30 ปี “เอ็กโก กรุ๊ป” มุ่งสู่โรงไฟฟ้าไฮโดรเจน
“เอ็กโก กรุ๊ป” ตั้งเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเป็น 30% ในปี 2030 ก่อนมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ในปี 2050 เผยแผนมุ่งสู่พลังงานสะอาดมีทั้งกรีนไฮโดรเจน โซลาร์+Bess และโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาด 50-300 เมกะวัตต์
นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน และประธานกรรมการ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด(มหาชน) หรือ เอ็กโก กรุ๊ป กล่าวปาฐกถาพิเศษในงาน “EGCO Group Forum 2022 : Carbon Neutral Pathway ปฏิบัติการสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน” ในโอกาส เอ็กโก กรุ๊ป ครบรอบ 30 ปี ว่า ในปี 2565 ประเทศไทยมีการปล่อยปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ อยู่ที่ 131.8 ล้านตันคาร์บอน เพิ่มขึ้น 6.7% จากปีก่อน โดยภาคที่มีการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์มากที่สุดคือ ภาคพลังงานและภาคอุตสาหกรรม มีสัดส่วนอยู่ที่ 32% หรือกว่า 42 ล้านตันคาร์บอน ส่วนภาคขนส่ง มีสัดส่วนอยู่ที่ 30% และภาคอื่นๆ อีกประมาณ 7% ดังนั้น เมื่อรวมภาคพลังงานและภาคขนส่งทำให้มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนออกไซด์อยู่ที่ 62% ถือเป็นสัดส่วนที่สูง เพราะว่าประเทศไทยมีการใช้รถยนต์สันดาปภายในที่ขับเคลื่อนด้วยน้ำมันเชื้อเพลิงมีสัดส่วนประมาณ 98%
ทั้งนี้ จากการที่ประเทศไทยได้ร่วมประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 หรือ Cop26 และได้ประกาศเป้าหมายมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ.2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero GHGs Emission) ในปี ค.ศ.2065 เพื่อแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ
ประเทศไทยจึงได้จัดทำกรอบแผนพลังงานแห่งชาติ (National Energy Plan : NEP) คาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงปลายปี 2565 นี้ เพื่อกำหนดเป้าหมายในการเพิ่มสัดส่วนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ไม่ต่ำกว่า 50% จากปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 23-24% ของกำลังการผลิตไฟฟ้า โดยจะไม่มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเพิ่มขึ้นในอนาคต พร้อมส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่รัฐบาลได้มีมาตรการสนับสนุนการซื้อรถยนต์ EV ทำให้ราคาลดลงคันละ 2 แสนบาท และต่อไปก็จะดูเรื่องของแบตเตอรี่เพิ่มเติมเพื่อให้เกิดการลงทุนผลิตและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานต่อไป
“ในปีนี้จะเห็นว่ายอดขายรถยนต์ EV ของประเทศเติมโตขึ้น 275% จากปีก่อน หรือมีการซื้อรถยนต์เพิ่มขึ้นจากหลักพันคันเป็นหมื่นคัน สะท้อนให้ว่าประชาชนให้ความสำคัญกับการใช้พลังงานสะอาดตามทิศทางของโลก และระยะต่อไปรัฐบาลก็จะเดินหน้าแผนขยายสถานีชาร์จไฟฟ้าให้ครอบคลุมการใช้งานให้ทั่วประเทศมากขึ้น ตลอดจนรัฐต้องดูแลเรื่องของการปรับโครงสร้างระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานให้รองรับ 4D1E ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของมิเตอร์ไฟฟ้าที่สมาร์ทมากขึ้นจะเข้ามารองรับการเปลี่ยนผ่านพลังงาน การพัฒนาระบบไฟฟ้าที่มีการกระจายตัวและยืดหยุ่น รวมถึงจะเร่งโปรโมทการลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียนให้เกิดขึ้นตามแผน ซึ่งในอนาคตจะมีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานโซลาร์เข้าระบบถึง 6,000 เมกะวัตต์ในระยะ 20 ปีข้างหน้า ได้แก่ พลังงานลม 1,500 เมกะวัตต์ ไฟฟ้าจากขยะ อีก 600 เมกะวัตต์ และไฟฟ้าจากไบโอแก๊สและไบโอแมส อีกประมาณ 800 เมกะวัตต์”
ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวอีกว่า เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ได้มีมติเห็นชอบแนวทางการกำหนดอัตราค่าบริการไฟฟ้า สีเขียว (Utility Green Tariff) ในโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าขายปลีก เพื่อส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด ซึ่งต่อไปจะมีการปรับแยกระบบสายส่งไฟฟ้าต่างหากเพื่อรองรับพลังงานหมุนเวียน ถ้าหากบริษัทที่ต้องการไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดก็สามารถนำไปใช้ได้เลย เช่นเดียวกับทาง เอ็กโก กรุ๊ป ก็จะมุ่งไปที่กรีนไฮโดรเจน ที่เป็นพลังงานสะอาดมากขึ้น
ด้านนายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอ็กโก กรุ๊ป กล่าวในการเสวนาหัวข้อ Carbon Neutral Roadmap ว่า เอ็กโก กรุ๊ป เริ่มก่อตั้งเมื่อปี 2535 ด้วยนโยบายต้องการให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการผลิตไฟฟ้า เป็นนโยบายลดการลงทุนจากภาครัฐ เป็นจุดเริ่มต้นจากมีโรงไฟฟ้าระยองเป็นโรงแรก ตามด้วยโรงไฟฟ้าขนอม ตลอดระยะเวลาการดำเนินธุรกิจผลิตไฟฟ้า 30 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจก็มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง
ปัจจุบันนโยบาย 4D1E ก็ถือเป็นแรงกดดันให้ผู้ประกอบการธุรกิจพลังงานต้องปรับตัว เอ็กโก กรุ๊ป ก็เช่นเดียวกันได้กำหนดแนวทางการขับเคลื่อนธุรกิจ ภายใต้วิสัยทัศน์ Cleaner Smarter and Stronger to Drive Sustainable Growth มุ่งไปสู่การใช้พลังงานสะอาด มุ่งไปสู่การสมาร์ทด้วยการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม รวมถึงการมีพาร์ทเนอร์ที่แข็งแรง ทำให้องค์กรเกิดความยั่งยืน เอ็กโก กรุ๊ป มีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสีเขียวเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ถือเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาดโรงแรกคือ ร้อยเอ็ด กรีน เป็นโรงไฟฟ้าไบโอแมส หลังจากนั้นได้มีพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้นหลากหลายชนิด
ปัจจุบันมีกำลังผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนรวมอยู่ที่ 1,424 เมกะวัตต์ หรือ คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 24% ใน 7 ประเทศ จากกำลังผลิตไฟฟ้ารวมของบริษัท อยู่ที่ 6,079 เมกะวัตต์ ใน 8 ประเทศ และโดยจะเพิ่มสัดส่วนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนให้อยู่ที่ 30% ในปี 2030 ตั้งเป้าหมายจะลดการปล่อยคาร์บอนลง 10% และได้ตั้งเป้าหมายมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ไว้ในปี 2050
นายเทพรัตน์ กล่าวด้วยว่า เอ็กโก กรุ๊ป ยังได้ขยายพอร์ตฟอลิโอเพิ่มสัดส่วนการลงทุนพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น โดยปีที่ผ่านมาได้เข้าไปลงทุนในบริษัท เอเพ็กซ์ คลีนเอ็นเนอร์ยี โฮลดิ้งส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่มีพอร์ตผลิตไฟฟ้าพลังงานโซลาร์เซลล์ และพลังงานลมกว่า 40,000 เมกะวัตต์ และในประเทศไทยมีโอกาสที่จะขยายการลงทุนผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน หลังจากภาครัฐเตรียมเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนรวมกว่า 5,000 เมกะวัตต์ ซึ่ง เอ็กโก กรุ๊ป ก็สนใจยื่นเสนอขายไฟฟ้าในครั้งนี้ด้วยสำหรับประเภทพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินร่วมกับแบตเตอรี่(Solar+BESS) ประมาณ 1,000 เมกะวัตต์
นอกจากนี้ เอ็กโก กรุ๊ป ได้เข้าไปลงทุนในโรงไฟฟ้าลินเดนฯ ในสหรัฐอเมริกาได้มีการนำโฮโดรเจนเป็นเชื้อเพลิงแล้ว โดยมีการใช้ไฮโดรเจนเข้าไปสัดส่วน 40% ร่วมกับเชื้อเพลิงที่เป็นก๊าซธรรมชาติเดิม ทำให้โรงไฟฟ้าใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลลดลง และในทุกวันนี้โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติหลายๆ รุ่นก็มีการพัฒนาให้สามารถเปลี่ยนการผลิตไฟฟ้าไปเชื้อเพลิงไฮโดรเจนได้มากขึ้น ทำให้เห็นว่าโรงไฟฟ้าฟอสซิลก็มีทิศทางในการปรับการใช้เชื้อเพลิงเป็นไฮโดรเจนมากขึ้น
ส่วนโรงไฟฟ้าในประเทศไทยที่เป็นโรงไฟฟ้าถ่านหิน BLCP ตอนนี้ก็ได้มีการศึกษาโครงการต้นแบบใช้แอมโมเนีย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของไฮโดรเจนเข้าไปเป็นเชื้อเพลิงประมาณ 20% ในโรงไฟฟ้าถ่านหิน ทำให้มีการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าถ่านหินเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เพราะมีการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ลดลง
นายเทพรัตน์ กล่าวว่า ในตอนนี้พลังงานทางเลือกที่น่าสนใจสุดๆ และมีทิศทางมาชัดเจนนั่นคือ ไฮโดรเจน เพราะเป็นการเปลี่ยนแปลงจากพลังงานฟอสซิลไปสู่พลังงานสะอาดได้อย่างไหลลื่น ตอนนี้มีการกำหนดสีของไฮโดรเจน อาทิ สีน้ำตาล สีเทาจะได้ไฮโดรเจนมาจากก๊าซธรรมชาติ ถ้าเป็นถ่านหิน หรือฟอสซิล จะเรียกว่า บลูไฮโดรเจน ส่วนไฮโดรเจนที่ได้จากพลังงานหมุนเวียนจากโซลาร์ และพลังงานลม จะเรียกว่า กรีนไอโดรเจน
นอกจากนี้ ยังมีพิงค์ไฮโดรเจนที่ได้จากพลังงานนิวเคลียร์ และล่าสุดพบว่ามี เทอร์ควอยซ์ไฮโดรเจนด้วย เป็นสีน้ำเงินผสมกับเขียว เป็นการแคร็กไฮโดรเจนออกจากฟอสซิล อย่างไรก็ตามขึ้นตอนการได้เทอร์ควอยซ์ไฮโดรเจนจะมีบายโปรดักซ์เป็นโซลิกคาร์บอนทำให้เกิดภาระนำเอาคาร์บอนอัดลงไปใต้ดิน ซึ่งยังไม่แน่ใจว่าเทคโนโลยีสามารถอัดลงไปได้จริงหรือไม่ และจะเกิดความมั่นใจได้อย่างไรว่าคาร์บอนที่อัดลงไปจะไม่กลับขึ้นมาอีก
ส่วนสถานการณ์ราคาไฮโดรเจนตอนนี้ ถ้าเป็นขนาดเล็กต้นทุนจะอยู่ที่ 4-5 เหรียญสหรัฐต่อกิโลกรัมไฮโดรเจน แต่ถ้าเป็นโรงขนาดใหญ่ตัวเลขราคากรีนไฮโดรเจนจะอยู่ที่ 3 เหรียญต่อกิโลกรัมไฮโดรเจน ซึ่งถ้าเรานำ 3 เหรียญต่อกิโลกรัม ไปคำนวณกับการผลิตไฟฟ้าเทียบกับราคาก๊าซธรรมชาติจะอยู่ประมาณ 25-26 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู วันนี้ถือว่าเราเสียโอกาสที่ไม่มีโรงไฟฟ้าไฮโดรเจนมารองรับ ทำให้เราใช้ไฟฟ้าที่มีราคาแพง
“เอ็กโก กรุ๊ป ยังได้ศึกษาเทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture, Utilization and Storage: CCUS),แบตเตอรี่ และการลงทุนเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell) รวมถึงการผลิตไฟฟ้าจากเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ขนาดเล็กที่สามารถผลิตกำลังไฟฟ้าในระบบ 50-300 เมกะวัตต์ และโซลาร์บนอวกาศ หรือ Wireless Power Transmission of Solar Energy from Space ซึ่งสามารถผลิตไฟฟ้าได้ 100% เพราะรักบแสงอาทิตย์ได้ตลอด 24 ชั่วโมง และกำลังทดลองวิธีการส่งพลังงานมายังพื้นโลก ถ้าใครมีบ้านก็สามารถตั้งจานรับพลังงานเอาไว้ได้ นี่คือแนวทางพลังงานของโลก”
นายเทพรัตน์ กล่าวในตอนท้ายแสดงความเป็นห่วงว่า การก้าวไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนของประเทศไทยต้องใช้เงินมหาศาล จึงควรใช้โอกาสนี้ทำประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีพลังงานสะอาดด้วย เนื่องจากที่ผ่านมาเรามีการซื้อเทคโนโลยีทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นแผงโซลาร์เซลล์ รวมถึงเทคโนโลยี CCUS เมื่อเราเป็นผู้ใช้เทคโนโลยีแล้ว ควรจะเป็นศูนย์กลางผู้ผลิต และส่งออกเทคโนโลยีต่างๆ ไปยังประเทศในแถบอาเซียน รวมถึงการปรับโครงสร้างพื้นฐานและแรงจูงใจนักลงทุนด้วย
นอกจากนี้ ภาครัฐควรปรับแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า หรือ PDP2022 เพื่อเป็นการส่งเสริมพลังงานสะอาด อาทิ ไฮโดรเจน หรือพลังงานเทคโนโลยีอื่นๆ ที่จะเกิดขึ้นตามมา นอกจากเหนือจากที่มีอยู่อย่างพลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานลม เป็นต้น เพื่อนำพลังงานหมุนเวียนใหม่ๆ เข้ามาช่วยเสริมเสถียรภาพทำให้ค่าไฟฟ้าสามารถแข่งขันได้ ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยตอบโจทย์ความเป็นศูนย์กลาทางคาร์บอนได้อย่างสมบูรณ์แบบ