พลังงาน

ผ่าแผนกลุ่ม ปตท. “ฟอกเขียว” หรือ “เอาจริง” ลดคาร์บอนไดออกไซด์ 45 ล้านตัน มุ่งสู่ “เน็ตซีโร่” ในปี 2050

ผ่าแผนกลุ่ม ปตท. ลดคาร์บอนไดออกไซด์ 45 ล้านตัน มุ่งสู่ “เน็ตซีโร่” ในปี 2050 เดินหน้าลงทุนพลังงานทดแทน 1.2 หมื่นเมกะวัตต์ในปี 2030 พร้อมปลูกป่าเพิ่ม 1 ล้านไร่ ยกเลิกลงทุนถ่านหิน และโรงแยกก๊าซหน่วยที่ 1  ฟังชัดๆ “อรรถพล” ซีอีโอ ปตท. ฟันธงงานนี้ “ฟอกเขียว” หรือ “เอาจริง”

ปัจจุบันทั่วโลกมีการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สร้างภาวะโลกร้อนอยู่ที่ 36,300 ล้านตันต่อปี ประเทศไทยเรามีตัวเลขการปล่อยมลพิษดังกล่าวอยู่ที่ 217 ล้านตันต่อปี หรือคิดเป็น 0.7%  จึงได้ร่วมประกาศเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (carbon neutrality) ภายในปี 2050 และจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (net zero greenhouse gas emission) ภายในปี 2065 เพื่อลดการปลดปล่อยคาร์บอนแก้ปัญหาสภาวะโลกร้อน ตามข้อตกลงในเวทีการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (COP26)  

 เช่นเดียวกับองค์กรขนาดใหญ่หลายแห่งของประเทศ รวมถึงกลุ่ม ปตท. ได้ออกมาประกาศเจตนารมณ์ในการมุ่งลดก๊าซเรือนกระจกเช่นเดียวกัน โดยนายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท. เปิดเผยว่า ปัจจุบันกลุ่ม ปตท. ทำธุรกิจพลังงานมีการปล่อยคาร์บอนจากการทำธุรกิจอยู่ที่ 45 ล้านตันต่อปี หรือ คิดเป็น 18% จากคาร์บอนทั้งหมดของประเทศ 217 ล้านตันต่อปี เฉพาะบริษัท ปตท. มีการปล่อยคาร์บอนอยู่ราว 11.66 ล้านตันต่อปี จึงได้ตั้งเป้าหมายระยะสั้นถึงระยะยาว มุ่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง  15%  ภายในปี 2030 เพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน  ภายในปี 2040 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2050 ซึ่งเร็วกว่าเป้าหมายของประเทศ โดยมีกลยุทธ์ ตัวชี้วัด และแผนปฏิบัติการรองรับ พร้อมผนึกความร่วมมือจุดแข็งธุรกิจ กลุ่ม ปตท. โดยการจัดตั้งคณะทำงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์กลุ่ม ปตท.  (PTT Group Net Zero Task Force หรือ G-NET) เพื่อกำหนดกลยุทธ์เชิงรุก มุ่งบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 

ทั้งนี้ กลุ่ม ปตท. ได้แบ่งกลุ่มบริษัทเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์เป้าหมายปี 2050 ได้แก่ ปตท., ปตท.สผ., จีซี และโออาร์ ส่วนเป้าหมายปี 2060 ได้แก่ ไทยออยล์, ไออาร์พีซี และจีพีเอสซี

นายอรรถพล กล่าวว่า  ปตท. มีแผนการดำเนินการเพื่อนำไปสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่สอดคล้องกับบริบทของการดำเนินธุรกิจ ใน 3 แนวทางหลัก (3P) ได้แก่ 1. Pursuit of Lower Emissions การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการให้ได้สูงสุด ผ่านโครงการสำคัญ เช่น การดักจับและกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture and Storage : CCS) เป็นโครงการนำร่องในพื้นที่แหล่งปิโตรเลียมอาทิตย์กลางอ่าวไทย จำนวน 1 ล้านตัน และพื้นที่บนฝั่งในภาคตะวันออกภายใต้ความร่วมมือ PTT Group CCS Hub Model ที่ระดมเทคโนโลยีของ กลุ่ม ปตท. เพื่อบริหารการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกร่วมกัน การนำคาร์บอนไดออกไซด์ไปใช้ประโยชน์สูงสุด (Carbon Capture and Utilization : CCU) ต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อลดการปลดปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศ การปรับปรุงกระบวนการผลิต และเทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในโรงแยกก๊าซธรรมชาติ การส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนในกระบวนการผลิต รวมถึงการผลักดันการใช้พลังงานจากไฮโดรเจน เป็นต้นโดยวิธีการเหล่านี้จะสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้สูงถึง 30% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด  

 2.Portfolio Transformation การเพิ่มสัดส่วนการลงทุนโดยมุ่งธุรกิจพลังงานสะอาด และการเติบโตในธุรกิจใหม่ที่ไกลกว่าพลังงาน ซึ่งสอดคล้องตามการปรับเปลี่ยนวิสัยทัศน์ โดยกำหนดสัดส่วนเป้าหมายระยะยาว 10 ปี  32% ของงบประมาณการลงทุน การรุกปรับสัดส่วนการลงทุนจะเป็นกลไกสำคัญลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากถึง 50% 

โดย ปตท. มีเป้าหมายลงทุนพลังงานทดแทนระยะยาว ภายในปี 2030 ให้ได้จำนวน 1.2 หมื่นเมกะวัตต์ จากตอนนี้มีอยู่ประมาณ 2 พันเมกะวัตต์ จากการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ และจะเพิ่มขึ้นเป็นจำนวน 7 พันเมกะวัตต์ ในปี 2026

“ปตท.จะเป็นผู้นำในการศึกษาพลังงานไฮโดรเจน ที่เป็นพลังงานสะอาดสามารถนำมาใช้ได้จริงในเชิงพาณิชย์ ทำให้สามารถลดตัวคาร์บอนออกไปสู่ชั้นบรรยากาศได้เยอะมาก เราจะยกเลิกการลงทุนถ่านหิน และปิดโรงแยกก๊าซหน่วยที่ 1 หลังจากก่อสร้างโรงแยกก๊าซหน่วยที่ 7 ซึ่งเป็นโรงแยกก๊าซที่ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุดแล้วเสร็จ และมีการใช้พลังงานจาก LNG ด้วย”

3.Partnership with Nature and Society เป็นการเพิ่มพื้นที่ปลูกป่า 1 ล้านไร่ เพื่อเพิ่มปริมาณการดูดซับก๊าซเรือนกระจกจากชั้นบรรยากาศด้วยวิธีทางธรรมชาติ โดยประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆซึ่งจะสามารถดูดซับก๊าซเรือนกระจกได้ อย่างน้อย  20% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวมของ ปตท. 

ก่อนหน้านี้ตั้งแต่ปี 2537 เป็นต้นมา ปตท. ได้อาสาฟื้นฟูป่าเสื่อมโทรมทั่วประเทศไปแล้วกว่า 1.1 ล้านไร่ ปัจจุบันพื้นที่ป่าเหล่านี้ยังคงมีสภาพป่าสมบูรณ์กว่า 80% สามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 2.14 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี  หรือเปรียบเทียบการชดเชยการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากรถยนต์ส่วนบุคคลเฉลี่ยปีละ 4.6 แสนคัน และปลดปล่อยออกซิเจนได้กว่า 1.55 ล้านตันออกซิเจนต่อปี อีกทั้งสร้างประโยชน์ด้านเศรษฐกิจของชุมชนได้มากถึง 280 ล้านบาทต่อปี การดำเนินการภาคป่าไม้จึงเป็นอีกวิธีสำคัญ โดยกลุ่ม ปตท. มุ่งปลูกป่าเพิ่มเติม รวม 2 ล้านไร่ ภายในปี 2030 แบ่งเป็นการดำเนินการโดย ปตท. 1 ล้านไร่ และความร่วมมือบริษัทในกลุ่ม ปตท. อีก 1 ล้านไร่ ร่วมกับการใช้เทคโนโลยีสำรวจการเติบโตและวิเคราะห์ข้อมูลการดูดซับก๊าซเรือนกระจกอย่างมีประสิทธิภาพ โดยในอนาคตพื้นที่ป่าเหล่านี้จะมีศักยภาพช่วยดูดซับก๊าซเรือนกระจกได้รวมกว่า 4.15 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี และยังสร้างคุณค่าด้านสิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจชุมชน นำมาซึ่งคุณภาพชีวิตที่ดีของคนไทยได้อย่างต่อเนื่องอีกด้วย 

“ปตท. ได้ประสานงานกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ให้เป็นผู้คำนวณเรื่องคาร์บอนฟรุตพริ้น ซึ่งได้เห็นชอบในหลักการให้นำเอาป่าที่เคยปลูกมาแล้ว 1.1 ล้านไร่ มาคำนวณลดคาร์บอนได้ด้วย”

นายอรรถพล กล่าวยืนยันว่า การดำเนินการตามกลยุทธ์ของกลุ่ม ปตท. เพื่อเดินหน้าไปสู่การลดคาร์บอนนั้น ไม่ได้เป็นการ “ฟอกเขียว” (วิธีการสร้างภาพลักษณ์ของบริษัทที่ดำเนินธุรกิจเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แต่ไม่ได้ลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง)  แต่อย่างใด เพราะมีกลยุทธ์การลดคาร์บอนเพื่อนำไปสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์นั่นคือ การปลูกป่า 1 ล้านไร่ ซึ่งไม่ใช่การฟอกเขียวอย่างแน่นอน

“มันต่างกันนะ ศัพท์ที่ว่าฟอกเขียว สมมติมีการออกโปรดักซ์อย่างหนึ่ง แล้วมีการทำเป็นลดคาร์บอนได้นิดเดียว โลกไม่ได้อะไรเลย แล้วหยิบมาโฆษณา นั่นคือการฟอกเขียว  แต่ ปตท.ทำอย่างแรกเราใช้หลักวิชาการเข้าไปจับว่า ได้ผลจริง มีการออกแถลงการณ์เพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติ อย่างเช่น หยุดดำเนินการโรงแยกก๊าซหน่วยที่ 1 แล้วดำเนินการโรงแยกก๊าซโรงหน่วยที่ 7 ที่มีเทคโนโลยีที่ทันสมัย มันเกิดการดำเนินงานจริงๆ มันไม่น่าใช่ฟอกเขียวหรอก มันวัดได้หมด ในกลุ่มปตท. สุดท้ายถ้าเราทำตามกลยุทธ์ทั้ง 3P  เราไม่ได้ปล่อยมลพิษออกมา  มันก็คือเน็ตซีโร่”

Related Articles

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button