กทพ. จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็น โครงการทางพิเศษยกระดับชั้นที่ 2 “งามวงศ์วาน-พระราม 9”
การทางพิเศษแห่งประเทศไทย จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 1 (ปฐมนิเทศโครงการ) โครงการทางพิเศษยกระดับชั้นที่ 2 (งามวงศ์วาน-พระราม 9) ภายใต้งานศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการแก้ไขปัญหาการจราจรบนโครงข่ายทางพิเศษ ระยะที่ 1
การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 1 (ปฐมนิเทศโครงการ) โครงการทางพิเศษยกระดับชั้นที่ 2 (งามวงศ์วาน-พระราม 9) ภายใต้งานศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการแก้ไขปัญหาการจราจรบนโครงข่ายทางพิเศษ ระยะที่ 1 เมิ่อวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565 ณ ห้องแกรนด์บอลรูม ชั้น 3 โรงแรมโกลเด้น ทิวลิป ซอฟเฟอริน กรุงเทพมหานคร โดยมีนายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษ-แห่งประเทศไทย เป็นประธานการประชุม
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอความเป็นมาของโครงการ วัตถุประสงค์ในการพัฒนาโครงการ ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการพัฒนาโครงการ ขอบเขตการศึกษา ตลอดจนข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับโครงการ พร้อมกันนี้ ได้เปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องที่ได้เข้าร่วมประชุมร่วมแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับร่างข้อเสนอโครงการ ขอบเขตการศึกษา และการประเมินทางเลือกโครงการ เพื่อนำไปพิจารณาประกอบการศึกษาให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข กล่าวว่า ปัจจุบัน กทพ. อยู่ระหว่างศึกษาแนวทางการดำเนินการที่เหมาะสมและเป็นไปได้ของโครงการก่อสร้างทางด่วนชั้นที่ 2 เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรบนทางพิเศษศรีรัช ช่วงงามวงศ์วาน-พญาไท-พระราม 9 ซึ่งประสบปัญหาการจราจรอย่างหนักเข้าขั้นวิกฤตทั้งในและนอกช่วงเวลาเร่งด่วน เนื่องจากต้องรับภาระด้านการจราจรทั้งหมดจากความต้องการเดินทางในแนวตะวันออก-ตะวันตก และแนวเหนือ-ใต้บนโครงข่ายทางพิเศษในพื้นที่กรุงเทพมหานครชั้นในและชั้นกลาง โดยพื้นที่ศึกษาของโครงการครอบคลุมพื้นที่บางส่วนใน 2 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนนทบุรี จำนวน 1 อำเภอ คือ อำเภอเมืองนนทบุรี และกรุงเทพมหานคร จำนวน 7 เขต ได้แก่ เขตบางซื่อ เขตจตุจักร เขตพญาไท เขตดุสิต เขตราชเทวี เขตดินแดง และเขตห้วยขวาง โดยมีระยะเวลาการศึกษาโครงการประมาณ 450 วัน โดยเริ่มการศึกษาตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2565 และจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเป็นระยะ ๆ อย่างต่อเนื่อง ตลอดระยะเวลาที่ดำเนินการศึกษา เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลข่าวสารของโครงการอย่างถูกต้อง ครบถ้วน และได้มีส่วนร่วมในการให้ข้อมูลข้อคิดเห็นข้อเสนอแนะ ซึ่งโครงการจะได้นำไปพิจารณาประกอบการศึกษาและพัฒนาโครงการให้มีความเหมาะสมและครบถ้วนสมบูรณ์ต่อไป
การทางพิเศษฯ มุ่งหวังให้โครงการฯ นี้ ได้มีบทบาทในการแก้ไขปัญหาการจราจรบนโครงข่ายทางพิเศษอย่างมีประสิทธิภาพ ลดระยะเวลาการเดินทาง และเพิ่มคุณค่าให้กับคุณภาพชีวิต ดังวิสัยทัศน์ของ กทพ. ที่ว่า องค์กรนวัตกรรมเพื่อการเดินทางและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น Innovation for Better Drive and Better Life