เศรษฐกิจ

“ไทย” ควรริเริ่มความร่วมมือใหม่ๆ เพื่อความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจของภูมิภาค APEC หยุดยั้งปัญหาวิกฤตการณ์ขาดแคลนอาหารโลกได้ ลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ รวมพลังแก้ปัญหาภาวะโลกร้อน

รศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ กรรมการวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ร่วมบรรยายในงานเสวนาทางวิชาการ “เอเปค-ประเทศไทย 2022 : ความมุ่งหมาย ความสำเร็จและผลประโยชน์สังคมไทย” ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดโดย วิทยาลัยนานาชาติปรีดี และ เครือมติชน ว่า พลวัตของเอเปคและบทบาทของเอเปคต่อเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจภูมิภาคนั้นได้มีการเปลี่ยนแปลงมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่มีการก่อตั้งในปี ค.ศ. 1989 โดยออสเตรเลียเป็นตัวตั้งตัวตีในระยะแรก ด้วยการสนับสนุนของสหรัฐอเมริกา และ ญี่ปุ่น ส่วนอาเซียนเสียงแตก สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่นต้องการเร่งกระบวนการเปิดเสรี (Liberalization Process) จีนและสมาชิกอาเซียนส่วนใหญ่ต้องการชะลอกระบวนการเปิดเสรี และต้องการเน้นให้เกิดความช่วยเหลือระหว่างประเทศในด้านต่างๆ การเร่งรัดให้มีการเปิดกว้างและเปิดเสรีเกิดขึ้นมากในช่วงเศรษฐกิจฟองสบู่ ไม่ว่าจะเป็นการประชุมที่ Seattle, Bogor and Osaka, Vancouvers ช่วงเกิดวิกฤติเศรษฐกิจไม่ว่าจะเป็น วิกฤตการณ์เศรษฐกิจการเงินเอเชียหรือวิกฤติต้มยำกุ้ง ปี ค.ศ. 1997 วิกฤตการณ์สินเชื่อซับไพร์ม ค.ศ. 2008 วิกฤตการณ์เศรษฐกิจโควิด-19 ค.ศ. 2020 กระแสการเปิดเสรีชะลอลง หลายประเทศหันมาปกป้องตลาดภายในและเกิดกระแสลัทธิปกป้องการค้าและชาตินิยมทางเศรษฐกิจ รวมทั้งการกีดกันทางการค้า โดยเฉพาะในยุคประธานาธิบดีทรัมป์ได้เกิดสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา สถานการณ์ล่าสุด ความตึงเครียดทางการค้าและความสัมพันธ์ระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกาดีขึ้น แต่ความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับสหรัฐอเมริกาถดถอยลงตามลำดับ เขตเศรษฐกิจเหล่านี้ล้วนอยู่ในกลุ่มเอเปคและผู้นำเขตเศรษฐกิจไม่ได้มาประชุมเองส่งผู้แทนมา ยกเว้นจีนที่ประธานาธิบดีจีน สี จิ้น ผิง เดินทางมาร่วมประชุมเอง

ดร. อนุสรณ์ กล่าวอีกว่า เอเปคมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจโลกมาก เป็นภูมิภาคที่มีอัตราการเติบโตสูงที่สุดและต่อเนื่องหลายทศวรรษ สมาชิก 21 เขตเศรษฐกิจ มีขนาดของ GDP และ ปริมาณการค้าเกิน 50% ของโลก มีประชากร 1 ใน 3 ของโลก มหาอำนาจทางเศรษฐกิจอยู่ในเอเปค ประชากรมากกว่า 2,700 ล้านคนที่มีกำลังซื้อ ทำให้เศรษฐกิจเอเปคสามารถฟื้นเศรษฐกิจโลกได้ ความสัมพันธ์สี่เส้าของมหาอำนาจในเอเปค ความขัดแย้งระหว่าง สหรัฐอเมริกา จีน รัสเซีย ญี่ปุ่น ส่งผลต่อพลวัตของ APEC ในอนาคตและระบบโลกโดยรวม บทบาทของ APEC ในการเป็นเวทีเจรจาเปิดเสรีทางเศรษฐกิจอาจจะลดลงเรื่อยๆ APEC อาจจะเป็นองค์กรคล้ายๆ OECD คือ เน้นส่งเสริมการค้า (Trade Facilitation) และ ความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจและวิชาการมากกว่า

APEC Bogor ยังไม่บรรลุเป้าหมายตามที่ตั้งเป้าเอาไว้ แต่มีความคืบหน้าในหลายเขตเศรษฐกิจ (การเปิดเสรี การพัฒนาอย่างยั่งยืน การเติบโตอย่างเท่าเทียม) โอกาส หรือ ความเสี่ยงของไทยขึ้นอยู่กับยุทธศาสตร์ของไทยต่อ APEC เป็นอย่างไร สอดรับกับสถานการณ์และพลวัตต่างๆหรือไม่ และอยู่ที่วิสัยทัศน์และเป้าหมายนโยบายต่างประเทศ นโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศของไทย นโยบาย APEC หรือ นโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศถูกครอบงำโดยกลุ่มทุนขนาดใหญ่และกลุ่มชนชั้นสูง จนประชาชน พรรคการเมือง องค์กรภาคประชาชนไม่มีส่วนร่วมมากนัก APEC 2022: เน้นการเปิดกว้าง การเชื่อมโยงและความสมดุล (Open. Connect. Balance.) แต่การเปิดกว้างนั้นถูกตั้งคำถามว่า เปิดโอกาสให้ทุนใหญ่ มากกว่า ทุนเล็กทุนน้อย จึงเป็นการเปิดโอกาสที่ไม่เท่าเทียม มีการเชื่อมโยงมากขึ้นทั้งระดับรัฐต่อรัฐ เอกชนกับเอกชน แต่ภาคประชาชนยังเชื่อมโยงกันน้อย ผู้นำเขตเศรษฐกิจสำคัญก็ไม่มาประชุมเองในครั้งนี้ ทำให้การประชุมเอเปค-กรุงเทพฯ 2022 มีความสำคัญลดลง ส่วนเรื่องความสมดุลนั้น เอเปคควรต้องเพิ่มมิติทางด้านสังคม สิ่งแวดล้อมและมิติทางการส่งเสริมคุณค่าประชาธิปไตยมากขึ้น

รศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ กรรมการวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้กล่าวถึง ประเด็น Strategy Dependency ของไทยว่า ไทยควรมียุทธศาสตร์ในสร้างดุลอำนาจทางเศรษฐกิจ ดุลการเมืองให้เข้มแข็งกว่าเดิมในเวทีระหว่างประเทศได้อย่างไร ที่ผ่านมาเราใช้ยุทธศาสตร์แบบพึ่งพิงมหาอำนาจมาโดยตลอด ไทยได้นำโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy Model หรือ BCG Model) มาเป็นแนวคิดหลักเพื่อขับเคลื่อนประเด็นที่จะผลักดันการเป็นเจ้าภาพเอเปคในครั้งนี้ถือว่า เป็นเรื่องที่น่าสนใจว่าจะทำให้เกิดพลังความร่วมมือระหว่างประเทศอย่างเป็นรูปธรรมได้อย่างไร

รศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ กล่าวอีกว่า ไทยควรผลักดันความร่วมมือผ่าน APEC เพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤตการณ์อาหารโลก ก่อนหน้านี้ โลกได้รับผลกระทบจากสงครามปูตินยูเครนจนทำให้ 30 กว่าประเทศระงับการส่งออกอาหาร ว่า ผลกระทบสงครามระบอบปูตินรัสเซียกับยูเครนทำให้ราคาพลังงานที่พุ่งสูงขึ้น เกิดการขาดแคลนปุ๋ยและวัตถุดิบอาหาร การเก็งกำไรในตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ซื้อขายล่วงหน้า การชะงักงันของการขนส่งและห่วงโซ่อุปทาน การกีดกันการค้าสินค้าเกษตรด้วยระบบโควต้า และ ระงับการส่งออก ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ราคาอาหารพุ่งสูงขึ้น เกิดภาวะการขาดแคลนอาหารในประเทศที่ต้องนำเข้าอาหารจำนวนมาก การจำกัดและระงับการส่งออกอาหารในประเทศต่างๆกว่า 30 ประเทศแก้ปัญหาภายในประเทศตัวเองแต่ทำให้ปัญหาวิกฤตการณ์อาหารโลกมีความซับซ้อนมากขึ้น ต้นทุนการแก้ปัญหาสูงขึ้นและไม่เกิดประสิทธิภาพ สงครามทำให้พื้นที่การผลิตข้าวสาลีและธัญพืชได้รับความเสียหาย และ ไม่สามารถทำการเพาะปลูกได้ รวมทั้งไม่สามารถส่งออก โดยรัสเซียกับยูเครนเป็นสองประเทศที่มีมูลค่าการส่งออกข้าวสาลีประมาณ 25-30% ของมูลค่าการค้าข้าวสาลีทั่วโลก การผลักดันประเด็นเรื่องการแก้ปัญหาวิกฤตการณ์อาหาร จะเป็นประโยชน์ของไทยและภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค

ดร. อนุสรณ์ กล่าวต่อว่า ปัญหาวิกฤติโลกร้อนที่รุนแรงขึ้น และก่อให้เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติมากขึ้นเรื่อยๆ เวทีเอเปคควรมีข้อตกลงเพื่อดำเนินการร่วมกันในการแก้ปัญหาเรื่องนี้ในเชิงรุก เช่นเดียวกับการยืนยันประเด็นการร่วมกันสร้างสันติภาพและเสถียรภาพ เรื่องบูรณภาพแห่งดินแดนและต่อต้านการใช้กองกำลังทหารบุกรุกประเทศอื่น นอกจากนี้ เอเปคควรเป็นเวทีในการหารือสร้างกลไกการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ การเคลื่อนย้ายและตั้งถิ่นฐานใหม่ ที่นำมาสู่การลดความเหลื่อล้ำทางเศรษฐกิจ ขณะเดียวกัน ไทยควรใช้โอกาสในฐานะเจ้าภาพประชุมเอเปคในการริเริ่มความร่วมมือใหม่ๆเพื่อความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจที่เป็นธรรมและเสถียรภาพของภูมิภาค และโครงการที่เป็นรูปธรรมที่ทำให้เกิด Physical and Logistic Infrastructure Connectivity, Supply Chain Connectivity, Digital Connectivity และ ความเชื่อมโยงระหว่างประชาชนกับประชาชนของภูมิภาคเอเปค

Related Articles

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button