“ไบเออร์ไทย” เปิดศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้านการเกษตร “สุพรรณบุรี” แหล่งเรียนรู้นวัตกรรมและเกษตรอัจฉริยะก้าวสู่การเกษตรยุคใหม่
วันนี้ (28 ตุลาคม 2565) บริษัท ไบเออร์ไทย จำกัด เปิดศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้านการเกษตร (Bayer Agri-Solution Research Center) อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี มีเป้าหมายเพื่อนำนวัตกรรมด้านการเกษตรและเกษตรอัจฉริยะ (Digital Farming) พร้อมเป็นแหล่งถ่ายทอดองค์ความรู้สู่เกษตรกรไทย โดยมีนายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในพิธีเปิดศูนย์ฯ อย่างเป็นทางการ พร้อมด้วยแขกผู้มีเกียรติจากสถานทูตเยอรมันประจำประเทศไทย และผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวในพิธีเปิดศูนย์ฯ ว่าการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคดิจิทัล ทำให้มีการนำเทคโนโลยีใหม่เข้ามาใช้ในการทำเกษตรมากขึ้น และกลายเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และความมั่นคงของผลผลิต ดังนั้นการเปลี่ยนจากการทำเกษตรดั้งเดิมมาเป็นเกษตรยุคใหม่ที่นำเทคโนโลยีมาใช้จึงมีความสำคัญมากขึ้นตามลำดับ เกษตรกรยุคใหม่จึงต้องรู้จักนำเทคโนโลยีมาใช้อย่างเหมาะสม เอื้อต่อการใช้ทรัพยากรต่างๆ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งเมล็ดพันธุ์ ดิน น้ำ ปุ๋ย รวมถึงลดการใช้แรงงานคน ซึ่งนับวันแรงงานในภาคเกษตรจะหายากมากขึ้น ซึ่งแนวทางนี้เท่านั้นที่จะทำให้เกษตรกรอยู่รอดอย่างยั่งยืน พร้อมสร้างความมั่นคงทางอาหารให้คนไทย
ปัจจุบันกระทรวงเกษตรฯ ได้ออกกฎหมายที่เอื้อต่อการวิจัยและพัฒนาในประเทศไทย ซึ่งเปิดโอกาสและกระตุ้นให้เกิดการศึกษาวิจัยเพื่อให้สอดรับกับความต้องการของเกษตรกรไทย อย่างไรก็ตามการเติมเต็มความรู้ให้เกษตรกรตามทันเทคโนโลยี และนำมาใช้อย่างเข้าใจเป็นหัวใจสำคัญ ซึ่งศูนย์วิจัยต่างๆ สามารถเข้ามาสนับสนุนภารกิจนี้ได้อย่างดี
ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้านการเกษตรไบเออร์ ที่อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี มุ่งเน้นงานวิจัยเพื่อพัฒนานวัตกรรมด้านการเกษตรครอบคลุมข้าว ข้าวโพด รวมถึงผักชนิดต่างๆ ศูนย์ฯ ได้พัฒนาและส่งมอบคำแนะนำแบบบูรณาการโดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยเกี่ยวกับการดูแลพืชผล และการจัดการศัตรูพืช และ Artificial
‘ไบเออร์’ เปิดศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้านการเกษตร สุพรรณบุรียกระดับเกษตรกรไทย เข้าถึงนวัตกรรมด้าการเกษตรIntelligence (AI) (เอไอ ดิจิทัลสมองกล) เพื่อการวินิจฉัย และการทำการเกษตรแบบอัจฉริยะ ทั้งนี้ ศูนย์ฯ แห่งนี้จะเป็นแหล่งแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างเกษตรกร หน่วยงานของรัฐ และภาคเอกชน และเป็นแห่งที่ 2 ในภูมิภาคเอเชีย (แห่งแรกตั้งอยู่ที่ประเทศฟิลิปปินส์) เป็นอีกส่วนหนึ่งที่จะเข้ามาช่วยสนับสนุนภาครัฐในการศึกษาเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่เปิดโอกาสให้เกษตรกรได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้ในการทำเกษตรแผนใหม่ โดยใช้นวัตรกรรม เช่น โดรน สถานีอากาศอัจฉริยะ Digital application สามารถเติมองค์ความรู้ให้เกษตรกรในจังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่เพาะปลูกข้าวและปลูกพืชอื่นๆจำนวนมาก นำไปสู่การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุน และสร้างความมั่นคงของผลผลิต ที่ดีในอนาคต
นายประภัตร บอกด้วยว่า ประเทศไทยมีพื้นที่กว่า 323 ล้านไร่ เป็นพื้นที่เกษตรกรรมประมาณ 149 ล้านไร่ อาชีพเกษตรกรรมจึงเป็นอาชีพที่สำคัญของประเทศไทย แต่ปัญหาของเกษตรกรไทย คือ มีต้นทุนการผลิตที่สูง ดังนั้น การลดต้นทุนการผลิตจะทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น จึงอยากฝากให้ทางบริษัท ไบเออร์ไทย จำกัด คิดค้น พัฒนานวัตกรรมด้านต่างๆ ด้วยความจริงใจและจริงจัง เพื่อผลิตยาและปุ๋ยที่ปลอดภัยต่อการทำการเกษตร เกษตรกร และผู้บริโภค ที่สำคัญให้เกษตรกรเข้าถึงนวัตกรรมใหม่ๆ อย่างทั่วถึง
“กระทรวงเกษตรฯ มีนโยบายที่จะปรับปรุงการผลิตทางการเกษตร เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด และสนับสนุนให้เกษตรกรยุคใหม่รู้จักนำเทคโนโลยีมาใช้อย่างเหมาะสม เอื้อต่อการใช้ทรัพยากรต่างๆให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งเมล็ดพันธุ์ ดิน น้ำ ปุ๋ย รวมถึงลดการใช้แรงงานคน นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรฯยังมี 5 ยุทธศาสตร์ เป็นเครื่องมือขับเคลื่อนการพัฒนาการเกษตร ได้แก่ 1) ยุทธศาสตร์ตลาดนำการผลิต 2) ยุทธศาสตร์เทคโนโลยีเกษตร 4.0 3) ยุทธศาสตร์ 3’S (Safety/Security/Sustainability) 4) ยุทธศาสตร์บริหารเชิงรุกแบบบูรณาการทุกภาคส่วน และ 5) ยุทธศาสตร์เกษตรกรรมยั่งยืนตามแนวศาสตรพระราชา” รมช.เกษตรฯ กล่าว
มร.เกออร์ก ชมิดท์ เอกอัครราชทูตเยอรมันประจำประเทศไทย กล่าวว่า มีความยินดีกับทุกภาคส่วนในความร่วมมือทวิภาคี โดยพร้อมสนับสนุนนโยบายของประเทศไทยที่มีต่อการเกษตรแบบยั่งยืน ผ่านการพัฒนาเทคโนโลยีทางการเกษตรสมัยใหม่ เพื่อนำมาปรับปรุงการผลิตให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ในการนี้ ขอขอบคุณกระทรวงเกษตรฯ ที่ได้สนับสนุนให้มีการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเกษตร ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสและกระตุ้นให้เกิดการศึกษาวิจัยในอนาคตให้สอดรับกับความต้องการของเกษตรกรในเส้นทางสู่การทำการเกษตรแบบยั่งยืนในประเทศไทย ซึ่งประกอบไปด้วยด้านเศรษฐกิจ นิเวศวิทยา และสังคม
ด้าน มร.ศรีนาถ บาลา ผู้จัดการฝ่ายวิชาการและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ระดับภูมิภาค APAC (Regional APAC Head of Field Solution, Bayer Crop Science APAC) กล่าวว่า ไบเออร์ มุ่งมั่นที่จะส่งเสริมศักยภาพและยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร โดยที่เกษตรกรจำเป็นต้องเข้าถึงนวัตกรรมเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการทำการเกษตรได้ดียิ่งขึ้น ขณะเดียวกันทางศูนย์ฯ ยังสนับสนุนให้การพัฒนาแนวทางการจัดการศัตรูพืชแบบบูรณาการ
มร. ศรีนาถ กล่าวเสริมว่า ศูนย์ฯ ยังมีส่วนในการดูแลความปลอดภัยของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมผ่านการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวกับความปลอดภัยในการใช้ผลิตภัณฑ์ การพ่นสารเคมีอย่างถูกวิธีและปลอดภัย และความปลอดภัยของพืชอาหาร ศูนย์ฯ ยังมีการแนะนำนวัตกรรมการจัดการของเสีย (Phytobac Technology) ที่ช่วยในการบำบัดน้ำเสียจากฟาร์มเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์น้ำอย่างยั่งยืนและความปลอดภัยด้านสิ่งแวดล้อม
นางสาว จินอา ลี กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไบเออร์ไทย จำกัด กล่าวว่าศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้านการเกษตร ได้รับการอนุมัติในการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) โดยบริษัทฯ ได้มีการขยายการลงทุนในการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าว ข้าวโพด และผักชนิดต่างๆ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนยุทธศาสตร์การเกษตรของประเทศไทยเพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันของภาคเกษตร
ศูนย์แห่งนี้จะทำหน้าที่ดำเนินงานวิจัยด้านการเกษตรในด้านต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนวัตกรรมที่เกี่ยวกับข้าว ข้าวโพด และพืชผัก สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์การเกษตรของประเทศไทย ในการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของภาคการเกษตรด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม เกษตรอัจฉริยะ (Smart Farming) เกษตรแม่นยำ (Precision Farming) และเทคโนโลยีโดรน เพิ่มโอกาสให้เกษตรกรไทยสามารถเข้าถึงนวัตกรรมด้านการเกษตรและเทคโนโลยีได้อย่างรวดเร็ว รับมือกับปัญหาด้านการเกษตรทั้งการระบาดของโรคพืช ศัตรูพืช และการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศได้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นส่วนสนับสนุนในการยกระดับพืชผลทางการเกษตรสู่ตลาดที่มีคุณภาพและมูลค่าเพิ่มขึ้น ปลอดภัยต่อผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังช่วยเปิดโอกาสในการจ้างงานและพัฒนาศักยภาพแก่ประชาชนในท้องถิ่น และเป็นศูนย์ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับหน่วยงานอื่นๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
นายวีรพล เจริญพานิช ผู้จัดการ กลุ่มธุรกิจครอปซายน์ ประเทศไทย กัมพูชา พม่า บริษัท ไบเออร์ไทย จำกัด กล่าวเสริมว่าศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้านการเกษตร สุพรรณบุรี ถือเป็นศูนย์กลางวิจัยที่ใหญ่ที่สุดของไบเออร์ในประเทศไทย โดยเรามุ่งเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้านโรคและแมลงศัตรูพืชในนาข้าว ข้าวโพด และผักใบ เป้าหมายเพื่อทำให้เกษตรกรสามารถเพิ่มผลผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ และลดการใช้สารเคมี ซึ่งจะทำให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุนการผลิต เพิ่มรายได้ มีความปลอดภัยทั้งเกษตรกร และผู้บริโภค
โดยบริษัทฯจะให้ศูนย์ฯแห่งนี้เป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับเกษตรกรถึงวิธีการทำเกษตรปลอดภัย ใช้สารเคมีอย่างถูกวิธี ในเวลาที่เหมาะสม และปริมาณที่ถูกต้อง รวมถึงการให้ตระหนักถึงสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ที่มีผลต่อการทำเกษตรอย่างมาก และมีผลต่อโรคและศัตรูพืช โดยจะกระจายความรู้ไปให้ถึงเกษตรกรในพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศรู้เท่าทัน ให้ผลผลิตที่ออกสู่ตลาดและส่งออกได้มาตรฐานความปลอดภัยเป็นที่ยอมรับ
“บริษัทฯมีความจริงจังในการส่งเสริมการทำเกษตรปลอดภัย โดยมีแผนเพิ่มสัดส่วนผลิตภัณฑ์ต้านโรคพืชและแมลงโดยใช้เทคโนโลยีชีวภาพที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในสัดส่วน 30% ภายใน 10 ปีเพื่อให้สินค้าเกษตรมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค”