ครม.เคาะแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระจายความเจริญสู่ภูมิภาค-ทักษะอยู่รอดยุคดิจิทัล
ครม.เคาะแผนด้าน ววน. 2566-2570 ชู 4 ยุทธศาสตร์หลัก มุ่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม ใช้ ววน.เป็นเครื่องมือกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค แก้ปัญหาแบบมุ่งเป้า พลิกโฉมประเทศให้เป็นประเทศพัฒนาแล้วและพร้อมสำหรับโลกอนาคตอย่างรวดเร็วและยั่งยืน รวมทั้งพัฒนาทักษะให้คนไทยอยู่รอดในยุคดิจิทัล
เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2565 ณ ทำเนียบรัฐบาล คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ พ.ศ. 2566-2570 ซึ่งแผนดังกล่าวมุ่งเน้นหลักการเชิงนโยบายแบบก้าวกระโดดครั้งใหญ่ มีธงบอกทิศทางและเป้าหมายที่ชัดเจน เพื่อเป็นกลไกสำคัญที่ขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศให้เจริญเติบโตอย่างยั่งยืน และมีศักยภาพเพียงพอในการปรับตัวต่อพลวัตการเปลี่ยนแปลงของโลก ภายใต้วิสัยทัศน์ “พลิกโฉมประเทศให้เป็นประเทศพัฒนาแล้วและพร้อมสำหรับโลกอนาคต โดยมีการพัฒนาอย่างรวดเร็วและยั่งยืน ยกระดับคุณภาพชีวิตและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้วยเศรษฐกิจสร้างมูลค่าและคุณค่า ด้วยวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมไทย โดยการสานพลังหน่วยงานในระบบ ววน. รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาสังคม”
รศ. ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ในฐานะหน่วยงานที่จัดทำแผนด้าน ววน. เปิดเผยว่า จากแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญซึ่งส่งผลกระทบทั้งต่อโลกและประเทศไทยในปัจจุบันและในระยะยาว ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม เทคโนโลยี สิ่งแวดล้อมและการเมือง รวมถึงความเสี่ยงที่จะเผชิญวิกฤตสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคอุบัติใหม่ และภัยพิบัติ ทำให้เราจำเป็นจะต้องเตรียมพร้อมรับมือและมีแนวทางการพัฒนาอย่างเหมาะสม
“เราจำเป็นต้องนำความรู้ไปช่วยสังคม ทั้งการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีดิจิทัลที่จะเป็นกลไกสำคัญให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่ สามารถขยายตลาดท้องถิ่นไปสู่ระดับโลกได้ รวมถึงนำพาประชาชนเข้าสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต และพัฒนาทักษะการอยู่รอดในยุคดิจิทัล ให้สามารถต่อสู้กับความยากจน ดูแลผู้สูงอายุ ในขณะที่วัยแรงงานกำลังลดลงอย่างต่อเนื่องแต่ผลิตภาพต้องสูงขึ้น นอกจากนี้เรายังให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจที่สมดุลกับการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศ รวมถึงทรัพยากรธรรมชาติและทรัพยากรหมุนเวียนที่มาทดแทน”
ผู้อำนวยการ สกสว. ระบุว่า การพัฒนา ววน. จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้น อีกทั้งตอบดัชนีชี้วัดหลักในระดับสากลที่ชี้นำเป้าหมายการพัฒนาในหลายมิติ อาทิ ดัชนีการพัฒนาอย่างยั่งยืน ดัชนีนวัตกรรมระดับโลก อันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ สกสว.จึงได้จัดทำแผนด้าน ววน. พ.ศ. 2566-2570 โดยกำหนดแผนงานสำคัญตามจุดมุ่งเน้นของนโยบาย (Flagship) ของสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ อันสอดคล้องกับสถานการณ์และความต้องการของประเทศในมิติต่าง ๆ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 กรอบนโยบายและยุทธศาสตร์การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2566-2570 และข้อมูลช่องว่างการพัฒนาที่ สกสว.ดำเนินการศึกษาในระดับพื้นที่
ทั้งนี้ ยุทธศาสตร์ของแผนด้าน ววน. พ.ศ. 2566-2570 มี 4 ด้าน ประกอบด้วย 1) การพัฒนาเศรษฐกิจไทยด้วยเศรษฐกิจสร้างคุณค่าและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ 2) การยกระดับสังคมและสิ่งแวดล้อมให้มีการพัฒนาอย่างยั่งยืน 3) การพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัยและนวัตกรรมระดับขั้นแนวหน้าที่ก้าวหน้าล้ำยุค 4) การพัฒนากำลังคนและสถาบันด้าน ววน. ให้เป็นฐานการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศแบบก้าวกระโดดและอย่างยั่งยืน
เป้าประสงค์ของแผนด้าน ววน. ได้แก่ (1) คนไทยมีสมรรถนะและทักษะสูงด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเพียงพอในการพลิกโฉมประเทศให้ยกระดับความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจและการพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน (2) เศรษฐกิจไทยมีความสามารถในการแข่งขันด้วยเศรษฐกิจสร้างคุณค่าและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพิ่มความมั่นคงของเศรษฐกิจฐานราก และพึ่งพาตนเองได้ ยั่งยืน พร้อมสู่อนาคต โดยการพัฒนาและใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม (3) สังคมไทยมีการพัฒนาอย่างยั่งยืน สามารถแก้ปัญหาท้าทายของสังคมและสิ่งแวดล้อม ปรับตัวได้ทันต่อพลวัตการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยการพัฒนาและใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม
“แผนด้าน ววน. เป็นกรอบสำคัญที่ใช้ในการจัดสรรงบประมาณจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมไปสู่มหาวิทยาลัย สถาบันวิจัย และหน่วยงานวิจัยในกระทรวงต่าง ๆ 170 แห่งทั่วประเทศ ภายใต้การกำกับของคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (กสว.) ที่ สกสว. เป็นฝ่ายเลขานุการ จากนี้ไป กสว. และ สกสว. จะเร่งรัดและผลักดันการสร้างเทคโนโลยีที่เหมาะสม รวมถึงการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัย องค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมอย่างเต็มที่ เพื่อให้ความรู้และเทคโนโลยีเกิดประโยชน์ต่อเอกชนและประชาชน ซึ่งหน่วยงาน ววน. ต้องทำงานร่วมกับหน่วยงานพัฒนาในกระทรวงต่าง ๆ ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค โดย ววน.จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค” ผู้อำนวยการ สกสว.กล่าวทิ้งท้าย