เวิร์คช้อป “กาแฟเชียงใหม่” เจาะตลาดโลก
จากไฟล์สไตล์คนไทยยุคดิจิทัลนิยมดื่มกาแฟไปพร้อมๆ กับทำงานบนสมาร์ทโฟน ทำให้ตลาดกาแฟในบ้านเราขยายตัวอย่างคึกคัก และเชียงใหม่ถือว่าเป็นจังหวัดอันดับต้นๆ ที่มีร้านกาแฟมากที่สุดด้วยเป็นแหล่งท่องเที่ยว และเป็นแหล่งเพาะปลูกกาแฟพันธุ์อราบิก้า ที่มีคุณภาพดี มีชื่อเสียง และเป็นที่ต้องการของตลาด ทำให้การบริโภคเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องเช่นกัน
จากการศึกษาและประเมินศักยภาพกลุ่มอุตสาหกรรมกาแฟในจังหวัดเชียงใหม่ พบว่า มีความต้องการให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยเหลือในการกำหนดมาตรฐานและคุณภาพของผลิตภัณฑ์กาแฟ การวิจัยและพัฒนา การบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทาน ตลอดจนการส่งเสริมด้านการตลาด
ดังนั้น วิทยาลัยโลจิสติกส์และซัพพลายเชน มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา ในฐานะที่ปรึกษาศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม จึงได้ระดมสมองจัดสัมมนาจัดทำแผนยุทธศาสตร์แผนแม่บทและแผนปฏิบัติการกิจกรรมเพิ่มศักยภาพและเทคโนโลยีอุตสาหกรรม ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ เพื่อเชื่อมโยงให้เกิดการยกระดับกาแฟเชียงใหม่ และจัดทำยุทธศาสตร์และการพัฒนาคลัสเตอร์เชียงใหม่เมืองกาแฟ ขึ้นเมื่อวันที่ 22-24 กุมภาพันธ์ 2562 ที่ผ่านมา ที่โรงแรมดิเอ็มเพรส จังหวัดเชียงใหม่
ตั้งสมาคมฯ ดัน “ฮับกาแฟโลก”
นายสุภกิจ ชัยเมืองเลน ผู้อำนวยการกลุ่มบริการธุรกิจและอุตสาหกรรม ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1 จ.เชียงใหม่ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า ปัจจุบันคนไทยดื่มกาแฟนวันละ 1 กิโลกรัมต่อคน จากเมล็ดกาแฟ 2 หมื่นตันทั่วประเทศ โดยเชียงใหม่มีผู้ประกอบการธุรกิจทั้งรายเล็ก และรายใหญ่จำนวนมาก มีพื้นที่ปลูกกาแฟ 19 อำเภอ บนพื้นที่กว่า 2 หมื่นไร่ มีผลผลิตคุณภาพสูงออกสู่ตลาดโลกในช่วงปี 2559 -2560 กว่า 3 พันตัน มีโรงคั่วและโรงงานแปรรูปขนาดใหญ่กว่า 20 แห่ง และมีร้านกาแฟมากกว่า 1 พันแห่ง โดยภาพรวมตลาดกาแฟในเชียงใหม่มีมูลค่ากว่า 3 พันล้านบาท เป็นพื้นที่มีเมล็ดกาแฟระดับโลก และเป็นเมืองท่องเที่ยวเป็นเมืองเศรษฐกิจ ซึ่งมีส่วนสำคัญในการส่งเสริมอุตสาหกรรมกาแฟ การสนับสนุนเชื่อมโยง การพัฒนารวมกลุ่มจะส่งผลต่อขีดความสามารถในการเพิ่มผลผลิตให้กับอุตสาหกรรมกา โดยสร้างความรู้ความเข้าใจ พันธมิตรธุรกิจ และเกิดเครือข่ายในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และสร้างโอกาสทางการตลาดให้กับวิสาหกิจต้นทาง กลางทาง ปลายทาง นำไปสู่การสร้างฐานการรองรับอุตสาหกรรมในอนาคต
“เราตั้งใจจะรวมกลุ่มให้ชัดเจนในรูปแบบสมาคมฯ มาดำเนินการขับเคลื่อนเชียงใหม่เมืองกาแฟ และเมื่อเร็วๆ นี้ทาง ธกส. ได้เข้ามาหารือเกี่ยวกับการจะจัดสินเชื่อส่งเสริมธุรกิจกาแฟในเชียงใหม่ วงเงิน 700 ล้านบาท แบ่งเป็นธุรกิจต้นทาง 400 ล้าน กลางทาง 100 และปลายทาง 200 ล้านบาท และจะให้สมาคมฯ มีผู้ที่มีบทบาทในการดูแลเงินทุนหมุนเวียนให้กับสมาชิก”
ด้าน ดร. จักรพรรณ คงธนะ ผู้จัดการโครงการฯ และรองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและบริการวิชาการ ด้านโลจิสติกส์และซัพพลายเชน วิทยาลัยโลจิสติกส์และซัพพลายเชน มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา กล่าวว่า เพื่อสร้างความเข็มแข็งให้กลุ่มเชียงใหม่เมืองกาแฟ จึงได้ระดมสมองความคิดเห็นภาพรวมในการพัฒนาอุตสาหกรรมกาแฟในเชียงใหม่ และมีการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ แผนแม่บทและแผนปฏิบัติการ กิจกรรมเพิ่มศักยภาพและเทคโนโลยีอุตสาหกรรม (เชียงใหม่เมืองกาแฟ จังหวัดเชียงใหม่) อยู่ภายใต้โครงการยกระดับอุตสาหกรรมอาหารและเกษตรแปรรูปภาคเหนือตอนบนสู่ฐานเศรษฐกิจสร้างสรรค์มูลค่าสูง ซึ่งมีวิทยากรที่มีประสบการณ์ตรงมากความสามารถมาให้ความรู้ และอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญมาเป็นที่ปรึกษาให้คำแนะนำด้วย
ชูจุดขาย “กาแฟพิเศษ”
นางนฤมล ทักษอุดม กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฮิลล์คอฟฟ์ จำกัด กล่าวในงานเสวนาหัวข้อ “ทิศทางยุทธศาสตร์และการพัฒนาคลัสเตอร์เชียงใหม่เมืองกาแฟ” ตอนหนึ่งว่า ขณะนี้ตลาดกาแฟโลกราคาตกต่ำ แต่ตลาดประเทศไทยไม่ได้รับผลกระทบ เกษตรกรยังขายกาแฟได้ราคาดี เพราะว่าได้รับแรงผลักดันจากผู้บริโภคในประเทศที่การเติบโตอย่างมาก และเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กลุ่มกาแฟเชียงใหม่ ควรรวมตัวกันเป็นกลุ่มคลัสเตอร์ ทำงานเป็นทีมจะทำให้ประสบความสำเร็จได้ โดยอาศัยตลาดผู้บริโภคกำลังเติบโตเรามาสร้างจุดแข็งจากวัฒนธรรมการดื่มกาแฟด้วยเมนู หรือเทรนด์ใหม่ๆ ต่อยอดจากจุดแข็งรสชาติที่เป็นจุดเด่นอยู่แล้ว เชื่อว่าจะทำให้กาแฟเชียงใหม่สามารถแข่งขันในระดับโลกได้
Mr. Bryce Castleton ที่ปรึกษา บริษัท พานาคอฟฟี่ จำกัด กล่าวว่า ขณะนี้ตลาดกาแฟทั่วโลกราคาตกต่ำมาก แต่ตลาดไทยกลับพบว่าการบริโภคมากว่าปริมาณการผลิต อย่างไรก็ตาม เพื่อให้กาแฟเชียงใหม่แข่งขันในตลาดโลกได้ควรยกระดับกาแฟเชียงใหม่ไปสู่ตลาดพิเศษ ที่มีการรับรองมาตรฐานต่างๆ เพื่อให้สินค้ามีคุณภาพ
“กาแฟในเมืองไทยปลูกในป่าไม่ใช้สารเคมี ทำให้ได้เปรียบในตลาด ได้ราคาค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับประเทศบราซิล มีการใส่ปุ๋ยเข้าไปเยอะมาก”
ทางด้านนายสุเวช เวฬุธนราชิน กรรมการผู้จัดการ ไร่ม่อนมาตุภูมิ กล่าวว่า กาแฟเชียงใหม่ไม่ควรไปแข่งขันด้านราคา แต่การที่เรามีจุดเด่นสายพันธุ์ที่หลากหลาย ดินมีคุณภาพ มีความได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ซึ่งเรารวมกลุ่มๆ แรก 13-14 ดอย ปรับปรุงคุณภาพดินให้ดีปลอดภัยไม่มีสารเคมี แล้วสร้างสินค้าให้แตกต่างด้วยการทำ ‘กาแฟพิเศษ’ คุณภาพสูงสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้แน่นอน
“ทิศทางตลาดอาเซียนมันเล็กไป ผมอยากไปแตะระดับโลก ด้วยการกำหนดให้ “เชียงใหม่เป็นเมืองกาแฟ” เช่นเดียวกับเวลานึกภาพไวน์ก็จะเป็นฝรั่งเศส หรือถ้าเป็นวิสกี้ก็จะนึกถึงสก็อตแลนด์ โดยมีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ให้คำปรึกษาด้านเทคโนโลยีต่างๆ
อีกจุดแข็ง“กาแฟออร์แกนิค”
ขณะที่นายสุวรรณ เทโวขัติ ประธานกลุ่มวิสาหกิจกาแฟสดเทพเสด็จ กล่าวว่า จุดเด่นของกาแฟเชียงใหม่มีความหลากหลายทางสายพันธุ์ แหล่งเพาะปลูกมีดีๆ อยู่จำนวนมาก มีการนำเสนอเอกลักษณ์โดดเด่นและแตกต่างอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม การวางยุทธศาสตร์กาแฟเชียงใหม่ควรมีการออกใบรับรอง GMP ระดับต้นน้ำ และควรทำเครื่องบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ด้วย
สอดคล้องกับนางวิมลลักษณ์ บลูม-บุญวิเศษ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เซฟ ออร์แกนิค จำกัด เปิดเผยว่า การเพราะปลูกกาแฟควรได้ใบรับรองมาตรฐานโลก ควรปลอดสารเคมี ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยไส้เดือนแทน มีพี่เลี้ยงให้คำแนะนำเกษตรกรในการปรับปรุงคุณภาพดิน การลดต้นทุนการเพาะปลูก
“ควรส่งเสริมปลูกกาแฟออร์แกนิค ส่งเสริมการปลูกที่มีความหลากหลายสายพันธุ์ในพื้นที่แต่ละดอย และได้ส่งเสริมปลูกพันธุ์ที่มีความโดดเด่นอย่างพันธุ์เกชาจากปานามาด้วย ตอนนี้มีการแจกจ่ายให้เกษตรกรแล้ว 3 พันต้น”
นายวิเศษศักดิ์ ประทุมรัตน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไฮแลนด์ คอฟฟี่ จำกัด กล่าวเสริมว่า เพื่อเป็นการสร้างพลังขับเคลื่อนให้กับกาแฟเชียงใหม่ ควรมีการเชื่อมโยงทั้งเชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง และแม่ฮ่องสอน ด้วย เพื่อให้ผู้บริโภคนึกถึงกาแฟไทยจะต้องมองมาที่กาแฟล้านนา
ส่วนนายพฤฒ นทีพายัพ เจ้าของร้านกาแฟ Hohm Cafe และแชมป์บาริสต้า ประจำปี 2560 กล่าวว่า ร้านกาแฟสดในเชียงใหม่ที่มีบาริสต้าจะสอนวัฒนธรรมการดื่มกาแฟที่มีเทรนด์ใหม่ๆ จะทำให้สร้างตลาดผู้บริโภคได้เพิ่มมากขึ้น วันนี้เมืองไทยมีจุดเด่นผลิตกาแฟเย็นใส่นมข้นเป็นแห่งแรกของโลก และเป็นเมนูอร่อยที่สุด แต่คนทั่วโลกไม่รู้จักเมนูเอสเฟรสโซ่เย็นที่เราคิดค้นได้แห่งแรก เราควรจะโปรโมทให้คนทั่วโลกรู้จักเมนูนี้ เพื่อจะได้รู้ว่ากาแฟไทยก็มีดี และหันมาดื่มกันมากขึ้น
นายจรูญ แสงสงวน ผู้บริหาร บริษัท ดอยสะเก็ดชาไทย จำกัด กล่าวว่า ควรส่งเสริมกาแฟนพันธุ์อราบิก้าให้มีความเข้มแข็ง อาจจะออกไปแข่งขันในตลาดเอเชียก่อนก็ได้ แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงสำหรับกาแฟเชียงใหม่คือ การรักษามาตรฐาน เพราะจะเป็นช่องทางทำให้เติบโตอย่างยั่งยืนได้
อดีตทูตกรีซแวะชิมกาแฟเชียงใหม่
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า บรรยากาศภายในการจัดเสวนาได้มีการนำเครื่องชงกาแฟจากทาง “ฮิลล์คอฟฟ์” มาชงกาแฟพันธุ์อราบิก้าที่มีความพิเศษโดดเด่นจากดอยต่างๆ ให้ผู้เข้าร่วมเสวนาได้ชิมรสชาติด้วย ซึ่งได้รับความสนใจอย่างมาก และเกิดการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ต่างๆ ด้วย ที่น่าสนใจได้รับเกียรติจากอดีตเอกอัครราชทูตกรีซ ประจำประเทศไทย Dr. George Sioris ได้เดินทางมาร่วมชิมกาแฟเชียงใหม่ครั้งนี้ด้วย
ปิดท้ายกันที่นายชาญวิทย์ เทพอุโมงค์ ผู้จัดการโครงการเชียงใหม่เมืองกาแฟ กล่าวว่า จากการระดมสมองกลุ่มคลัสเตอร์เชียงใหม่เมืองกาแฟครั้งนี้ ได้กำหนดวิสัยทัศน์ปี 2562 ไว้ว่าจะนำพาเชียงใหม่ไปสู่การเป็นเมืองกาแฟที่นำกระแส เพื่อเปิดประสบการณ์กาแฟในมุมมองใหม่ที่มีเอกลักษณ์อย่างน่าประทับใจ ซึ่งเป็นการสื่อสารให้จังหวัดเชียงใหม่เป็นเมืองที่นำกระแสทางด้านกาแฟ มีเอกลักษณ์ทางด้านกาแฟเป็นของตนเอง เป็นการนำไปสู่ความประทับใจของผู้ที่มาสัมผัสกาแฟเมืองเชียงใหม่นั่นเอง