พลังงาน

“ดร.คุรุจิต” ชี้ 6 เหตุผลความจำเป็น ทำไมไทยต้องเร่งเจรจาพื้นที่ OCA เพื่อพัฒนาแหล่งก๊าซ “ไทย-กัมพูชา”ด้านอดีตรัฐมนตรียุครัฐบาล “น้าชาติ” เปิดเคล็ดลับความสำเร็จในการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนไทย-มาเลเซีย  

“ดร.คุรุจิต” ผอ.สถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ชี้ 6 เหตุผลความจำเป็น ทำไมไทยต้องเร่งเจรจาพื้นที่ OCA ให้สำเร็จเพื่อพัฒนาแหล่งก๊าซ “ไทย-กัมพูชา” เผยปี 65 ไทยสูญเสียเม็ดเงินเฉียด 6 แสนล้านนำเข้าก๊าซ LNG 10 ล้านตันเพื่อผลิตไฟฟ้า ส่งผลให้คนไทยแบกรับภาระค่าไฟพุ่ง 12.70 บาทต่อหน่วย เสนอตั้งทีมเจรจาเปลี่ยนความขัดแย้งให้กลับมาเป็นโอกาสของประเทศอย่างเร่าด่วน หวังมีแหล่งก๊าซธรรมชาติแห่งใหม่สร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศ และมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ด้านอดีตรัฐมนตรียุครัฐบาล “น้าชาติ” เปิดเคล็ดลับความสำเร็จในการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนไทย-มาเลเซีย หัวใจสำคัญอยู่ที่ความไว้เนื้อเชื่อใจ และกล้าตัดสินใจ

ดร.คุรุจิต นาครทรรพ อดีตปลัดกระทรวงพลังงาน ในฐานะผู้อำนวยการสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย กล่าวในงานสัมมนาวิชาการ The 17th GMSARN International Conference 2022 on “Engergy,Environment,and Development with Sustainability in GMS :  Issue : Challences” หัวข้อ “บทบาทของก๊าซธรรมชาติในการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ และการจะแสวงหาแหล่งก๊าซธรรมชาติเพิ่มเติม เพื่อมาตอบโจทย์ความมั่นคงด้านพลังงานของไทย โดยแก้ไขปัญหาเพื่อให้สามารถเข้าไปสำรวจและพัฒนาก๊าซธรรมชาติในเขตพื้นที่ไหล่ทวีปคาบเกี่ยวไทย-กัมพูชา (Overlapping Claimed Area : OCA)” จัดโดยเครือข่ายสถาบันการศึกษาและวิจัยในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Sub-region Academic and Research Network : GMSARN) ที่โรงแรมรีเจ้นท์ ชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ว่า พื้นที่ OCA เป็นเขตพื้นที่ทางทะเลในอ่าวไทย ที่ไทยและกัมพูชาได้อ้างสิทธิในเขตไหล่ทวีปเกิดเป็นพื้นที่คาบเกี่ยวทับซ้อนกันมานานกว่า 50 ปีแล้ว  รัฐบาลทั้งสองต่างก็ต้องการเข้าไปทำกิจกรรมสำรวจหาแหล่งทรัพยากรปิโตรเลียมในบริเวณดังกล่าว ซึ่งมีเนื้อที่ทางทะเลประมาณ 26,000 ตารางกิโลเมตร มีการให้สิทธิสัมปทานปิโตรเลียมแก่บริษัทเอกชนโดยทั้งสองฝ่ายไปแล้ว จึงเกิดเป็นพื้นที่ทับซ้อนกันอีกด้วย ในแง่ทางวิชาการพื้นที่บริเวณนี้ตั้งอยู่บนแอ่งธรณีวิทยาที่เรียกกันว่า “Pattani Basin มีศักยภาพที่จะพบแหล่งก๊าซธรรมชาติ และแหล่งน้ำมันดิบในบริเวณและขนาดปริมาณสำรองที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าที่เคยสำรวจพลมาแล้วที่อยู่ในเขตทางทะเลของไทยกว่า 20 แหล่ง ได้แก่ แหล่งเอราวัณ สูตล ปลาทอง ทานตะวัน และเบญจมาศ เป็นต้น”

เมื่อทั้งสองประเทศยังไม่สามารถเจรจาหาข้อยุติได้ พื้นที่ OCA ก็มีสถานะเป็น No Man”s Land ที่จะไม่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเข้าไปสำรวจได้ นับเป็นการสูญเสียโอกาสทางการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยิ่งในเชิงยุทธศาสตร์ ประเทศจำเป็นต้องแสวงหาแหล่งพลังงานเป็นของตนเอง หากเราไม่ตัดสิจใจหาแหล่งปิโตรเลียมเพื่อเพิ่มปริมาณสำรองก๊าซในวันนี้ได้ ไทยก็จะเป็นผู้นำเข้าก๊าซธรรมชาติ โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) และก๊าซหุงต้ม LPG มากขึ้นเรื่อยๆ โดยทุกๆ ลูกบาศก์ฟุตหรือ ทุกๆ ต้นของก๊าซ LNG ที่เราต้องเสียเงินตราต่างประเทศออกไปซื้อมา ไทยเราย่อมไม่ได้เงินผลประโยชน์เข้ารัฐเป็นรายได้อะไรเลยสักบาทเดียว เพราะประเทศต้นทางที่ผลิตและขายก๊าซธรรมชาติต่างหากคือผู้ที่ได้รับส่วนแบ่งจากการขายก๊าซฯ นั้น ในฐานะที่เป็นเจ้าของแหล่งก๊าซฯ

ทั้งนี้ สาระสำคัญที่ ดร.คุรุจิต กล่าวบนเวทีประชุมวิชาการครั้งนี้พอจะสรุปถึงเหตุผลความจำเป็น 6 ข้อ ที่ไทยจะต้องเร่งเจรจากับกัมพูชาเพื่อร่วมมือกันพัฒนาพื้นที่ OCA ให้สำเร็จโดยเร็ว ดังนี้

ประการแรก ประชาคมโลกกำลังตื่นตัวกับกระแสการเปลี่ยนผ่านทางพลังงาน (Energy Transition) ไปสู่การใช้พลังงานสะอาดที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการตั้งเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน เพื่อช่วยแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ มีการกล่าวถึงความพยายามในการเลิกใช้เชื้อเพลิงจากฟอสซิลด้วย

สำหรับประเทศไทยได้ตั้งเป้าหมายบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ.2050 (2593) และลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ในปี ค.ศ. 2065 (2608) ซึ่งได้พยายามลดการใช้พลังงานจากฟอสซิลมุ่งไปสู่พลังงานสะอาดอย่างเช่นก๊าซธรรมชาติ เช่นเดียวกับหลายๆ ประเทศที่พึ่งพาและลงทุนในการพัฒนาก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง เนื่องจากมีประสิทธิภาพในการเผาไหม้ที่ดีกว่าและปลดปล่อยคาร์บอนน้อยกว่าถ่านหินและน้ำมัน จึงทำให้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลักที่มี Carbon Intensity ต่ำ ที่ทุกประเทศหันไปใช้ประโยชน์มากขึ้นตราบเท่าที่พลังงานทดแทนยังมีความไม่เสถียรทั้งในด้านราคาและปริมาณ อย่างน้อยก็เป็นเวลาอีกไม่ต่ำกว่า 30 ปี

ประการที่ 2 การเกิดสถานการณ์ความไม่สงบระหว่างรัสเซียกับยูเครน ทำให้ส่งผลกระทบต่อราคาก๊าซ LNG ในตลาดโลกมีราคาสูงขึ้น เมื่อเดือนสิงหาคม-กันยายน 2565 ที่ผ่านมา มีการนำเข้าก๊าซ LNG ในรูปแบบตลาดจร หรือ spot ราคาได้ขยับขึ้นไปอยู่ที่ 38-40 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู ขณะที่ก๊าซ LNG ในอ่าวไทยราคาอยู่ประมาณ 5.50 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู หรือราคาตลาดจรมีส่วนต่างกับราคาก๊าซในอ่าวไทยตลอดทั้งปีจะเป็นต้นทุนสูงขึ้นเฉลี่ย 33.15 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู ดังนั้น หากประเทศไทยนำเข้าก๊าซ LNG จำนวน 10 ล้านตันในปี 2565 คิดเป็นค่าเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าจะสูงขึ้นถึง 595,129 ล้านบาทเลยทีเดียว ซึ่งเงินจำนวนนี้จะนำไปบวกเป็นค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) ทั้งหมด ทำให้ค่า Ft เพิ่มขึ้นคิดเป็นเงิน 8 บาทต่อหน่วย นั่นหมายความว่า ตอนนี้ค่าไฟฟ้าอยู่ที่ 4.70 บาทต่อหน่วย จะต้องเพิ่มขึ้นเป็น 12.70 บาทต่อหน่วยทันที ซึ่งประชาชนคงจะไม่สามารถรับค่าพลังงานสูงเช่นนั้นได้ ฉะนั้น พื้นที่ OCA จึงเป็นทั้งโอกาสและความจำเป็นที่ไทยควรเร่งเจรจาหาข้อยุติกับกัมพูชา เพื่อให้เกิดการแสวงหาและพัฒนาทรัพยากรก๊าซธรรมชาติขึ้นมาใช้ต่อเนื่องไปอีกในราคาที่เหมาะสม ไม่ให้เกิดการหยุดชะงัก (Disruption) ต่อการผลิตไฟฟ้าและ LPG ของประเทศ 

ประการที่ 3 การเจรจา OCA ได้ชะงักขาดตอนมาเป็นเวลากว่า 16 ปีแล้ว ส่วนหนึ่งก็อาจจะเป็นเพราะความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างกันมีขึ้นมีลง พัวพันไปถึงปัญหาชายแดนบนบก การเมืองในประเทศของทั้งสองฝ่าย และบางครั้งก็มาจากอุปสรรคขั้นตอนตามกฏหมายรัฐธรรมนูญในอดีตที่สร้างขั้นตอนและเงื่อนไขที่ทำให้เจ้าหน้าทำงานได้ยากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันสถานการณ์โลกได้เปลี่ยนไปจากเมื่อสิบปีก่อน ทั้งสองประเทศต่างก็ประสบปัญหาเศรษฐกิจและพลังงาน ความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างผู้นำมีมากขึ้น โดยในการเจรจาแก้ปัญหาพื้นที่ OCA กับกัมพูชา รัฐบาลไทยควรตั้งทีมเจรจาที่นำโดยข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศและประกอบไปด้วยเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้กรอบอำนาจหน้าที่และชั้นความลับในการเจรจา โดยคำนึงถึงหลักกฎหมายระหว่างประเทศ ความจำเป็นทางเศรษฐกิจ การมีสัมพันธ์ที่ดีและสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกับประเทศเพื่อนบ้าน และการใช้ประโยชน์ร่วมกันจากแหล่งพลังงาน และความพยายามหาทางออกมาเสนอต่อรัฐบาลทั้งสองที่จะเป็น Win Win Solution สำหรับทุกฝ่าย

“ต้องเริ่มเจรจาเพราะประเทศเราอยู่ในภาวะวิกฤติพลังงาน และการเจรจาไม่ควรแบ่งแยกทีม แต่เป็นทีมเดียวเรียกว่า “ทีมไทยแลนด์” นำโดยกระทรวงการต่างประเทศ และประกอบด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงพลังงาน, กรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ และสภาความมั่นคงแห่งชาติ  เพื่อร่วมสนับสนุนด้วยกัน” 

ประการที่ 4  เพื่อตอบโจทย์ความมั่นคงด้านพลังงาน รัฐบาลไทยควรเร่งรัดเดินหน้าเจรจาหาข้อยุติพื้นที่ OCA กับกัมพูชา แปลงความขัดแย้ง (Conflicts) ให้กลับมาเป็นโอกาส (Opportunities) การตัดสินใจของรัฐบาลในครั้งนี้จะช่วยลดความเสี่ยงจากการขาดแคลนเชื้อเพลิงเพื่อการผลิตไฟฟ้าและเป็นวัตถุดิบในการผลิตก๊าซหุงต้ม (LPG)  และปิโตรเคมีในอนาคต และจะช่วยลดการพึ่งพาพลังงานจากต่างประเทศลงได้อีกส่วนหนึ่ง รวมถึงจะช่วยต่ออายุโรงไฟฟ้าและโรงแยกก๊าซที่มีอยู่ให้สามารถใช้งานได้ รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานด้านระบบท่อของไทยก็ยังสามารถใช้ต่อไปได้อย่างน้อย 20-30 ปีด้วย 

“ประเทศไทยมีความจำเป็นที่จะต้องแสวงหาแหล่งก๊าซธรรมชาติใหม่ๆ ในประเทศ เพราะแหล่งที่มีในประเทศตอนนี้ได้ลดลงไปเรื่อยๆ และปริมาณผลิตก๊าซก็น้อยลงตามอายุสัมปทานที่ทำกันมายาวนาน ดังนั้น ภาครัฐจึงควรหาวิธีที่จะหาแหล่งก๊าซธรรมชาติแห่งใหม่มาทดแทนนั่นก็คือ พื้นที่ OCA เพื่อตอบโจทย์ความมั่นคงด้านพลังงานของไทยเรา” 

ประการที่ 5  การลงทุนและขั้นตอนขุดเจาะปิโตรเลียมต้องใช้เวลานานพอสมควร สมมติพื้นที่ OCA มีการเจรจากันสำเร็จวันนี้การดำเนินการต่างๆ กว่าจะได้ก๊าซธรรมชาติมาใช้ต้องรอเวลาถึง 10 ปี หรืออย่างเร็วที่สุด 8 ปี ดังนั้น ต้องรีบเจรจาหาข้อยุติให้ได้โดยเร็วบนพื้นฐานความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างทีมเจรจากับประเทศเพื่อนบ้าน ตัวอย่างการเจรจาระหว่างไทยกับมาเลเซียกว่าจะสำเร็จออกมาเป็นพื้นที่พัฒนาร่วม (Joint Development Area; JDA) ต้องใช้เวลาตั้งแต่ปี 2522-2533 หรือ 11 ปีถึงจะหาข้อยุติได้ เช่นเดียวกับการเจรจาระหว่างไทยกับเวียดนามกว่าจะตกลงกันได้ในรูปแบบแบ่งเขตสำหรับแหล่งอาทิตย์ต้องใช้เวลาถึง 6 ปี ส่วนรูปแบบที่เหมาะสมของการพัฒนาพื้นที่ OCA ระหว่างไทยกับกัมพูชานั้น มีทางเลือกความร่วมมือกันหลายรูปแบบ อาจจะเลือกรูปแบบที่ไทยร่วมมือกับทางมาเลเซียลักษณะร่วมพัฒนาพื้นที่ด้วยกัน หรือเลือกรูปแบบไทยกับมาเลเซียลักษณะแบ่งเขตกัน หรืออาจจะเป็นรูปแบบที่สามที่เป็นลักษณะการผสมผสานกันระหว่างมาเลเซีย เวียดนาม ก็ทำได้เช่นกัน

ประการสุดท้าย ดร.คุรุจิต ได้ชี้ให้เห็นเพิ่มเติมด้วยว่า หากไทยไม่สามารถพัฒนาพื้นที่ OCA ให้สำเร็จได้ในเร็ววันอาจจะเป็นการเสียโอกาสในการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาด เพื่อนำเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติที่สามารถลดการปลดปล่อยคาร์บอนช่วยลดภาวะโลกร้อนออกมาใช้ได้  เพราะในอนาคตอาจจะมีเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ค้นพบเชื้อเพลิงชนิดใหม่ที่มีต้นทุนถูกกว่าและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเข้ามาทดแทนก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเกิดขึ้นกับถ่านหินที่ไม่มีการนำมาใช้เมื่อ 20 ปีก่อน มาถึงตอนนี้ถือว่าล้าสมัยไม่สามารถนำมาใช้ได้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นแหล่งถ่านหินที่เวียงแห จังหวัดพะเยา หรือที่อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา เพราะหากขุดขึ้นมาจะได้รับการต่อต้านจากผลกระทบชุมชนกับแล้วยังมีข้ออ้างเกี่ยวกับภาวะโลกร้อนด้วย ซึ่งเรื่องนี้ทำให้ประเทศไทยเสียโอกาสที่ได้ใช้พลังงานในราคาถูกมา 10-20 ปี  

ด้านดร. สุบิน ปิ่นขยัน ประธานเปิดงานสัมมนาวิชาการครั้งนี้ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงการต่างประเทศ สมัยรัฐบาล พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี เปิดเผยกับสื่อมวลชนนอกรอบว่า หัวใจความสำเร็จในการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนกับประเทศเพื่อนบ้านอยู่ที่ความไว้วางใจซึ่งกันและกัน กล้าที่จะตัดสินใจ และจะต้องเป็นผู้นำสูงสุดคือนายกรัฐมนตรีของไทยกับนายกรัฐมนตรีของกัมพูชาเท่านั้น การเจรจาตกลงกันถึงจะสำเร็จลงได้

ดร.สุบิน กล่าวถึงประสบการณ์ความสำเร็จในการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนกับประเทศเพื่อนบ้านด้วยว่า สมัยที่ตนเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้มีโอกาสเจรจาพื้นที่ทับซ้อนบริเวณอ่าวไทยระหว่างไทยกับมาเลเซียที่คาราคาซังมาเป็นเวลานับ 10 ปี โดยอาศัยความสัมพันธ์ที่ดีเป็นเพื่อนกับรัฐมนตรีว่ากระทรวงพาณิชย์ของมาเลเซีย จึงได้นัดให้มีการเจรจากันขึ้นระหว่างพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ นายกรัฐมนตรีไทยกับ ดร.มหาเธร์ โมฮัมหมัด นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ โดยใช้เวลาเจาจรบนโต๊ะประชุมไม่ถึง 5 นาที ก็ประสบความสำเร็จ เพราะผู้นำทั้งสองประเทศมีความไว้วางใจกันมาก และวิธีการเจรจาตกลงเข้าไปใช้พื้นที่ทับซ้อนจะขีดเส้นอย่างไรก็ไม่มีทางแบ่งกันได้ลงตัว จึงเป็นที่มาการ “ทำร่วมกัน” มีการแบ่งปันผลประโยชน์กันคนละครึ่ง ทำให้มีชื่อเรียกขึ้นมาว่า “พื้นที่พัฒนาร่วม” Joint Development Area หรือ JDA

“พื้นที่ OCA ไทยกับกัมพูชา ผมก็คิดเช่นเดียวกัน ถ้าเบอร์หนึ่งของกัมพูชา คือ สมเด็จฮุนเซน นายกรัฐมนตรี มีอำนาจและกล้าตัดสินใจ ทางประเทศไทยก็ต้องมีนายกรัฐมนตรีที่มีลักษณะเช่นเดียวกัน มีความรู้จักกันและไว้วางใจกัน เชื่อถือกันถึงจะทำให้การเจรจาสำเร็จได้ แต่ถ้าเป็นนักการเมืองไปเจรจาต้องฟังข้าราชการประจำคงไม่มีทางสำเร็จอย่างแน่”

ดร.สุบิน กล่าวในตอนท้ายว่า ถ้าหากการเจรจาพื้นที่ OCA สำเร็จจะช่วยในเรื่องค่าไฟที่แพงให้ถูกลงได้ เพราะตอนนี้อย่างที่ทุกคนรู้ว่ามีการนำเข้าก๊าซธรรมชาติในรูปแบบ LNG ที่มีราคาสูงมาก ถ้าไทยสามารถใช้ก๊าซธรรมชาติของเราเองได้ เชื่อว่าค่าไฟจะไม่สูงถึง 12.70 บาทต่อหน่วย อย่างที่เราคาดการณ์ไว้แน่นอน

Related Articles

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button