ายภาระหน้าที่ไปให้ธนาคารที่ดินดำเนินการแทน”
ผอ.บจธ. ยังชี้แจงต่อว่า ที่ผ่านมาในโครงการแรกนั้น บจธ. สามารถช่วยเหลือชาวบ้านที่ประสบปัญหาที่ดินได้จำนวน 488 ครัวเรือน (จากจำนวนทั้งสิ้น 499 ครัวเรือน) โดยดำเนินการเสร็จสิ้นไปแล้วใน 4 ชุมชน เหลืออีก 1 ชุมชนใน อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ ที่ยังมีความล่าช้าในกระบวนการดำเนินการ เนื่องจากติดปัญหาราคาที่ดินที่เพิ่มสูงขึ้น และบางส่วนเป็นที่ดินที่มีเลขโฉนดซ้ำกับกรมป่าไม้ หรือเป็นที่ดินบริจาคให้แก่สถาบันศึกษา ส่วนโครงการที่สองเป็นโครงการบริหารจัดการที่ดินแบบครบวงจรที่เกษตรกรมีการรวมกลุ่มในรูปแบบของสถาบันเกษตรกร โดย บจธ. ได้เข้าไปช่วยเหลือดูแลในทุกขั้นตอน เพื่อให้มีการกระจายการถือครองที่ดินให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืนตลอดไป นอกจากนี้ยังมีการดำเนินการส่งเสริมอาชีพโดยร่วมกับ 15 หน่วยงาน ทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งได้ดำเนินโครงการไปแล้วจำนวน 4 แห่ง ได้แก่ ชุมชนใน อ.พิมาย จ.นครราชสีมา ชุมชนน้ำแดงพัฒนา อ.ชัยบุรี จ.สุราษฎร์ธานี ชุมชนใน ต.แม่กก อ.เมือง จ.เชียงราย และชุมชนใน จ.นครศรีธรรมราช มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการประมาณ 150 ครัวเรือน วงเงินประมาณ 120 ล้านบาท
“เป้าหมายของเราก็คือ ต้องการให้ชาวบ้านหรือเกษตรกรถือครองที่ดินทำกินไว้ให้นานที่สุด ไม่กลับไปสู่มือนายทุน อันนี้คือปรัชญาในการทำงานขององค์กรของเรา ตอนนี้ทุกโครงการอยู่ระหว่างการดำเนินงานอย่างพิมายก็อยู่ในขั้นตอนการจัดซื้อที่ดินประมาณ 200 ไร่ที่เราทำไปจะมี 2 รูปแบบ คือกระจายการถือครองที่ดินแบบโฉนดรวม และจัดสรรให้รายปัจเจกเมื่อชำระค่าเช่าซื้อเสร็จสิ้น ส่วนจะได้คนละกี่ไร่ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของกลุ่มเกษตรและความสามารถในการผ่อนส่งของเกษตรกร”
ในขณะที่ผลการดำเนินโครงการที่สาม ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาการสูญเสียสิทธิ์ในที่ดินของเกษตรกรและผู้ยากจนนั้น เป็นโครงการที่ดำเนินการต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2559-2560 ซึ่งปัญหาที่พบมากที่สุดคือ เกิดจากเกษตรกรกู้ยืมเงินจาก บจธ. ไปไถ่ถอนที่ดินเพื่อทำกินแล้ว ก็มักจะไปเป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้ของคนอื่นด้วย เมื่อลูกหนี้ที่ตัวเองไปค้ำประกันชำระหนี้ไม่ได้ เจ้าหนี้ก็จะมาบังคับคดีกับที่ดินที่จำนองไว้กับ บจธ. ทำให้ บจธ. ต้องเปลี่ยนวิธีใหม่ โดยจะไปซื้อที่ดินดังกล่าวมา แล้วนำมาให้เจ้าของเดิมเช่าซื้อในระยะเวลา 30 ปี ซึ่งวิธีการนี้มั่นใจได้ว่าเกษตรกรจะยังมีที่ทำกิน แม้เกษตรกรจะมีภาระหนี้สินล้นพ้นตัว ส่วนโครงการช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาด้านที่ดินจากการดำเนินนโยบายของรัฐนั้น บจธ.จะเข้าไปดูแลแก้ปัญหาด้วยการจัดหาที่ดินแห่งใหม่ให้ ปัจจุบันมีการทำโครงการอยู่ที่ ต.เขาดิน อ.บางปะกงจ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นพื้นที่ EEC เกษตรกรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ มีความต้องการพื้นที่ใช้สอยเฉลี่ยรายละประมาณครึ่งไร่ ซึ่ง บจธ. ได้ร่วมกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) อยู่ระหว่างการดำเนินการแก้ปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัยใหม่ให้แก่คนกลุ่มนี้