สังคมไทยมุง

เสนอตั้งอนุกรรมาธิการสภาตั้งวงชำแหละร่างผังเมืองอีอีซี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวลา 8.30 น. วันที่ 23 กรกฎาคม 2562 ชาวบ้านตำบลโยธะกา จ.ฉะเชิงเทรา จำนวน 150 คน เดินทางเข้ากรุงเทพมหานครรวมตัวบริเวณสถานีรถไฟหัวลำโพง ก่อนที่จะเคลื่อนขบวนไปยังสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เพื่อยื่นหนังสือคัดค้าน ผังเมืองอีอีซี ต่อ สกพอ. เนื่องจากเกรงว่าจะได้รับผลกระทบต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของตนเอง

ทั้งนี้ นายกัญจน์ ทัตติยกุล แกนนำเครือข่ายเพื่อนตะวันออก วาระเปลี่ยนตะวันออก เปิดเผยภายหลังยื่นหนังสือคัดค้านสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) ว่าตามที่ได้มีหนังสือเรื่องขอส่งคำร้องของผู้มีส่วนได้เสียกับแผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดินในเขตอีอีซีฉบับวันที่ 8กรกฎาคม 2562 ที่ผ่านมา และทางอีอีซีได้มีหนังสือตอบกลับไปยังเครือข่ายฉบับลงวันที่ 19 กค.62นั้น ทางเครือข่ายเห็นว่าการดำนินการของรัฐไแกระทบสิทธิของชุมชนที่ได้รับิยู่เดิมที่เกี่ยวกับผัวเมืองต้องมีเหตุผลอันสมควรและต้องมีการรับฟังความเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างครบถ้วนรอบด้าน เป็นธรรม จึงขอคัดค้านประเด็นการชี้แจงของสกพอ. พร้อมยืนยันว่าการดำเนินการที่ผ่านมายังไม่เป็นไปตามหลักวิชาการผังเมือง ประชาชนในพื้นที่ไม่ได้มีส่วนร่วมอย่างแท้จริง

ดังนั้น ทางเครือข่ายจึงขอข้อมูลเกี่ยวกับการรับฟังความเห็นดังกล่าวดังนี้คือ รายละเอียดจากการประชาสัมพันธ์ หนังสือเชิญ รายชื่อ ภูมิลำเนา ผู้เข้าร่วมประชุม สำเนาบันทึกการประชุมและรายชื่อผู้เข้าร่วมประชุมทุกครั้ง บันทึกอนุกรรมการประชุมแผนผังทุกครั้ง รายงานฉบับล่าสุดของโครงการวางผังพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจกลุ่มจังหวัดชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา

รายละเอียดร่างแผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดิน แผนผังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคทั้ง 8 ระบบ ข้อมูลการสำรวจพื้นที่และกำหนดเขตผัง รวมถึงวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆสำหรับการมาจัดทำผังและข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดิน และรายการประเมินผลการเปลี่ยนแปลงสภาพการณ์และสิ่งแวดล้อมการบังคับใช้ผังเมืองรวม

“ช่วงบ่ายวันนี้จะเดินทางไปยื่นหนังสือที่ศูนย์รับเรื่องร้องทุกข์ทำเนียบรัฐบาลต่อไปเพื่อต้องการนำเสนอให้นายกรัฐมนตรีให้ตั้งคณะอนุกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎรขึ้นมาดูเรื่องนี้ให้ละเอียดอีกครั้ง เบื้องต้นมีส.ส.ฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลให้ความสนใจเรื่องนี้หลายคน พร้อมกับจะชำแหละเรื่องรถไฟความเร็วสูงควบคู่กันไปด้วย คาดว่าจะเข้าไปช่วยสื่อสารในสภาผู้แทนราษฎรได้เป็นอย่างดี เบื้องต้นพบว่าผังพื้นที่สีม่วงจะมีปัญหาไม่ได้นำไปพัฒนาเนื่องจากราคาที่ดินแพงมาก จึงมีความพยายามนำพื้นที่สีเขียวที่ต่อมามีความพยายามปรับเปลี่ยนให้เป็นพื้นที่สีม่วงจะนำไปพัฒนาแทน ดังนั้นพื้นที่ที่จะพัฒนาได้จริงกลับไม่นำไปพัฒนา พื้นที่เกษตรกรรม พื้นที่ชนบทที่ชาวบ้านอยู่อาศัยกันมานานไปทำประโยชน์แทน หากอีอีซียังปล่อยให้เป็นไปแบบนี้ ไม่ยึดตามเกณฑ์ผังเมืองจริงจะส่งผลกระทบตามมาแน่ๆสภาพเมืองจะเปลี่ยนแปลงไปไม่รู้จักจบสิ้น เพราะว่าหากซื้อที่ดินราคา 8 แสนบาทไปพัฒนาอุตสาหกรรมได้คงไม่มีใครไปซื้อที่ดินราคา 4-5 ล้านบาทไปพัฒนา ดังนั้นหากรัฐยึดตามผังเมืองอย่างเคร่งครัดก็คงไม่ส่งผลกระทบต่อชาวบ้านเช่นทุกวันนี้”

สำหรับชาวบ้านที่เดือดร้อนจากการปรับปรุงผังเมืองอีอีซีในครั้งนี้มีชาวบ้านจากกลุ่มโยธะการักษ์ถิ่น ตำบลโยธะกา อ.บางน้ำเปรี้ยว จ.ฉะชิงเทรา กลุ่มเครือข่ายรักพระแม่ธรณี ต.เขาดิน อ.บางปะกง ต.หนองตีนนก อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา อ.พานทอง จ.ชลบุรี กลุ่มเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา กลุ่มชาวบ้านต.หนองแหน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา กลุ่มอนุรักษ์อ่าวบางละมุง กลุ่มประมงพื้นบ้านแหลมฉบัง อ่าวนาเกลือ และอ่าวอุดม อ.บางละมุง อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี และกลุ่มชาวบ้าน อ.แกลง อ.เขาชะเมา จ.ระยอง ราว 150 คนร่วมเรียกร้องในครั้งนี้

อีอีซี ยัน ผังที่ดินเน้นประโยชน์สูงสุดกับประชาชน

ด้าน นางสาวทัศนีย์ เกียรติภัทราภรณ์ รองเลขาธิการสายงานพัฒนาพื้นที่และชุมชน สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือ อีอีซี รับหนังสือจากกลุ่มเครือข่ายเพื่อนตะวันออก กล่าวชี้แจง แก่วาระเปลี่ยนตะวันออก ประเด็นการจัดทำผังการใช้ประโยชน์ในที่ดินของเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก โดยมีรายละเอียดสำคัญที่มีการชี้แจงอย่างชัดเจนผ่าน หนังสือเครือข่ายเพื่อนตะวันออก วาระเปลี่ยนตะวันออก ฉบับลงวันที่ 8 กรกฎาคม 2562 ตามเอกสารแนบท้าย

ทั้งนี้ การจัดทำแผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดินของ “อีอีซี” กรมโยธาธิการและผังเมือง องค์กรหลัก ในการจัดทำผังเมืองทั่วประเทศและเป็นหน่วยงานหลักที่ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการจัดทำแผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดินของเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกนั้น ทาง “อีอีซี” ได้นำหลักวิชาการของผังเมืองมาใช้ในการจัดวางผัง โดยคำนึงถึงความสัมพันธ์ ของชุมชน สภาพแวดล้อม และระบบนิเวศน์ สุขภาวะประชาชน เป็นหลัก ในการพัฒนาอย่างยั่งยืน เป็นเป้าประสงค์หลักตามพระราชบัญญัติอีอีซี ซึ่งจะเป็นเป็นผังแรกของการใช้ประโยชน์ที่ดินครอบคลุมในหลายมิติ ให้เกิดเป็นประโยชน์สูงสุดกับประชาชนในพื้นที่ และเป็นต้นแบบของผังการใช้ประโยชน์ที่ดินในกลุ่มจังหวัดอื่นๆในอนาคตต่อไป

ในส่วนของ พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561 กำหนดให้ความสำคัญกับประชาชนและการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมีสาระหลักในการจัดวางผังการใช้ประโยชน์บนที่ดินสูงสุด ดังนี้ 1.) การกันพื้นที่ป่าไม้และกำหนดระยะห่างจากป่าไม้ไม่น้อยกว่า 1 กิโลเมตร ห้ามตั้งโรงงาน 2.) กันที่ดินประเภทที่โล่งเพื่อรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม และกำหนดระยะห่างจากริมฝั่งตามสภาพธรรมชาติของแม่น้ำ หรือ ลำคลอง ไม่น้อยกว่า 500 เมตร ห้ามตั้งโรงงาน 3) กำหนดประเภทการใช้ที่ดินอย่างสอดคล้องเหมาะสม โดยพื้นที่ส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ 78 ของพื้นที่ทั้งหมด ได้ถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่สีเขียว พื้นที่เกษตรกรรมและพื้นที่อนุรักษ์
นอกจากนี้ ทาง“อีอีซี” ยังเปิดโอกาสให้ชุมชนได้มีส่วนร่วมในการรับฟังและออกความคิดเห็นแล้ว ถึง 40 ครั้ง โดยมีหน่วยงานทั้งจาก (สกพอ.) และกรมโยธาธิการและผังเมือง (ยผ.) ชี้แจงและไขข้อข้องใจกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทั้งประชาชน ชุมชนที่เกี่ยวข้อง และหน่วยงานในพื้นที่โดยตลอด 2 ปีที่ผ่านมา รวมถึงการจัดเวทีเสวนารับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ อย่างเป็นทางการกว่า 25 ครั้งและเวทีที่ไม่เป็นทางการกว่า15 ครั้ง รวมไม่ต่ำกว่า 40 ครั้ง ซึ่งได้นำความคิดเห็นและข้อเสนอแนะมาปรับปรุงแก้ไข แผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างมีประสิทธิภาพ ให้สอดคล้องกับความต้องการของพื้นที่ให้ดี และเกิดประโยชน์สูงสุดกับชุมชนให้ดียิ่งขึ้น
​นอกจากนี้ ยังได้ตอบ 8 ประเด็นคำถาม ของกลุ่มเครือข่าย ฯ ที่ได้มีหนังสือสอบถามเข้ามายังสำนักงานฯ โดยได้ชี้แจงรายละเอียดตอบทุกประเด็นคำถามอย่างครบถ้วน

Related Articles

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button