รถไฟฟ้าบีทีเอส เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ขับรถในกรุงเทพฯ ช่วงนี้อาจจะหงุดหงิดกับปัญหาจราจรที่เริ่มกลับมาติดหนักกันหน่อยนะครับ ยังไงก็เผื่อเวลาเดินทางกันอีกสักนิด จะได้ถึงจุดหมายปลายทางได้ทันเวลา และใช้ชีวิตบนท้องถนนแบบสบายๆ ไม่เครียดจนเกินไปครับ
ถ้าเร่งรีบมากๆ การเลือกใช้บริการ “รถไฟฟ้า” ดูจะเป็นทางเลือกที่ลงตัวกว่า นอกจากจะสะดวกสบายแล้วยังกะให้ถึงที่หมายได้ตรงเวลาด้วย ที่สำคัญยังช่วยลดมลพิษ ลดฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่ตอนนี้ยังน่าห่วงในเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่มีสาเหตุมาจากฝุ่นจากการก่อสร้าง และควันจากท่อไอเสียของรถยนต์
วันนี้รถไฟฟ้ายกระดับบีทีเอสเปิดให้บริการ 2 เส้นทาง วิ่งจากชานเมืองผ่านใจกลางกรุงรวมระยะทางกว่า 68 กิโลเมตร รวมสถานี 60 แห่ง ถือว่าอำนวยความสะดวกให้กับผู้บริการได้ครอบคลุมทั้ง 4 ทิศ 4 มุมเมือง เชื่อมโยงทุกทิศเหนือ ใต้ ออก ตก เลยก็ว่าได้ และน่าสนใจตรงที่บีทีเอส กรุ๊ปฯ ได้รับการรับรองจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. ให้มีสถานะการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ หรือ Carbon Neutrality แล้ว
ถือเป็นความภาคภูมิใจของคนไทยที่รถไฟฟ้าบีทีเอสเป็น “ระบบขนส่งทางรางแห่งแรกของโลก” ที่เป็นกลางทางคาร์บอนไปเรียบร้อยแล้ว..!!
“ความเป็นกลางทางคาร์บอน” หมายความว่า ปล่อยคาร์บอนออกไปเท่าไหร่ มีการดูดกลับมาเท่านั้น…
ทุกคนที่นั่งรถไฟฟ้าบีทีเอสถือว่าได้มีส่วนร่วมในการสนับสนุนประเทศไทยมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ไปพร้อมๆ กัน
อย่างไรก็ดี บีทีเอส กรุ๊ปฯ ไม่ได้หยุดอยู่แค่นี้ ได้เดินหน้าสู่เป้าหมายในการลดการปล่อยคาร์บอนเพิ่มขึ้นในทุกๆ ปี ในปี 2566 มีกำหนดจะเปิดเดินรถโมโนเรล สายสีชมพู (แคราย – มีนบุรี ) และสายสีเหลือง (ลาดพร้าว – สำโรง) ได้นำเทคโนโลยีใหม่มาพัฒนาระบบขนส่งทางรางของไทย ว่ากันว่าจะสามารถลดการปล่อยคาร์บอนได้เพิ่มอีก 1.4 แสนตันต่อปี ทีเดียว
แถมยังได้ใส่ใจในรายละเอียดเกี่ยวกับการรักษาสิ่งแวดล้อม ด้วยการพัฒนาวัสดุส่วนล้อของรถไฟฟ้าให้ทำมาจากยาง ช่วยลดแรงเสียดทาน เป็นการลดมลพิษทางเสียงได้อีกทางหนึ่งด้วย
ส่วนพื้นที่โรงจอดรถไฟฟ้าบีทีเอสก็ได้ติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานทดแทนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อเพิ่มการใช้พลังสะอาด และสามารถช่วยการประหยัดพลังงานไฟฟ้าได้เพิ่มขึ้น 14,000 เมกะวัตต์ต่อปี
เชื่อเหลือเกินว่า ถ้าหลายๆ บริษัทร่วมมือร่วมใจเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาดแบบนี้ เป้าหมายที่รัฐบาลมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ไว้ภายในปี ค.ศ. 2050 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ภายในปี ค.ศ. 2065 คงไม่ไกลเกินเอื้อมอย่างแน่นอนครับ
และตัวเลขที่ประเทศไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นอันดับที่ 21 ของโลก เมื่อปี ค.ศ. 2019 มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่ากับ 354 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และคาดว่าในปี ค.ศ. 2025 จะปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุดเท่ากับ 368 ล้านต้นคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ก็น่าจะทุเลาเบาบางลงด้วย
เรามาช่วยกันรักษาโลกใบนี้ให้น่าอยู่ และส่งต่อให้ลูกหลานได้อยู่กับสิ่งแวดล้อมที่ดี มีความปลอดภัยกันนะครับ