ควันหลงการประชุม APEC 2022
ผู้เขียนมีโอกาสได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกับเพื่อนๆ เรื่องพลังงานสะอาดที่ภาครัฐ และเอกชนกำลังเอาจริงเอาจังกับเรื่องนี้ ก็เลยพอมีข้อมูลจะนำมาแลกเปลี่ยนกันครับ
แต่เวทีประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค APEC 2022 ที่ปิดฉากลง เห็นประเทศไทยเราโดดเด่นขึ้นมาหลายเรื่อง เลยอดใจที่จะเขียนถึงไม่ได้ ผู้เขียนเลยเปลี่ยนใจหยิบเอาประเด็นเอเปคมาพูดคุยกันแทน แต่เรื่องที่เตรียมเอาไว้ยังไม่ได้ Delete นะครับ ติดตามกันตอนต่อไปได้ครับ
การจัดประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคได้จบลงไป สิ่งหนึ่งที่เห็นประเทศไทยได้แสดงศักยภาพของตัวเองออกมาโดดเด่นมากเรื่องเศรษฐกิจ BCG และมีหลายเวทีในการเจรจาแบบทวิภาคีกับหลายๆ ประเทศก็จะมีการหยิบยกเรื่งนี้ขึ้นมาร่วมมือกันเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ จนในที่สุดได้นำไปสู่การประกาศ BCG Model (Bangkok Goals on BCG-Economy) ซึ่งผู้นำเอเปกจากทุกเขตเศรษฐกิจได้ร่วมรับรองเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และเชื่อว่าในอนาคตเศรษฐกิจ BCG จะสร้างรายได้ให้กับประเทศเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน
ขอขยายความต่อนิดเดียวครับ โมเดลเศรษฐกิจ BCG ที่ว่านี้ คนไทยเราคุ้นหูกันดีอยู่แล้ว อันหมายถึง เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และ (Green Economy) และได้นำมาเป็นเป้าหมายของเอเปคเพื่อวางรากฐานในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกอย่างครอบคลุม ยั่งยืน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบด้วย ผ่านความร่วมมือกัน 4 ด้าน ได้แก่ 1. การจัดการกับปัญหาสภาพภูมิอากาศ/การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ 2. การค้าและการลงทุนที่ยั่งยืน 3. การบริหารจัดการทรัพยากรยั่งยืนและอนุรักษ์ ความหลากหลายทางชีวภาพ และ 4. การลดและบริหารจัดการของเสีย
ในบ้านเราก็มีการลงทุนด้าน BCG ที่หลากหลายอยู่แล้วครอบคลุมทั้งภาคอุตสาหกรรม การเกษตร และบริการ มีตัวเลขยืนยันจากศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ด้วยว่าจากนี้ไปจะมีการลงทุนด้าน BCG เกิดขึ้นมากกว่า 6 แสนล้านบาท ไม่ว่าจะเป็นภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรม ป่าไม้ ปศุสัตว์ เหมืองแร่ ก๊าซธรรมชาติ ขนส่ง บริการธุรกิจ และค้าส่งค้าปลีก รวมถึงที่พักด้วย ซึ่งจะกลายเป็นเครื่องยนต์ในการกระตุ้นเศรษฐกิจก่อให้เกิดการจ้างงานหลังโควิดคลี่คลาย
มองไปดูภาคการส่งออกไปยุโรปก็เริ่มเห็นรอยยิ้มที่มุมปากของผู้ส่งออกกัน หลังการเจรจาทวิภาคีไทยกับฝรั่งเศส ไทยได้ปรับนโยบายที่เน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนผ่านโมเดลเศรษฐกิจ BCG สอดคล้องกับแผนปฏิรูปสีเขียวของ EU ทำให้เห็นโอกาสส่งออกสินค้าสิ่งแวดล้อมและการลงทุนในธุรกิจสีเขียวของประเทศไทย
ประเทศอื่นๆ ที่เข้าร่วมประชุมเอเปค ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ ฝรั่งเศส นิวซีแลนด์ ฟิลิปปินส์ เปรู และชิลี ต่างก็มุ่งไปสู่นโยบายอุตสาหกรรมสีเขียวเหมือนกัน อย่างเช่นสหรัฐฯ ได้ลงนามรัฐบัญญัติ Inflation Reduction Act เป็นการลงทุนด้านพลังงานยั่งยืนและโซลูชันอื่นๆ เป็นจำนวน 369,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนในต่างประเทศ มุ่งมั่นไปสู่การดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง
กลับมาที่เวทีการประชุมเอเปคครั้งนี้ ประเทศไทยก็มีการ showcase การร่วมมือแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมเหมือนกัน เป็นการจัดการขยะเพื่อเป็นการส่งข้อความถึงโลกว่าปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมไม่ใช่ปัญหาของประเทศใดเพียงหนึ่งประเทศ แต่เป็นปัญหาสังคมของโลก ด้วยการจัดพื้นที่ศูนย์แถลงข่าว ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ลดคาร์บอนไดออกไซด์ มีการคัดแยกขยะเพื่อลดคาร์บอนฟุตปริ้น และขยะที่เกิดขึ้นภายในงานนี้ก็จะนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป
ถ้าเป็นจำพวกกระดาษเอกสารก็จะนำไปทำชั้นวางหนังสือให้กับโรงเรียนที่อยู่ห่างไกล ส่วนภาชนะจำพวกแก้วพลาสติก ขวดพลาสติก จะนำไปทำเป็นไฟเบอร์ หรือ ผ้า และที่น่าสนใจมากๆ ห้องทำงานของสื่อมวลชนกำหนดให้เป็นเขตปลอดโฟมด้วย เสมือนเป็นการส่งข้อความผ่านสื่อให้ทั่วโลกได้รู้ว่าประเทศไทยเราตระหนักในการปัญหาขยะ และพลาสติกกันขนาดไหน
และเรื่องนี้ทางกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ก็ได้มีการออกระเบียบและข้อกำหนดในการจัดการขยะ อาทิ การยกเลิกการใช้กล่องโฟม การงดใช้ถุงพลาสติกตามห้างสรรพสินค้า ซูปเปอร์มาร์เกต แม้แต่ร้านสะดวกซื้อ ทำให้ลดปริมาณขยะลดไปจำนวนมาก
ประเทศไทยกำลังเดินทางมุ่งสู่การบริหารจัดการขยะอย่างเต็มรูปแบบ ขอเป็นกำลังใจให้กับคนไทยทุกคนในการจะร่วมมือร่วมใจพากันไปในทิศทางนี้ครับ
ก่อนจากกันไม่ลืมพูดถึงภาคเอกชนที่ทำให้การประชุมเอเปคสำเร็จด้วยดี การรวมตัวกันในนาม กกร. ทั้งสภาหอการค้า สภาอุตสาหกรรม สภาธนาคาร ต่างทำงานกันอย่างหนัก ทำให้การจัดงาน APEC CEO SUMMIT ประสบความสำเร็จอย่างที่เห็นกัน แต่เบื้องหลังกว่าจะเห็นภาพผู้นำ 21 เขตเศรษฐกิจมายืนจับมือกันนั้นไม่ง่ายเลยครับ เพราะมีเรื่องการเปลี่ยนแปลงการเดินทางของผู้นำตลอดเวลา ซึ่งเป็นเรื่องละเอียดอ่อนจากความขัดแย้งทางการเมืองโลก
รวมถึงการได้ผู้นำ 7 ประเทศ ไม่ว่าจะเป็น นิวซีเเลนด์ ฝรั่งเศส ฟิลิปินส์ เปรู ชิลี เวียดนาม มาเป็น Speaker ได้มาเเชร์มุมมองสันติภาพของโลก และยังได้กูรูปรมาจารย์นักเศรษฐศาสตร์ของโลกมาเเสดงความคิดเห็นของ Global Economic ปัญหาเงินเฟ้อที่จะเผชิญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เเละหนทางความร่วมมือที่จะให้หลุดพ้นปัญหาที่ทุกประเทศจะต้องร่วมมือกัน งานนี้ทำให้ได้รับความสนใจจากภาคธุรกิจจากทั่วทุกมุมโลกเข้าฟังกว่า 900 คนเลยทีเดียว เรื่องนี้ต้องให้เครดิตคนที่อยู่เบื้องหลังจริงๆ ครับ
พบกันใหม่โอกาสหน้าครับ