“ทิพย” สืบสานรักษาต่อยอดนวัตกรรมศาสตร์พระราชา ครั้งที่ 23
ก้าวตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน SDGs ครั้งแรกในโครงการศิลปาชีพในพระพันปีหลวง สนับสนุนซอฟท์พาวเวอร์ “ทิพย” สืบสานรักษาต่อยอดนวัตกรรมศาสตร์พระราชา ครั้งที่ 23
เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ หรือ UN Sustainable Development Goals: SDGs 17 ข้อ มุ่งหวังจะช่วยแก้ปัญหาต่างๆที่โลกกำลังเผชิญอยู่ เช่นความยากจน ความหิวโหย ความไม่เท่าเทียมกัน การขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติ สภาวะโลกร้อน เป็นต้น เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับทุกคนในสังคมที่ต้องช่วยกันรับผิดชอบและเยียวยา เพื่อให้เราทุกคนสามารถบรรลุตามแผนที่กำหนดเป้าหมายสู่ความยั่งยืนที่ทุกประเทศทั่วโลกต้องบรรลุภายในปี 2030
โครงการทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอดนวัตกรรมศาสตร์พระราชา เดินทางตามเป้าหมายการพัฒนาสู่ความยั่งยืน มาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ ปี 2561 – จนถึงปัจจุบัน เป็นการส่งเสริมการคิดค้นนวัตกรรม กระบวนการเรียนรู้ ตามรอยพระราชา The King’s Journey และการถ่ายทอดการบูรณาการศาสตร์ต่างๆ การถอดรหัสพระอัจฉริยภาพของในหลวงรัชกาลที่ 9 กับการเชื่อมโยงนโยบาย Sustainable Development Goals เป้าหมายความยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ โดยเป็นการบูรณาการกระบวนการออกแบบกิจกรรม เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจ สามารถถ่ายทอด “ศาสตร์พระราชา”ที่สร้างแรงบันดาลใจ เกิดพลังการเรียนรู้จากประสบการณ์จริง พร้อมกับการปลูกฝังคุณธรรม 5 ประการ พอเพียง วินัย สุจริต จิตอาสา และกตัญญู มาสู่กระบวนการถอดรหัสนวัตกรรมศาสตร์พระราชา ด้วยบอร์ดเกม โดยสอดแทรกการพัฒนาที่ยั่งยืน ด้วยหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยอาศัยหลักภูมิปัญญาและความซื่อสัตย์สุจริตตลอดจนหลักการเดินทางสายกลาง ความสมเหตุสมผลและความรอบคอบตามแนวคิดของในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งถือเป็นการดำเนินการที่สอดคล้องตามกรอบแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 “พลิกโฉมประเทศไทย สู่เศรษฐกิจสร้างคุณค่า สังคมเดินหน้า อย่างยั่งยืน” (Transformation to Hi-Value and Sustainable Thailand)
โดยจัดทำกิจกรรมในรูปแบบการลงพื้นที่จริงในโครงการพระราชดำริ ที่มีอยู่มากกว่า 4,800 โครงการทั่วประเทศ และการอบรมเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับกลุ่มเป้าหมาย ที่ประกอบด้วยครูอาจารย์ทั่วประเทศ หน่วยงานภาครัฐ และหน่วยงานภาคเอกชน ตลอดจนการสร้างหลักสูตร เพื่อการขยายผล และกิจกรรม สร้างวิทยากรให้สามารถถ่ายทอดองค์ความรู้สู่สากลเป็นประโยชน์แก่ชุมชนและสังคมโลกได้ เพื่อเป็นการส่งเสริมพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่ และปราชญ์ชาวบ้านในแหล่งเรียนรู้ ให้เป็นวิทยากรส่งเสริมคุณธรรม “ตามรอยพระราชา”
ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของในหลวงรัชกาลที่ 9 และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการทรงงานเพื่อพัฒนาความเป็นอยู่ของพสกนิกรให้มีความสุขและมีความเป็นอยู่ที่ดี ทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา ครั้งที่ 23 จึงได้จัดการลงพื้นที่ดูงาน เป็นครั้งแรก ณ ศูนย์ศิลปาชีพ สีบัวทอง จ.อ่างทอง ซึ่งให้ความสำคัญต่อการดูแลรักษาสังคม สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีของไทยที่มีมาแต่โบราณที่ยังคงดำรงไว้สู่บรรพชนรุ่นลูกหลาน โดยมีกิจกรรมการเรียนรู้ในเรื่องของศิลปวัฒนธรรมที่เป็นรากเหง้าของคนไทย สามารถส่งต่อตกทอดเป็นอาชีพเพื่อเลี้ยงดูครอบครัว อาทิ การทำหัวโขนจากกระดาษข่อย งานปั้นเครื่องปั้นดินเผา และงานเซรามิก ที่เป็นที่ชื่นชอบของนักท่องเที่ยว นอกจากนี้ยังมีการเรียนรู้วิธีการทอผ้าแบบโบราณ และการปักผ้าไหม เพื่อนำไปประกอบเป็นชุดโขน ที่จัดแสดงโขนพระราชทานในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิต์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เมื่อเร็วๆ นี้
เวิร์คช็อปที่เป็นที่ชื่นชมของครูอาจารย์อย่างมาก คือ กิจกรรมถอดรหัสนวัตกรรมศาสตร์พระราชา เรียนรู้นวัตกรรมสื่อการเรียนรู้สำหรับเยาวชนในศตวรรษที่ 21 Interactive Board Game จากวิทยากร อาจารย์ อดุลย์ ดาราธรรม นายกสมาคมนักเรียนเก่า AFS ประเทศไทย พร้อมการฟังบรรยายจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ อาทิ รศ. นพ. สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) ในหัวข้อ “คุณธรรมในยุคดิจิทัล” ดร. ดนัย จันทร์เจ้าฉาย ประธานมูลนิธิธรรมดี ในหัวข้อ “ถอดรหัสพระอัจฉริยะภาพในหลวงรัชกาลที่ 9” เพื่อนำไปพัฒนาหลักสูตรการเรียนรู้สำหรับเยาวชนคนรุ่นใหม่และการพัฒนานวัตกรรมแบบก้าวกระโดดสำหรับองค์กรต่อไป
ดร.ดนัย จันทร์เจ้าฉาย ประธานมูลนิธิธรรมดี กล่าวว่า “การกำหนดทิศทางการพัฒนาบุคลากร สังคม และประเทศ บนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลก (Sustainable Development Goals: SDGs) จะเป็นจุดเริ่มต้นในการที่จะนำพาประเทศไทยไปสู่การเป็นประเทศที่เศรษฐกิจมีความเจริญเติบโตท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงควบคู่ไปกับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม เพื่อการใช้ประโยชน์อย่างสมดุลในระยะยาว อีกทั้งการสนับสนุนกิจกรรมทางวัฒนธรรมเพื่อให้เป็น Soft Power พลังแห่งการสร้างสรรค์เป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ ส่งให้ประเทศไทยสามารถเสริมสร้างความเข้มแข็งจากภายในสามารถเติบโตต่อไปได้อย่างมั่นคง ช่วยให้บรรลุเป้าหมายระยะ 20 ปี ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ตามกรอบระยะเวลาที่คาดหวังไว้ได้ ”
ด้าน นางวิชชุดา ไตรธรรม ที่ปรึกษากรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) กล่าวเพิ่มเติมว่า “การน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้กับวิถีชีวิตของเรา เป็นการดำรงชีวิตในความพอดี มีแนวทางการพัฒนาที่เน้นความสมดุล ความพอประมาณ มีเหตุผล การที่ครูอาจารย์ได้มีโอกาสเข้ามาเรียนรู้ และลงมือทำกิจกรรมกับโครงการในพระราชดำริต่างๆ ช่วยให้เกิดการสร้างสรรค์ความรู้และนวัตกรรมที่เอื้อต่อความก้าวหน้าในการพัฒนา ทิพยประกันภัยเราพร้อมที่จะร่วมสนับสนุนเพื่อพัฒนาศักยภาพของคนในประเทศ ให้มีความสามารถดูแลตนเอง ดูแลสังคม และมีภูมิต้านทานต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากกระแสโลกาภิวัฒน์ สร้างความเจริญอย่างยั่งยืนให้กับสังคมและประเทศชาติ เพื่อก้าวสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนได้อย่างแท้จริง”
รศ. นพ. สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม องค์การมหาชน กล่าวเสริมว่า “ความยั่งยืนเกิดขึ้นได้ต้องมาจากคุณธรรมที่สามารถวัดและจับต้องได้ คุณธรรม คุณทำได้ เราทุกคนต้องช่วยกันขับเคลื่อนสังคมคุณธรรมของสังคมไทย และเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงที่เริ่มจากตัวเรา ในบริบทของการมีความพอเพียง วินัย สุจริต จิตอาสา และ กตัญญู เพื่อประโยชน์ของเราต่อเนื่องไปถึงคนรอบข้าง องค์กร สังคม จนเกิดเป็นความยั่งยืนของประเทศชาติ”
โครงการ ทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา จัดโดย ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) คุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ มูลนิธิประเทศไทยใสสะอาด สำนักโครงการและจัดการความรู้ (OKMD) มูลนิธิธรรมดี กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สมาคมนักเรียนเก่า AFS ประเทศไทย และบริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) สำหรับผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ได้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้และถอดรหัสพระอัจฉริยภาพของในหลวงรัชกาลที่ 9 ในการทรงงานเพื่อพัฒนาความเป็นอยู่ของพสกนิกรให้มีความสุขและมีความเป็นอยู่ที่ดี อีกทั้งยังเพื่อสนองตามพระปฐมบรมราชโองการ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว “เราจะสืบสาน รักษา ต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป”
กิจกรรมทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา ครั้งที่ 24 เตรียมลงพื้นที่ ณ นาเฮียใช้ หรือศูนย์เรียนรู้วิถีชีวิตและจิตวิญญาณชาวนาไทย จ. สุพรรณบุรี ในวันที่ 10-11 ธันวาคม 2565