พลังงาน

นักวิชาการด้านกฎหมายฟันธง กฟผ. ผลิตไฟฟ้าน้อยกว่าร้อยละ 51 ขัดรัฐธรรมนูญปี 60 เปิดปัจจัยดันค่าไฟแพงผลักภาระให้ประชาชนรับผิดชอบ

นักวิชาการด้านกฎหมายฟันธง กฟผ.ในฐานะรัฐวิสาหกิจถือสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าน้อยกว่าร้อยละ 51 ขัดรัฐธรรมนูญปี 60 ด้านภาคประชาชนชี้ กฟผ. ผลิตไฟฟ้าเหลือร้อยละ 30 ส่งผลกระทบต่อความมั่นคนด้านพลังงานไฟฟ้า และเปิดทางให้เอกชนผู้ค้ารายใหญ่ล้วงไส้กวาดรายได้กว่า 5 แสนล้านบาท เผยปี 65 ต้องแบกรับภาระ “ค่าพร้อมจ่าย” มากถึง 2.8 หมื่นล้านบาท ทำให้ค่าไฟฟ้าแพงและผลักภาระให้ประชาชนรับผิดชอบ

เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2565 สภาองค์กรของผู้บริโภค ร่วมกับสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้จัดเวทีเสวนาวิชาการ “รัฐผิดพลาด เอื้อทุนใหญ่ ทำค่าไฟแพง ขัดรัฐธรรมนูญ?” โดยมีผู้เสวนาประกอบด้วย นายปรีชา กรปรีชา รองประธานสหภาพด้านยุทธศาสตร์แผนงานและวิชาการ สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.),ศ.ดร. บรรเจิด สิงคะเนติ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์,รศ.ดร.ชาลี เจริญลาภนพรัตน์ สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์,นายพงษ์ดิษฐ พจนา อดีตรองผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยและอดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้า ราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน),นางสาวรสนา โตสิตระกูล อนุกรรมการด้านบริการสาธารณะ พลังงานและสิ่งแวดล้อม สภาองค์กรของผู้บริโภค และผศ.ประสาท มีแต้ม ประธานอนุกรรมการด้านบริการสาธารณะ พลังงานและสิ่งแวดล้อม สภาองค์กรของผู้บริโภค

นายปรีชา กรปรีชา รองประธานสหภาพด้านยุทธศาสตร์แผนงานและวิชาการ สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ กฟผ. (ซ้ายมือ)

โดยนายปรีชา กรปรีชา รองประธานสหภาพด้านยุทธศาสตร์แผนงานและวิชาการ สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) กล่าวว่า สาเหตุค่าไฟแพงมาจากมีปริมาณไฟฟ้าสำรองมากเกินไป เพราะต้นทุนการผลิตไฟฟ้าสำรองถือว่าเป็นต้นทุนส่วนหนึ่งของการผลิตไฟฟ้า เมื่อก่อน กฟผ.มีปริมาณสำรองไฟฟ้าอยู่ที่ร้อยละ 15 เป็นการสำรองไฟฟ้าเอาไว้เผื่อโรงไฟฟ้ามีการซ่อมแซม การพยากรณ์การไฟฟ้าผิดพลาดไป หรือประสิทธิภาพโรงไฟฟ้าเสื่อม ระบบการส่งเกิดความผิดพลาด อย่างไรก็ตาม แม้ว่า กฟผ.จะมีการเตรียมสำรองไฟฟ้าไว้เพียงร้อยละ 15 แต่เมื่อถึงเวลามีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีค) ในช่วงเดือนเมษายน ก็ไม่เคยมีเหตุการณ์ไฟฟ้าดับ หรือเมื่อเกิดวิกฤตการณ์หลายครั้งก็ไม่มีไฟฟ้าดับแต่อย่างใด แต่ปัจจุบันปริมาณสำรองไฟฟ้าอยู่ที่ร้อยละ 54 มีการสำรองไฟฟ้ามากถึง 5 พันเมกะวัตต์ ถือว่าไม่ธรรมดา จะเรียกว่าไม่เอื้อเอกชนได้อย่างไร เพราะมีค่าพร้อมจ่าย หรือค่า AP ให้กับโรงไฟฟ้าของเอกชนไม่ว่าจะมีการเดินเครื่องหรือไม่เดินเครื่องก็ตาม

นายปรีชา กล่าวว่า ถ้าไม่สามารถยับยั้งภาครัฐที่จะเดินหน้าให้เอกชนผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นได้ ค่าไฟฟ้าก็จะยิ่งแพงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบัน กฟผ. ได้แบกรับภาระค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) แทนประชาชน  และในอนาคตเมื่อมีการเลือกตั้งใหม่ รัฐบาลใหม่ก็จะต้องปล่อยค่า Ft ขึ้น และระบบเศรษฐกิจทุกอย่างจะพัง ดังนั้น ประชาชนต้องมีความรู้ในเรื่องเหล่านี้และ กฟผ. ก็พร้อมขับเคลื่อนไปกับประชาชน เพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน


ด้านนางสาวรสนา โตสิตระกูล อนุกรรมการด้านบริการสาธารณะ พลังงานและสิ่งแวดล้อม สภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า จากความพยายามแปรรูป กฟผ. ให้เปลี่ยนมือจากรัฐไปเป็นเอกชนไม่สำเร็จ จึงได้มีการหาช่องทางขยายให้เอกชนเข้ามาผลิตไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จากเมื่อปี 2547 กฟผ.มีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าอยู่ที่ร้อยละ 59 ปัจจุบัน กฟผ. เหลือสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าอยู่ประมาณ 30% จะเห็นว่าแม้ไม่มีการแปรรูป กฟผ. หรือเปลี่ยนการเป็นเจ้าของ แต่ว่า ขบวนการล้วงไส้ก็ยังทำอยู่ตลอดเวลา ข้อมูลในปี 2562 มีค่าใช้จ่ายไฟฟ้าทั้งประเทศมันอยู่ที่ 6.7 แสนล้าน แต่พอมาถึงปี 2565 หลังจากมีการเพิ่มค่า Ft เข้ามา การเพิ่มค่า Ff 1 สตางค์ต่อหน่วย จะทำให้ประชาชนจ่ายเงินเพิ่มขึ้นจำนวน 2 พันล้านบาท ซึ่งการปรับค่า Ft เมื่อเดือนกันยายน ที่ผ่านมา ประมาณ 93 สตางค์ต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟเพิ่มขึ้น 1.4 แสนล้านบาท เพราะฉะนั้น จากมูลค่าไฟฟ้าที่เราใช้ทั่วประเทศประมาณ 6.7 แสนล้าน ก็จะเพิ่มเป็น 8 แสนล้านบาท

ตอนนี้เอกชนมีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าอยู่ที่ร้อยละ 65 ในขณะที่ กฟผ. ผลิตอยู่ที่ร้อยละ 30 ดังนั้น ถ้าคิดสัดส่วนของเอกชนผลิตไฟฟ้าอยู่ร้อยละ 65 ค่าไฟฟ้าที่เราใช้ทั่วประเทศอยู่ที่ 8 แสนล้านบาท หมายความว่า เอกชนเป็นผู้ค้ารายใหญ่ได้ค่าผลิตไฟฟ้าประมาณ 5.2 แสนล้านบาท ขณะที่รัฐผลิตไฟฟ้าให้ประชาชนใช้แค่ 2.8 แสนล้านบาทเท่านั้น

“ลองคิดดูว่าเอกชนได้กินเนื้อตรงนี้มันขนาดไหน เพราะฉะนั้นที่เราพูดว่า รัฐผิดพลาดหรือเปล่า เอื้อเอกชนใช่ไหม การเอื้อเอกชนมันก็มองเห็นได้จากค่าไฟแพง”

นางสาวรสนา  กล่าวด้วยว่า ไฟฟ้าปกติจะมีค่าใช้จ่ายอยู่ 2 ตัว คือ ค่าไฟฐาน คำนวณออกมาแล้วอยู่ที่ 3.79 บาทต่อหน่วย แต่ค่า Ft เป็นค่าใช้จ่ายที่ปรับขึ้นลง ต่างๆ ซึ่งมาจาก 1.ค่าเชื้อเพลิง 2. ค่าซื้อไฟ 3. นโยบายของรัฐ ซึ่งทั้ง 3 ส่วนนี้เป็นปัจจัยที่ทำให้ค่า Ft เพิ่มขึ้น และค่าไฟแพงขึ้นมาจากค่า Ft เป็นหลัก โดยค่า Ft มาจากค่าเชื้อเพลิงนั้น เมื่อก่อนเราค้นพบแหล่งปิโตรเลียมเชิงพาณิชย์ในอ่าวไทย ซึ่งปิโตรเลียมหลักของประเทศเราคือ ก๊าซ เราได้ตั้งโรงไฟฟ้าขึ้นมาใช้ก๊าซเป็นเชื้อเพลิง เพราะเรามีแหล่งปิโตรเลียม มีทรัพยากรที่เป็นของเราเอง แต่ปัจจุบันที่เราบอกว่ารัฐเอื้อทุนใหญ่ใช่หรือไม่ เพราะก๊าซเป็นเชื้อเพลิงหลักของโรงไฟฟ้า มีราคาถูกเพราะผลิตได้ในประเทศ แต่มีการนำก๊าซในอ่าวไทยไปให้กับธุรกิจปิโตรเคมีใช้เป็นหลัก เพราะว่าเป็นก๊าซชั้นดี เปรียบเสมือนเป็นไม้สัก ไม่ควรเอาไปทำฟืน แต่ว่าทุนใหญ่เขามักซื้อไม้สักในราคาไม้ฉำฉา เขาผลักให้ประชาน หรือผู้ผลิตฟ้าไปซื้อก๊าซ LNG ก็คือไม้ฉำฉาราคาไม้สัก ตรงนี่คือ ประเด็นที่รัฐเอื้อเอกชนชัดเจนอย่างชัดเจน โดยคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงน (กกพ.) ที่ถูกตั้งขึ้นมา ไม่ได้ใช้อำนาจในการบริหารจัดการอะไรเลย

“อนุกรรมการด้านบริการสาธารณะ พลังงานและสิ่งแวดล้อม สภาองค์กรของผู้บริโภค เราได้พบ กกพ.มีการพูดคุยหารือกันในประเด็นนี้ และได้เริ่มขยับ ทำประเด็นสัดส่วนก๊าซเพื่อมาใช้ผลิตไฟฟ้า และต้องให้บริษัทน้ำมันที่ได้ประโยชน์จากก๊าซ จะต้องเอาเงินมาชดเชยให้กับประชาชนจะได้ไม่ต้องใช้ค่าไฟแพงด้วย”

ส่วนการซื้อไฟฟ้าในปี 2547 กฟผ. ผลิตได้มีสัดส่วนร้อยละ 59 ที่เหลือเป็นของเอกชน และตอนนี้เพิ่มากขึ้นเรื่อยๆ  ประเด็นที่สำคัญคือ กรณีการทำสัญญาซื้อไฟจากเอกชน รัฐให้การประกันกำไรประมาณร้อยละ 25 ที่เราต้องจ่ายเพื่อเป็นค่าพร้อมจ่ายให้กับเอกชน ไม่ว่าจะผลิตไฟฟ้าหรือไม่ผลิตก็จะได้ร้อยละ 25 ปรากฏว่า ในปี 2565 แต่ละไตรมาสเราต้องเสียเงินค่าพร้อมจ่ายประมาณ 7 พันล้านบาท รวม 4 ไตรมาสคิดเป็นเงินตกประมาณ 2.8 หมื่นล้านบาท

นอกจากค่าพร้อมจ่ายแล้ว มันยังมีกรณีการซื้อไฟตามนโยบายของรัฐบาล เช่น สมัยหนึ่งพลังงานทดแทน (Renewable) อย่งเช่นพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม รัฐบาลเคยรับซื้อ 11-12 บาทต่อหน่วย แม้ระยะหลังจะไม่มีแล้วก็ตาม แต่ราคาไฟฟ้าระหว่าง 3-6 บาทต่อหน่วยยังมีอยู่ เพราะฉะนั้น สิ่งที่เราต้องรู้ กฟผ.ขายไฟฟ้าป็นเจ้าแรก ผลิต และรับซื้อจากคนอื่นมาแล้วขายต่อให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) หน่วยละ 2.80 บาทแต่ปรากฏว่า กฟผ. รับนโยบายรัฐบาลในการซื้อไฟจากเอกชน ในราคา 3-6 บาทต่อหน่วย หมายความว่า กฟผ. ซื้อไฟในราคาสูงกว่าราคาที่ราคาขาย แปลว่า กฟผ. ต้องผลักภาระเป็นรายจ่ายของประชาชนผ่านค่า Ft

“ค่าพร้อมจ่ายมีประมาณ 2.8 หมื่นล้านบาทเป็นอย่างน้อย แต่ค่าชดเชยการซื้อไฟฟ้าราคาแพงกว่าราคาที่ขายนั้น ในปี 2564 อยู่ที่ประมาณ 1 แสนล้านบาท เพราะฉะนั้นเมื่อรวมสองตัวนี้ตัวเลขไม่ต่ำกว่า 1.28 แสน ที่เป็นเงินจะต้องผลักเข้ามาอยู่ในรูปของค่า Ft และเก็บเงินจากประชาชน อันนี้คือ การเอื้อทุนใหญ่”

นางสาวรสนา  กล่าวอีกว่า ภาครัฐให้เอกชนผลิตไฟฟ้าจนมีซัพลายที่ใหญ่มาก ในแต่ละปีมีต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดอยู่ที่ 3.2 หมื่นเมกะวัตต์ แต่มีการผลิตไฟฟ้าสำรองไว้มากถึง 5.05 หมื่นเมกะวัตต์เป็นอย่างน้อย หรือคิดเป็นสัดส่วนที่เกินไป 53-54% ถึงที่สุดแล้วต้องถามว่า นักการเมืองที่ทำสัญญาซื้อไฟฟ้าเอกชนไปเรื่อยๆ โดยไม่มีที่สิ้นสุดมีผลประโยชน์หรือไม่

ส่วนกรณี กฟผ.ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจต้องมีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าไม่ต่ำกว่า 51% นั้น มีการใช้เกณฑ์ค่าเฉลี่ย 51% ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ขัด โดยไม่พิจารณาอย่างอื่นประกอบ คิดว่าสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าไม่ต่ำกว่า 51% ก็หลอกลวงได้

ศ.ดร. บรรเจิด สิงคะเนติ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

ขณะที่ศ.ดร. บรรเจิด สิงคะเนติ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ กล่าวว่า บทบัญญัติตามมาตรา 56 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ระบุว่า การทำให้รัฐเป็นเจ้าของกิจการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานมีสัดส่วนน้อยกว่าร้อยละ 51 ซึ่งหมายถึงไม่ได้ทำในเชิงเอาไปขาย แต่ว่าทำด้วยประการใดก็ตามที่ทำให้การเป็นเจ้าของน้อยกว่าร้อยละ 51 โดยเฉพาะในส่วนของระบบการผลิตไฟฟ้า ทำให้รัฐมีสัดส่วนการผลิตจากเดิมร้อยละ 59 ลดลงมาเหลือร้อยละ 32 ในปัจจุบัน ซึ่งการดำเนินการของ กฟผ. ดังกล่าว เป็นการกระทำที่กระทบต่อ “หลักประกันในกิจการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของรัฐ” ตามบทบัญญัติของมาตรา 56 ของรัฐธรรมนูญ 2560 จึงเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตามประเด็นมีอยู่เพียงว่า วันนี้ไม้ซีกจะไปงัดกับไม้ซุงได้หรือไม่ ถ้าไม้ซีกไปงัดไม้ซุงไม่ได้ประเทศไทยก็จะถูกทุนกินรวบในที่สุด

ด้านนายพงษ์ดิษฐ พจนา อดีตรองผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยและอดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้า ราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า ย้อนกลับไปเมื่อปี 2535 กฟผ.มีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าอยู่ที่ 88% ต่อมาในปี 2549 มีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าลดลงมาอยู่เกือบร้อยละ 57 ปี 2550 มีสัดส่วนลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 55 ในปี 2565 ลดลงมาเหลือร้อยละ 32 และในปี 2566 จะลดลงมาต่ำกว่าร้อยละ 30 อย่างแน่นอน ซึ่งการที่ กฟผ. ผลิตไฟฟ้าลดต่ำกว่าร้อยละ 51 ส่งผลให้ประเทศชาติสูญรายได้ไปถึง 5 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นรายได้จากการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าให้ประชาชน และส่งรายได้เข้าคลังของรัฐ ซึ่งรายได้ดังกล่าวตกกับภาคเอกชนแทน

นายพงษ์ดิษฐ กล่าวด้วยว่า จากการตีความตามกฎหมายรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 56 การบริหารจัดการสาธารณูปโภคพื้นฐานกิจการไฟฟ้า ที่มีบทบัญบัติให้ กฟผ.ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจต้องมีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าไม่ต่ำกว่า 51% นั้น เชื่อว่า 99.99% มีการกระทำที่ขัดกับกฎหมาย และถ้าหากมีการยื่นตีความกับองค์กรที่เป็นกลางการันตีได้ 1,000% กฟผ. ชนะคดีอย่างแน่นอน

รศ.ดร.ชาลี เจริญลาภนพรัตน์ สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ซ้ายมือ)

ทางด้านรศ.ดร.ชาลี เจริญลาภนพรัตน์ สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าตลอดช่วง 20 ปีที่ผ่านมา กฟผ.ถือว่าเติบโตน้อยมาก ในปี 2544 มีกำลังการผลิตอยู่ประมาณ 1.5 หมื่นเมกะวัตต์ มาถึงปี 2564 กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 1.6 หมื่นเมกะวัตต์ แต่ผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ (IPP) ในปี 2544 มีกำลังการผลิตอยู่ที 4  พันเมกะวัตต์ เติบโตขึ้นมากอยู่ที่ 1.5 หมื่นเมกะวัตต์ในปี 2564 ส่วนผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP)  ในปี 2544 มีกำลังการผลิตอยู่ที่ 1.7 พันเมกะวัตต์ เพิ่มขึ้นมาเป็น 9 พันเมกะวัตต์ ในปี 2564

รศ.ดร.ชาลี ระบุด้วยว่า เรื่องความเป็นเจ้าของร้อยละ 51 เวลาพูดถึงเรื่องนี้ ความเป็นเจ้าของระบบกิจการไฟฟ้า หรือระบบโครงสร้างสาธารณูปโภค  ระบบกิจการไฟฟ้าเมื่อก่อนเราจะนึกถึง 3 ระบบแรก คือ 1.ระบบผลิต 2.ระบบสายส่งไฟฟ้า 3.ระบบจำหน่ายไฟฟ้า จำหน่ายไปยังบ้านเรือน แต่ปัจจุบันระบบไฟฟ้ามีความซับซ้อนเพิ่มเข้ามาอีกกล่าวคือ มีระบบเพิ่มเข้ามา ได้แก่ 4.ระบบสื่อสาร 5. ระบบควบคุมและวางแผนการผลิต 6.ระบบการบริหารจัดการ หรือคนส่วนกลาง ซึ่งทั้ง 6 ระบบ มีความสำคัญอย่างมากในการทำให้เรามีความมั่นคงในเรื่องพลังงานไฟฟ้า ถ้าเราดูตามระบบ เช่น ดูระบบผลิตการไฟฟ้าว่าเอกชนเป็นเจ้าของเกินครึ่งหรือไม่ อาจจะบอกว่าไม่ได้ เพราะว่าการที่เราจะทำให้รัฐมีความมั่นคงด้านพลังงาน ทั้งหมด 6 ระบบ ภาครัฐควรจะเป็นเจ้าของเกินร้อยละ 51

“ถ้าเอามูลค่ารวมทั้ง 6 ระบบ รัฐเป็นเจ้าของเกินครึ่งอยู่แล้ว แต่ว่าหัวใจของทั้ง 6 ระบบ มันอยู่ที่การผลิตไฟฟ้าด้วย ดังนั้น เราจะดูเฉพาะระบบใดระบบหนึ่ง  หรือภาพรวมทั้งหมดทุกระบบ โดยไม่ได้ให้ทุกระบบรัฐเป็นเจ้าของเกินครึ่ง สุดท้ายรัฐก็ไม่สามารถรักษาความมั่นคงทางพลังงานเอาไว้ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสัดส่วนไฟฟ้าที่มาจากต่างประเทศ ถ้าเกิดว่ามีความขัดแย้งกังประเทศเพื่อนบ้านมีการปิดท่อส่งก๊าซ หรือไม่มีการไฟจ่ายออกมาจากเขื่อน สุดท้ายความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศเราจะกลายไปอยู่ที่ไหน เราจะสูญเสียความมั่นคงในส่วนนี้ไป”

สุดท้าย รศ.ดร.ชาลี กล่าวด้วยว่า ปัญหาต้นตอค่าไฟแพงหลายๆ คนอาจจะนึกถึงว่ามาจากราคาก๊าซมันแพง ซึ่งมาจากราคาตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น แต่ปรากฏการณ์ที่ดังกล่าวเกิดขึ้นบนยอดภูเขาน้ำแข็งเท่านั้น โดยสิ่งแรกต้นตอค่าไฟแพงมาจากการพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้า หากไปย้อนดูการจัดทำแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า หรือแผน PDP 2018,   PDP2015 หรือ PDP 2010 จะเห็นได้ว่า มีความพยายามการพยากรณ์การใช้ไฟฟ้าให้สูงเกินจริง เมื่อมีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงเกินจริง ก็ต้องพัฒนาโรงไฟฟ้าใหม่เพิ่มขึ้น เมื่อจะต้องพัฒนาโรงไฟฟ้าใหม่เพิ่มขึ้นก็จะต้องเปิดประมูลโรงไฟฟ้า และแทนที่ กฟผ.จะเป็นผู้ก่อสร้าง ก็เปลี่ยนเป็นให้เอกชนสร้างแทน

“มีการบอกมาตลอดเวลาว่า กำลังการผลิตสำรองวัดกันทั้งประเทศมันสูง แต่ถ้าวัดรายภาคมันยังสูงไม่พอ เพราะฉะนั้นบางภาคกำลังไฟฟ้าสำรองไม่เพียงพอ จึงต้องสร้างโรงไฟฟ้าให้ครบทุกภาค ทำให้ปริมาณไฟฟ้าเพิ่มขึ้นไปอีก ทำให้กลายเป็นต้นทุนค่าไฟ อีกหน่อยจะมีโรงไฟฟ้าเป็นรายจังหวัด รายอำเภอ ต่อไป เมื่อโรงไฟฟ้าที่ล้นเกิน ประชาชนต้องจ่ายค่าพร้อมจ่าย แม้ว่าโรงไฟฟ้าไม่มีการเดินเครื่องมันก็ถูกบวกเข้าไปในต้นทุนค่าไฟฟ้าที่เรากำลังจ่ายอยู่นั่นเอง”

Related Articles

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button