ฝุ่นตลบ ! เอกชนแห่ยื่นขายไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน 2 หมื่นเมกะวัตต์ พุ่งทะลุเกินโควตาเปิดรับซื้อถึง 4 เท่า “โซลาร์ฟาร์ม” แชมป์ยอดนิยม
ฝุ่นตลบชิงเค้กโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน 5.2 พันเมกะวัตต์ มีเอกชนสนใจแห่ยื่นเสนอขายไฟฟ้าราว 2 หมื่นเมกะวัตต์ หรือสูงเกินโควตาที่เปิดรับซื้อถึง 4 เท่า โดย “โซลาร์ฟาร์ม” คว้าแชมป์เป็นโรงไฟฟ้าที่มีผู้ยื่นมากที่สุด 1 หมื่นเมกะวัตต์ สำนักงาน กกพ. กำหนดประกาศผู้ผ่านคุณสมบัติ 9 ธ.ค. นี้ เผยวิธีคัดเลือกหากคะแนนเท่ากัน ใช้วิธี “จับสลาก” แทน
หลังจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้เปิดรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน “บิ๊กล็อต” จำนวน 5,203 เมกะวัตต์ ตั้งแต่วันที่ 4-25 พฤศจิกายน 2565 เป็นการรับซื้อไฟฟ้าจากเชื้อเพลิง 4 ชนิดในรูปแบบ Feed-in-Tariff (FiT) พ.ศ. 2565-2573 ประกอบด้วย ไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพ 335 เมกะวัตต์,ไฟฟ้าจากพลังงานลม 1,500 เมกะวัตต์,ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินร่วมกับแบตเตอรี่ (Solar+BESS) 1,000 เมกะวัตต์ และไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน 2,368 เมกะวัตต์ รวมทั้งหมด 5,203 เมกะวัตต์นั้น
นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยกับ เว็บไซต์ “สำนักข่าวไทยมุง” (Thaimungnews :TMnews) ว่า คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้ปิดรับคำเสนอขายไฟฟ้าโครงการพลังงานหมุนเวียนทางระบบออนไลน์แล้วเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2565 แต่ได้ขยายเวลาการนำข้อมูลเอกสารการยื่นเสนอขายไฟฟ้าออกจากระบบออนไลน์ที่มีจำนวนมากมารวบรวมเพื่อเตรียมพิจารณาคัดเลือกจนถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา ซึ่งผลปรากฏว่า มีผู้ให้ความสนใจยื่นเสนอขายไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนประมาณ 2 หมื่นเมกะวัตต์ จากที่กำหนดตามโควตาเปิดรับซื้อเพียง 5.2 พันเมกะวัตต์เท่านั้น โดยกลุ่มไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน (โซลาร์ฟาร์ม) ที่มีการเปิดรับซื้อตามโควตา 2.3 พันเมกะวัตต์ มีเอกชนให้ความสนใจมากที่สุด 1 หมื่นเมกะวัตต์ หลังจากนี้ทางสำนักงาน กกพ.จะประกาศรายชื่อผู้ที่ได้รับการคัดเลือกขายไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในล็อตนี้ได้ประมาณเดือนมีนาคม 2566
นายคมกฤช กล่าวด้วยว่า จากการที่มีเอกชนให้ความสนใจยื่นเสนอขายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเป็นจำนวนมากในครั้งนี้ การคัดเลือกจะพิจารณาจากความพร้อมก่อนเป็นลำดับแรก ส่วนการคัดเลือกการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินที่มีเอกชนยื่นเสนอ 1 หมื่นเมกะวัตต์นั้น หากการพิจารณาคัดเลือกปรากฏว่ามีคะแนนเท่ากันก็จะใช้วิธีจับสลากหาผู้ชนะแทน
ทั้งนี้ หลักการพิจารณาคัดเลือกผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน จำนวน 5.2 เมกะวัตต์ครั้งนี้ จะพิจารณาจากคะแนนความพร้อมทางด้านเทคนิคจากมากไปน้อย โดยคำนึงถึงข้อจำกัดของศักยภาพและเสถียรภาพของระบบไฟฟ้าที่สามารถรองรับ การรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนได้
อย่างไรก็ตาม กรณีมีผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้า ณ จุดเชื่อมต่อระบบไฟฟ้าเดียวกันจำนวนหลายราย แต่บริเวณดังกล่าว ยังมีข้อจำกัดไม่สามารถปรับปรุงระบบส่งและระบบจำหน่ายไฟฟ้าให้สอดคล้องกับแผนการรับซื้อไฟฟ้าได้ ให้พิจารณาการรับซื้อเรียงตามลำดับเชื้อเพลิง ดังต่อไปนี้ 1.ก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย) 2.พลังงานลม 3.พลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน (Battery Energy Storage System: BESS ) 4.พลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าว “ไทยมุง” รายงานว่า ปัจจัยที่ทำให้มีผู้ยื่นเสนอขายไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินมากที่สุดมาจากราคารับซื้อไฟฟ้าไม่ต่ำจนเกินไปอัตรา FiT อยู่ที่ 2.1679 บาทต่อหน่วย ขณะที่เทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แนวโน้มราคาลดลงอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ระยะเวลารับซื้อไฟฟ้ามีอายุถึง 25 ปี กลายเป็นสิ่งจูงใจให้มีการยื่นเสนอขายไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์มากที่สุด
ส่วนอัตรา FiT พลังงานลม อยู่ที่ 3.1014 บาทต่อหน่วย ระยะเวลารับซื้อไฟฟ้า 25 ปี และพลังงานแสงอาทิตย์แบบ Solar+BESS กำลังผลิตตามสัญญามากกว่า 10-90 เมกะวัตต์ อยู่ที่ 2.8331 บาทต่อหน่วย ระยะเวลารับซื้อไฟฟ้า 25 ปี ปรากฏว่า มีผู้สนใจเสนอขายไฟฟ้าเข้ามาจำนวนมาก เกินกว่าโควตาที่เปิดรับซื้อไว้เช่นกัน
ส่วนก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย) FiT กำลังผลิตตามสัญญาทุกขนาดอยู่ที่ 2.0724 บาทต่อหน่วย ระยะเวลารับซื้อไฟฟ้า 20 ปี มีผู้สนใจยื่นเสนอขายไฟฟ้าน้อยที่สุด
ขณะที่โครงการในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ได้แก่ จังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส และ 4 อำเภอ ในจังหวัดสงขลา (อำเภอจะนะ อำเภอเทพา อำเภอสะบ้าย้อย และอำเภอนาทวี) ให้ได้รับอัตรา FiT Premium 0.50 บาทต่อหน่วย ตลอดอายุโครงการ
หลังจากนี้ทางสำนักงาน กกพ. จะประกาศรายชื่อผู้ยื่นเสนอขายไฟฟ้าที่ผ่านเกณฑ์คุณสมบัติจากการไฟฟ้า วันที่ 9 ธันวาคม 2565 และกำหนดจะประกาศรายชื่อผู้ได้รับการคัดเลือกผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนขายให้กับการไฟฟ้า ในวันที่ 22 มีนาคม 2566
สำหรับการเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน 4 ประเภทได้กำหนดไทม์ไลน์ไว้ ดังนี้ ไฟฟ้าก๊าซชีวภาพรวม 335 เมกะวัตต์ ได้แบ่งการเปิดรับซื้อไฟฟ้าเข้าระบบในปี 2569 จำนวน 75 เมกะวัตต์ , ปี 2570 จำนวน 75 เมกะวัตต์ ,ปี 2571 จำนวน 75 เมกะวัตต์, ปี 2572 จำนวน 70 เมกะวัตต์ และปี 2573 จำนวน 40 เมกะวัตต์
ไฟฟ้าจากพลังงานลม เปิดรับซื้อไฟฟ้าในรูปแบบสัญญา Non-Firm จากผู้ผลิตไฟฟ้า SPP หรือ VSPP รวม 1,500 เมกะวัตต์ กำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบตั้งแต่ปี 2568-2573 ปีละ 250 เมกะวัตต์ ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน เปิดรับซื้อไฟฟ้าในรูปแบบสัญญา Non-Firm จากผู้ผลิตไฟฟ้า SPP หรือ VSPP รวม 2,368 เมกะวัตต์ กำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในปี 2567 จำนวน 190 เมกะวัตต์ , ปี 2568 จำนวน 290 เมกะวัตต์ , ปี 2569 จำนวน 258 เมกะวัตต์ , ปี 2570 จำนวน 440 เมกะวัตต์ , ปี 2571 จำนวน 490 เมกะวัตต์ , ปี 2572 จำนวน 310 เมกะวัตต์ และ ปี 2573 จำนวน 390 เมกะวัตต์ ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน (Solar+BESS) เปิดรับซื้อในรูปแบบสัญญา Partial-Firm (แบ่งตามช่วงเวลาและปริมาณขายไฟฟ้า) จากผู้ผลิตไฟฟ้า SPP เท่านั้น รวม 1,000 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นการรับซื้อระหว่างปี 2567-2570 จำนวนปีละ 100 เมกะวัตต์ และปี 2571-2573 จำนวนปีละ 200 เมกะวัตต์ทั้งนี้ สัญญา Partial-Firm คือ สัญญาซื้อขายไฟฟ้าที่กำหนดรูปแบบการผลิตและรับซื้อไฟฟ้า ดังนี้ 1.ช่วงเวลา 9.00-16.00 น. ผลิตไฟฟ้าส่งจ่ายเข้าระบบและการไฟฟ้ารับซื้อในปริมาณ 100% ของปริมาณไฟฟ้าเสนอขายตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 2.ช่วงเวลา 18.01-06.00 น. มีความพร้อมส่งจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในปริมาณพลังงานเท่ากับ 60% ของปริมาณไฟฟ้าเสนอขายตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า เป็นเวลา 2 ชั่วโมง โดยที่การไฟฟ้ารับซื้อทั้งหมดและสามารถสั่งจ่ายกำลังไฟฟ้าสูงสุดได้ไม่เกิน 60% ของปริมาณไฟฟ้าเสนอขายตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า และ 3. ช่วงเวลา 06.01-09.00 น. และ 16.01-18.00 น. ผลิตไฟฟ้าสั่งจ่ายเข้าระบบและการไฟฟ้ารับซื้อในปริมาณไม่เกิน 100% ของปริมาณไฟฟ้าเสนอขายตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า