เทคโนโลยี

“ม.ธรรมศาสตร์” สุดล้ำ ! ปี 2023 พลิกโฉมการศึกษาสู่โลก Metaverse แห่งแรกของโลก พร้อมปักธง Medical Valley แห่งแรกของไทย ตอกย้ำวิสัยทัศน์มหาวิทยาลัยระดับโลก

“ม.ธรรมศาสตร์” เปิดวิสัยทัศน์ 2023 ตอบโจทย์โลกอนาคต เปิดการเรียนการสอนทั้งรูปแบบปริญญาและเพิ่มทักษะทุกสาขาอาชีพ เพิ่มมิติหลากหลายทุกแพลตฟอร์ม ออนไลน์ และ Thammasat Metaverse Campus เผยโฉมห้องเรียนเมตาเวิร์สแห่งแรกของโลก พร้อมเปิดให้เรียนรู้ 6 กิจกรรม ภายใน 3-6 เดือนนี้ “รศ.เกศินี วิฑูรชาติ” อธิการบดี มธ. ชูธงสถาบันคือส่วนหนึ่งของชุมชนพร้อมรับผิดชอบสังคมและสิ่งแวดล้อมก้าวไปสู่ความยั่งยืน กระทั่งได้รับการจัดอันดับระดับโลก เผยคืบหน้าการลงทุนใน EECmd เริ่มก่อสร้างโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ศูนย์พัทยาแล้ว ขณะที่ภาคเอกชนสนใจร่วมเป็นพันธมิตรเพียบ ดันศูนย์พัทยาสู่ Medical Valley แห่งแรกของประเทศ

รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวในการแถลงข่าว TU-Toward 2023 World-Class University “วิสัยทัศน์ธรรมศาสตร์ 2023 มุ่งสู่วิทยาการมาตรฐานโลก” ว่า วิสัยทัศน์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ส่งเสริมความเป็นผู้นำการเรียนการสอนที่ตอบโจทย์โลกอนาคตทุกมิติ ก้าวสู่มหาวิทยาลัยไทยที่ติดอันดับสูงในระดับโลก ภายใต้แผนยุทธศาสตร์การพัฒนามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ฉบับที่ 13  เพิ่มการคิดค้นวิจัยพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆให้ได้รับการยอมรับจากนานาชาติ การพัฒนาอย่างยั่งยืน รับผิดชอบต่อสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม ตามเป้าหมาย SDGs (Sustainable Development Goals) ของสหประชาชาติ ซึ่งธรรมศาสตร์ยังเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกที่ประสบความสำเร็จในการนำเทคโนโลยีมาส่งเสริมการศึกษา เปิดหลักสูตรออนไลน์ 100% ระดับปริญญาโทบริหารธุรกิจ (M.B.A) มีนักศึกษาสมัครถึง 1,700 คน และสร้างองค์ความรู้ให้ผู้เรียนได้อีกนับหมื่นคน สร้างความเท่าเทียมกันทางการศึกษาพัฒนาวิทยาเขตในต่างจังหวัด ผลักดันทุนการศึกษาให้มากขึ้นและรับฟังความคิดเห็นที่ครอบคลุม

“เราให้ความสำคัญมากที่สุดคือ งานวิจัย SDG เพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี สังคมที่ดี สภาพแวดล้อมที่น่าอยู่ สอดคล้องกับทิศทางของธรรมศาสตร์ในการดูแลสังคมและประชาชน ซึ่งก็ต้องอาศัยสิ่งแวดล้อมที่ดี เพื่อให้ทุกคนมีความสุข อยากจะร่วมมือพัฒนาประเทศร่วมกัน นั่นคือเป้าหมายของธรรมศาสตร์เรา”

ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้รับการจัดอันดับเป็นมหาวิทยาลัยด้าน Impact of Education อันดับ 1 ของประเทศไทย จาก QS World University Rankings: Sustainability 2023 โดย Quacquarelli Symonds (QS) สถาบันการจัดอันดับมหาวิทยาลัยที่ได้รับความเชื่อถือของประเทศอังกฤษ ในด้านการจัดการและคุณภาพการศึกษา ด้านการเมือง นโยบายสังคม กฎหมาย และศิษย์เก่ามีบทบาทในภาคการศึกษา

ศ.ดร.นพ.รัฐกร วิไลชนม์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวเสริมว่า ตามนโยบายของเรา “ธรรมศาสตร์ทำเพื่อประชาชน” เป็นที่มาการเปิดกว้างให้กับบุคคลภายนอกมีสิทธิ์เข้ามาศึกษาที่ธรรมศาสตร์ได้ ไม่ใช่เฉพาะนักศึกษาเท่านั้น พร้อมกับได้ปรับการเรียนการสอนให้เข้ากับยุคสมัยมุ่งเน้นการเรียนได้ทุกที่ทุกเวลา Learn Anywhere Anytime Any Device และเปิดกว้างคนนอกเรียนเพิ่มพูนทักษะตลอดเวลา เช่น โครงการ  TU NEXT e-learning แพลตฟอร์มการเรียนรู้ในรูปแบบดิจิทัล เปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถเลือกเรียนในเรื่องที่สนใจและได้ประกาศนียบัตรในนามมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (TU Certificate)  มีหลักสูตรให้เลือกเรียนมากมาย นอกจากนั้น ร่วมกับ SkillLane เปิด TUXSA (ทักษะ) หลักสูตรปริญญาโทออนไลน์ด้านบริหารธุรกิจ สาขา Business Innovation และ Data Science for Digital Business Transformation รวมถึงหลักสูตร Applied AI หลังจากนี้ ยังมีความร่วมมือกับภาคเอกชนชั้นนำ เช่น ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารไทยพาณิชย์ ไอบีเอ็ม และ DEPA สร้างความรู้ประสบการณ์ให้นักศึกษามีความเป็นผู้ประกอบการและสตาร์ทอัพรุ่นใหม่

“เพื่อตอบโจทย์สังคมที่เปลี่ยนแปลงไปธรรมศาสตร์ได้ปรับการเรียนการสอนออกเป็น 2 รูปแบบ คือ 1.เรียนเพื่อรู้ เป็นการเปิดกว้างให้ทุกสาขาอาชีพ ไม่จำกัดอายุสามารถมาเรียนรู้พัฒนาทักษะเดิม (Upskill) และการเพิ่มเติมทักษะใหม่  (Reskill) ที่ธรรมศาสตร์ได้ โดยมีอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญแต่ละสาขาเป็นผู้บรรยาย เพื่อจะได้กลับไปทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และ 2.การเรียนเพื่อสะสมหน่วยกิต เพื่อเป้าหมายการเรียนจบรับปริญญาตามหลักสูตรที่ตัวเองต้องการ”

รศ.ดร.สุรัตน์ ทีรฆาภิบาล รองอธิการบดีฝ่ายบริหารท่าพระจันทร์และวิเทศสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ทิศทางธรรมศาสตร์ในอนาคตได้มุ่งไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยนานาชาติแต่ยังคงความเป็นอัตลักษณ์ของธรรมศาสตร์ไว้เช่นเดิม โดยมีเป้าหมายจะเพิ่มนักศึกษาต่างชาติเข้ามาเรียนภาคปกติมากขึ้น มีขยายความร่วมมือกับต่างประเทศนอกจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ไปยังองค์กร เอกชน และรัฐบาลด้วย และมีการหลอมรวมบุคคลหลากหลายที่เข้ามาให้อยู่กับสังคมธรรมศาสตร์อย่างยั่งยืนด้วย

นอกจากนี้ ได้มีการยกระดับการเรียนรู้มิติใหม่ใน  Thammasat Metaverse Campus เปรียบเสมือนวิทยาเขตแห่งที่ 5 ของมหาวิทยาลัยตั้งอยู่บนโลกเมตาเวิร์ส สร้างสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ เพิ่มการเรียนผ่านโลกเสมือนจริงคาดว่าจะเปิดได้ภายใน 3-6 เดือนนี้ หลังจากเสร็จเฟส 1 แล้วจะเปิดให้คนนอกเข้ามาร่วมเรียนรู้ได้ ปัจจุบันมีภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศสนใจเข้าร่วมเป็นพันธมิตร

สำหรับ Thammasat Metaverse Campus ประกอบด้วย 1.อาคารเรียนรู้เปิดกว้างให้สามารถเข้าไป Upskill และ Reskill 2. มาร์เก็ตเพลสสามารถเข้าไปซื้อหาสินค้าได้ 3. พิพิธภัณฑ์เพื่อเข้าไปศึกษาประวัติศาสตร์ หรือวัฒนธรรมของธรรมศาสตร์ 4.ห้อง 88 Sandbox Space สามารถเข้าไปจัด Pitching หรือ Meetings และ 5.ห้องสำหรับปรึกษาทางการแพทย์

“ตอนนี้มีการออกแบบโครงการ Thammasat Metaverse Campus เสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยอาจารย์และนักศึกษาคณะสถาปัตยกรรม ธรรมศาสตร์ร่วมกันออกแบบ มีตึกโดมที่เป็นสัญลักษณ์ของธรรมศาสตร์ มีห้องเรียนในเมตาร์เวิร์ส แต่จะไม่มีการเก็บหน่วยกิตแต่อย่างใด สามารถพูดคุยกันได้เพียงกดปุ่มเปิดไมโครโฟนด้านล่างจอคอมพิเตอร์ผู้คนที่อยู่โดยรอบก็จะได้ยินเสียงเหมือนเรายืนอยู่ข้างๆ ซึ่งท่านอธิการบดีธรรมศาสตร์ ก็ได้เข้าไปเยี่ยมชมโลกเมตาเวิร์ส เป็นที่เรียบร้อยแล้ว”

รศ.ดร.สุรัตน์ กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมาธรรมศาสตร์ ยังได้ปรับการเรียนการสอนมุ่งเน้นการ Upskil  และการ Reskill ตอบโจทย์โลกที่คนมีชีวิตยืนยาว ทำหน้าที่เป็นแพลตฟอร์มเชื่อมต่อหลายๆภาคส่วนเข้าด้วยกัน ขณะที่งานวิจัยพบว่าโลกที่เปลี่ยนมีงานหายไปถึง 90 ล้านตำแหน่ง ขณะเดียวกันก็มีตำแหน่งที่เพิ่มขึ้น 100 ล้านตำแหน่ง โดยงานที่จะหายไปจะเป็นอาชีพที่มีทักษะเดียว ขณะเดียวกันตำแหน่งงานที่ต้องใช้หลายๆศาสตร์ในการทำงาน เช่น การบริหารจัดการคน จะอยู่ต่อไปได้

ส่วนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์ ได้มีการปรับปรุงพัฒนาพื้นที่ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ มีความเป็นนานาชาติ ชุมชนมีส่วนร่วม มีโครงการที่วางไว้ 3 ปี ปีแรกเปิดให้ชุมชนเข้ามาเรียนรู้ในเรื่องอาชีพต่างๆ ดึงร้านอาหารชื่อดังรอบท่าพระจันทร์สอนทำอาหาร ปีต่อไปจะสอนงานศิลปะและการดูแลสุขภาพ โครงการนี้ทำให้มหาวิทยาลัยมีชีวิตชีวา ดึงหลายกลุ่มเข้ามามีส่วนร่วม ทั้งนักศึกษา อาจารย์ ชุมชน และศิษย์เก่า ขณะเดียวกันยังอยู่ระหว่างปรับปรุงตึกโดม ท่าพระจันทร์ เพื่อให้แข็งแรงขึ้นและประชาชนสามารถเข้ามาใช้ประโยชน์ เรียนรู้ประวัติศาสตร์ ประชาธิปไตย

ด้านรศ.นพ.กัมมาล กุมาร ปาวา รองอธิการบดีฝ่ายบริหารศูนย์พัทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ที่ศูนย์พัทยา มุ่งเน้นการเรียนการสอนที่ตอบโจทย์อุตสาหกรรมเกิดใหม่ (New S-Curve) เช่น หลักสูตรเทคโนโลยีพลังงานชีวภาพและการแปรรูปเคมีชีวภาพ หลักสูตรวิศวกรรมการแพทย์ หลักสูตรล่ามทางการแพทย์ เป็นต้น

สำหรับความคืบหน้าของโครงการ EECmd บนพื้นที่ 585 ไร่ ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์พัทยา ขณะนี้เริ่มก่อสร้าง โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ศูนย์พัทยา (Digital Hospital) แล้ว และกำลังพัฒนาให้เป็น ศูนย์นวัตกรรมการแพทย์ครบวงจร (Medical Hub) สมาร์ทซิตี้ (Smart City) และสมาร์ทแคมปัส (Smart Campus) สมบูรณ์แบบ ถือว่าเป็นหนึ่งใน Medical Valley ไม่กี่แห่งของโลกที่ทำได้ครบวงจร

ปัจจุบันมีเอกชนมีแผนเข้ามาพัฒนาแล้วหลายส่วน เช่น บริษัท บีกริม  เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) พัฒนาระบบไฟฟ้า , Health Resort ศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาโดย บริษัท เนอวานา ไดอิ จำกัด ,  พื้นที่ Health Tech (Med Park ) Startup Medical Technology ดำเนินการโดย บริษัท วัน จีโนม เอเชีย และบริษัท ฮอริบา (ประเทศไทย) และ บริษัท TEAM Group จำกัด , พื้นที่ Sport Complex ครอบคลุมพื้นที่ 51 ไร่ ดำเนินการโดย บริษัท สยามกลการ จำกัด , ศูนย์ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ดำเนินการโดย บริษัท ภูฟ้า เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด สำหรับ Senior Living พื้นที่ 50 ไร่ อยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนา รวมถึงโครงการสร้างโรงเรียนนานาชาติ เป็นต้น

Related Articles

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button