พลังงาน

ครั้งแรก ! “บ้านปู” ประเดิมจัด “บิสซิเนส พิชชิ่ง” เชื่อมผู้ประกอบการกิจการเพื่อสังคม และนักลงทุน

ครั้งแรก ! “บ้านปู” ประเดิมจัด “บิสซิเนส พิชชิ่ง” เชื่อมผู้ประกอบการกิจการเพื่อสังคม และนักลงทุน หนุนภาคธุรกิจโตได้อีกขั้น สู่การสร้าง “พลังเปลี่ยนแปลงสังคม” ที่ยั่งยืน

บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ผู้นำด้านพลังงานที่หลากหลายในระดับนานาชาติ ร่วมกับ สถาบัน ChangeFusion จัดกิจกรรมการเชื่อมโยงผู้ประกอบการกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise: SE) ศักยภาพสูงกับเครือข่ายนักลงทุน-พันธมิตรทางธุรกิจ และหน่วยงานภาครัฐที่ส่งเสริม SE กว่า 20 ราย อาทิ กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม (สวส.) และ โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ซึ่งถือเป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นครั้งแรกเพื่อสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการได้เข้าถึงองค์ความรู้และแหล่งเงินทุนเพื่อการเติบโตขึ้นอีกขั้น พร้อมเสริมแกร่ง SE Ecosystem ไทยสู่การสร้างพลังเปลี่ยนแปลงสังคมที่ยั่งยืน

นายรัฐพล สุคันธี ผู้อำนวยการสายอาวุโส – สื่อสารองค์กร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน)

นายรัฐพล สุคันธี ผู้อำนวยการสายอาวุโส – สื่อสารองค์กร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า
“การส่งเสริม SE ให้เดินหน้าต่อไปได้เป็นสิ่งสำคัญและเป็นสิ่งที่ SE ในประเทศเรายังต้องการการสนับสนุน แต่อาจยังเป็นช่องทางที่ถูกมองข้ามไปด้วยปัจจัยภายนอกหลายประการ โครงการพลังเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคม Banpu Champions for Change ตระหนักถึงความสำคัญในข้อนี้ ดังนั้นในปีที่ 11 นอกเหนือจากโปรแกรมการบ่มเพาะ SE ระยะเริ่มต้นแล้ว เราจึงตั้งอีกหนึ่งกิจกรรมชื่อ Acceleration Program ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อขยายการเติบโตของ SE ที่ได้ดำเนินธุรกิจมาระยะหนึ่ง มีที่มาของผลกำไรชัดเจน และต้องการสร้างการเติบโตขึ้นไปอีกขั้น ในช่วงที่ผ่านมาเราได้มีการคัดเลือก 6 กิจการที่ผ่านเข้ารอบเพื่อเข้ารับคำปรึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลของกิจการจากทีมผู้เชี่ยวชาญ และผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาที่ตอบโจทย์กับประเด็นของกิจการต่าง ๆ รวมถึงให้ความช่วยเหลือทางเทคนิคในแบบที่จำเพาะเหมาะสมกับแต่ละกิจการ ซึ่งกิจกรรมในวันนี้ ก็เป็นหนึ่งภายใต้ Acceleration Program ที่ต้องการเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการ SE ทั้ง 6 กิจการและผู้ลงทุนได้ทำความรู้จัก และเชื่อมโยงกันซึ่งผลที่เกิดขึ้นอาจจะหมายถึงโอกาสในการเติบโตในธุรกิจทั้งของผู้ลงทุนและผู้ประกอบการ SE เอง”

สำหรับกิจการเพื่อสังคมที่ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ มีจำนวนทั้งสิ้น 6 กิจการ ประกอบด้วย ‘อาชีฟ’ (a-chieve) แพลตฟอร์มแนะเส้นทางอาชีพเด็กไทย ‘ยังแฮปปี้’ (YoungHappy) แอปพลิเคชันสร้างสุขของวัยเกษียณ ‘บั๊ดดี้โฮมแคร์’ (Buddy Homecare) แอปพลิเคชันอาสาสมัครดูแลสูงวัย ‘อูก้า’ (OOCA) แพลตฟอร์มให้คำปรึกษาสุขภาพจิต ‘โนบูโร’ (Noburo) แพลตฟอร์มสวัสดิการแก้หนี้พนักงาน และ ‘มอร์ลูป’ (moreloop) แพลตฟอร์มฝากขายผ้าส่วนเกินจากอุตสาหกรรมแฟชั่น ทั้งนี้ ผลลัพธ์จากการเพิ่มระดับความเข้มข้นของโครงการฯ ด้วย Acceleration Program ได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้ประกอบการเพื่อสังคม นับเป็นการตอกย้ำความสำเร็จของการดำเนินโครงการฯ และความหวังในการขยายพลังผู้ประกอบกิจการเพื่อสังคมในประเทศไทยให้เติบโตขึ้น

นายอมรพล หุวะนันทน์ ผู้ก่อตั้งแพลตฟอร์มฝากขายผ้าส่วนเกินจากอุตสาหกรรมแฟชั่น ‘มอร์ลูป’ (moreloop) กล่าวถึงความรู้สึกหลังได้รับการคัดเลือกว่า “รู้สึกภาคภูมิใจที่โปรแกรม Acceleration ของบ้านปู รวมถึงนักลงทุนมองเห็นถึงศักยภาพของ moreloop ที่ตรงกับเงื่อนไขกิจกรรมเพื่อเข้าร่วมบ่มเพาะธุรกิจให้เติบโตได้อีกขั้น ซึ่งหากได้รับการสนับสนุนจากนักลงทุนหรือพันธมิตรทางธุรกิจ ตนมีแผนขยายทีมทำงาน และปรับปรุงระบบการทำงานให้สามารถรองรับการทำการตลาดเชิงรุก โดยเน้นการจัดจำหน่ายผ้าส่วนเกิน และรับจ้างผลิต (OEM) เพิ่มมากขึ้น การจัดกิจกรรม Business Pitching ของบ้านปู ถือเป็นอีกหนึ่งสนามสำคัญที่ช่วยในการฝึกฝนทักษะการนำเสนอแผนธุรกิจของผู้ประกอบการ สร้างคอนเนคชันที่ดีระหว่างผู้ประกอบการกับนักลงทุน และ ระหว่างนักลงทุนกับนักลงทุนด้วยกัน หรือกระทั่งนักลงทุนบางรายยังได้ทำความรู้จักกับกิจการ SE อื่นๆ ซึ่งนับเป็นหมุดหมายสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งให้กับ SE Ecosystem ไทยให้เข้มแข็งมากยิ่งขึ้น”

นางสาวไพลิน สันติชัยเวคิน ผู้จัดการฝ่ายลงทุน กองทุน Disrupt Impact Fund

ด้าน นางสาวไพลิน สันติชัยเวคิน ผู้จัดการฝ่ายลงทุน กองทุน Disrupt Impact Fund กล่าวเสริมว่า “สำหรับปัจจัยที่ทำให้เลือกลงทุนกับกิจการเพื่อสังคมมี 3 ปัจจัยหลักคือ 1. กิจการมีศักยภาพในการเติบโตทางธุรกิจและสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมได้ควบคู่กันในขนาดตลาดที่ใหญ่ (Scalable & Sustainable Growth) 2. ผู้นำองค์กร (Founder) มีพลังขับเคลื่อน และวิสัยทัศน์ในการขยายผลในวงกว้าง 3. กิจการมีข้อมูล (Traction) ที่สามารถพิสูจน์ได้ว่าสามารถแก้ไขปัญหาของกลุ่มเป้าหมายได้จริง และขยายผลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ จากการเข้าร่วมกิจกรรม Business Pitching ทำให้มองเห็นโอกาสของธุรกิจใหม่ๆ ที่มีการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมขับเคลื่อนธุรกิจ เราเชื่อว่า ธุรกิจที่สร้างการเติบโตทางสังคม (Social Impact) และ สามารถเติบโตทางเศรษฐกิจได้ (Business Capability) จะเติบโตได้อย่างยั่งยืน เพราะสามารถเลี้ยงตัวเอง และขยาย Impact ได้ในวงกว้าง”

นอกจากนี้ บ้านปู พร้อมด้วยสถาบัน ChangeFusion เตรียมจัดงาน “อิมแพ็ค เดย์” (Impact Day) ภายใต้แนวคิด “Impact Day 2022: Maximize the Impact ผนึกเครือข่าย ขยายพลัง SE” เพื่อแลกเปลี่ยนแนวคิดและประสบการณ์การดำเนินธุรกิจเพื่อสังคม ตลอดจนส่งต่อแรงบันดาลใจในการสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกต่อสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม นำโดยผู้เชี่ยวชาญการตลาด นักลงทุน และผู้ประกอบการธุรกิจ ในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2565 ที่ศูนย์การค้าสามย่าน มิตรทาวน์ กรุงเทพฯ

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมหรือติดตามความเคลื่อนไหวของโครงการ “พลังเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคม” (Banpu Champions For Change: BC4C) ได้ที่ www.facebook.com/banpuchampions

Related Articles

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button