วิศวฯจุฬาฯ จับมือ กลุ่มบี ปิโตรไทย ลงนามความร่วมมือทางวิชาการ ต่อยอดการบริหารจัดการทางวิศวกรรม
คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ กลุ่มบริษัท บี ปิโตรไทย (บริษัท ปิโตรไทย จำกัด) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ การถ่ายทอดองค์ความรู้ ต่อยอดการบริหารจัดการทางวิศวกรรม (Engineering Management) ของระบบบริหารอุปกรณ์ เครื่องมือ การบำรุงรักษา การบริหารการปิดซ่อมสายการผลิต อะไหล่คงคลังด้านวิศวกรรมในระบบการผลิต (Manufacturing Systems) ที่คำนึงถึง ความต้องการและวงจรชีวิตอุปกรณ์ (Equipment Life cycle) ทางด้านวิศวกรรม ที่สามารถนำไปสู่ การจัดการอะไหล่คงคลังเป็นศูนย์ (Zero Inventory) เพื่อลดต้นทุนและความเสี่ยงให้แก่ องค์กร ลูกค้า และคู่ค้าพันธมิตร
ศาสตราจารย์ ดร. สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า “การดำเนินธุรกิจในโลกยุคปัจจุบันนั้น เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว และถูก Disrupt อย่างต่อเนื่อง การบริหารจัดการทางวิศวกรรม รวมถึงการบริหารสินค้าคงคลังด้านวิศวกรรมในระบบการผลิต จึงเป็นทักษะสำคัญ ที่จะช่วยให้องค์กรต่างๆ บริหารจัดการต้นทุนการดำเนินการได้อย่างเหมาะสม การที่เราได้จับมือกับ ผู้ที่มีประสบการณ์ในการทำงานจริง จะช่วยให้นิสิตเรียนรู้หลักการ และเอาไปปรับใช้ในอนาคต เพื่อให้ประสบความสำเร็จได้”
คุณกิจจา จำนงค์อาษา ผู้ก่อตั้งกลุ่มบริษัท บี ปิโตรไทย กล่าวว่า “กลุ่มบริษัทบี ปิโตรไทย สร้างและสะสมองค์ความรู้ จากประสบการณ์การทำงานในอุตสาหกรรมนี้มากว่า 40 ปี เราผ่านการปรับตัว และพัฒนาแนวทางการบริหารจัดการ จนตกผลึก เราเชื่อว่าการถ่ายทอดองค์ความรู้ครั้งนี้จะเป็นการร่วมมือกันต่อยอด ระหว่างกลุ่มบริษัท และคณะวิศวกรรมศาสตร์ ที่จะช่วยกันส่งเสริมให้เกิด Ecosystem ที่มีทรัพยากรบุคคล ที่มีความพร้อมในการผลักดันให้องค์กรต่างๆ สามารถปรับตัวเป็น Innovative Driven Enterprise ที่อยู่ในยุค Digital Disruption ได้”
คุณอาริยทัศน์ ศุทธชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท บี ปิโตรไทย กล่าวว่า “นโยบายของกลุ่มบริษัท บี ปิโตรไทย คือการสร้างความสำเร็จร่วมกันของทุกภาคส่วน ซึ่งจะนำพาสู่การพัฒนาร่วมกันอย่างยั่งยืน บี ปิโตรไทยได้พัฒนาการบริหารจัดการด้านวิศวกรรมมายาวนาน เพื่อประโยชน์สูงสุดของลูกค้า โดยเฉพาะในภาคปฏิบัติ องค์ความรู้เหล่านี้เราหวังว่าจะส่งต่อให้ภาคการศึกษา เพื่อร่วมกันพัฒนาต่อยอดให้ดียิ่งขึ้น การร่วมมือกันด้านวิชาการในเบื้องต้นกับภาควิชาอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์เพื่อเข้ามารับทราบวิธีการจัดการด้านวิศวกรรมของบริษัท มิได้เป็นการมอบความรู้ให้ภาคการศึกษาแต่เพียงอย่างเดียว ในทางกลับกันกลับเป็นการกระตุ้นต่อยอดการพัฒนาองค์ความรู้ของบริษัทให้ก้าวหน้าขึ้นไปอีก นับเป็นประโยชน์ที่เกิดร่วมกันของภาคเอกชนและมหาวิทยาลัย”
ที่ผ่านมากลุ่มบริษัท บี ปิโตรไทย ได้มีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และนำเสนอเทคโนโลยีในระบบการผลิต (Manufacturing Systems) ร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาอย่างต่อเนื่อง การลงนามความบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการในครั้งนี้ จึงเป็นอีกจุดเริ่มต้นที่ช่วยเชื่อมโยง ให้ทั้งสองหน่วยงานร่วมกันพัฒนา ต่อยอดองค์ความรู้ที่จะส่งต่อให้กับบุคลากรรุ่นใหม่ของชาติ ให้เกิดเป็น รูปธรรมขึ้นต่อไป