กองทุนTFFค้างเติ่งบอร์ดกทพ.เร่งเคลียร์ประมูลด่วนพระราม 3
กองทุนTFF 4 หมื่นล้านยังมีลุ้นนำไปสร้างทางด่วน ล่าสุดบอร์ดกทพ.สั่งสอบข้อร้องเรียนที่มีนัยยะสำคัญ คาด 1 สัปดาห์ได้คำตอบชัดเจนแน่ ด้าน “สุรงค์” เดินหน้าลดค่าทางด่วน 2 เส้นทางอีก 5 บาทหนุนแก้รถติด-ดันยอดใช้บัตรอีซี่พาส เริ่ม 1 ส.ค.- 28 ก.ย. 62
นายสุรงค์ บูลกุล ประธานคณะกรรมการ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย(กทพ.) กล่าวว่าได้ขอระยะเวลาตรวจสอบข้อร้องเรียนจากกรณีโครงการทางด่วนพระราม3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกด้านตะวันตกที่เกี่ยวข้องกับเงินกองทุนรวมพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย(TFF) ที่กำหนดไว้ประมาณ 4 หมื่นล้านบาทนั้นเนื่องจากมีข้อมูลที่จัดว่าเป็นนัยยะสำคัญโดยต้องการเห็นความถูกต้องชัดเจนก่อนดำเนินการในขั้นตอนต่อไป
“มีเรื่องกฎระเบียบเข้ามาเกี่ยวข้อง มีเงื่อนไขทางเทคนิคบางข้อจะต้องพิจารณารายละเอียดอีกประมาณ 1 สัปดาห์ อยากให้ 4 สัญญาดำเนินการไปพร้อมกัน แม้ว่าบางสัญญาจะมีบางประเด็นที่เป็นข้อสังเกต”
สำหรับสัญญาที่ 5 การติดตั้งงานระบบเนื่องจากระยะเวลาดำเนินการยังต้องใช้ระยะเวลาดำเนินการก่อสร้างให้ใกล้แล้วเสร็จก่อนซึ่งขณะนี้งานโยธายังไม่เริ่มก่อสร้างซึ่งเมื่อถึงวันนั้นเทคโนโลยีอาจมีการเปลี่ยนแปลงจึงขอระยะเวลาศึกษาให้ได้ความชัดเจนก่อน
“เทคโนโลยีพบว่าจะมีการปรับเปลี่ยนทุก 5 ปีหากเลือกวันนี้แต่อาจจะไม่เหมาะสมกับการนำไปใช้งานในวันนั้นข้างหน้าก็ได้ อยากให้รอบคอบก่อน ดังนั้นจึงจะแจ้งยกเลิกการประมูลสัญญาที่ 5 ออกไปก่อน”
นายสุรงค์ กล่าวอีกว่า การประชุมในวันนี้ (24 กค.62) ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) ได้มีมติเห็นชอบลดค่าทางด่วน 5 บาท สำหรับผู้ใช้บัตรผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ (Easy Pass) ได้แก่ ด่านดาวคะนอง ทางด่วนเฉลิมมหานคร ลดจาก 50 บาทเป็น 45 บาท และด่านเก็บเงินประชาชื่น(ขาเข้า) ทางด่วนศรีรัช ลดจาก 60 บาทเป็น 55 บาท ในช่วงวันจันทร์-วันศุกร์ เวลา 05.00-09.00 น. ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค.จนถึงวันที่28 ก.ย. รวมระยะเวลา 2 เดือน เพื่อส่งเสริมให้ผู้ใช้บริการเปลี่ยนมาใช้บัตร Easy Pass ตลอดจนแก้ปัญหาจราจรสะสมหน้าด่านจนส่งผลต่อปริมาณรถติดบนทางด่วน
ในส่วนของเรื่องการปรับลดค่าผ่านทางนั้นได้มีการสั่งการให้ทาง กทพ.ไปหาข้อมูลเกี่ยวกับการใช้ทางของผู้โดยใช้ทางที่อาจจะไม่ได้ต้องการแค่ลดค่าผ่านทางเพียงเท่านั้นอาจจะมีโปรโมชั่นต่างๆในสะสมแต้มจากการใช้ทางเพื่อกระตุ้นการใช้บริการทางด่วนมากขึ้นเช่น การร่วมมือกับสายการบิน ปั๊มน้ำมัน ร้านกาแฟ ร้านค้าต่างๆและสายการบิน เป็นต้น ซึ่ง กทพ.จะต้องกลับไปจัดทำรายละเอียดต่างๆ ข้อมูลทางการตลาด และนำมาเสนอต่อที่ประชุมในครั้งหน้า เนื่องจากการใช้บัตร EasyPass ช่วยให้ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายให้กับ กทพ. ก็สามารถคืนประโยชน์ให้กับสังคมได้ เช่น การใช้บริการร้านค้าปลีก เติมน้ำมันและตั๋วเครื่องบิน สามารถนำมาลดค่าทางด่วนหรือขึ้นทางด่วนฟรีได้ผ่านระบบบัตร Easy Pass
ทั้งนี้ นายสุรงค์ ยังกล่าวถึงความคืบหน้าการขยายสัมปทานทางด่วน 37 ปี เพื่อแลกกับการยุติปัญหาข้อพิพาทชดเชยค่าเสียหายมูลค่า 1.3 แสนล้านบาทนั้น ตนเตรียมเข้าพบนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เพื่อชี้แจงถึงเหตุผลในการต่อขยายสัมปทานดังกล่าวเพื่อแลกกับคดีข้อพิพาททั้งหมด โดยในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาตนได้เข้าพบคณะกรรมาธิการมาแล้วเพื่อชี้แจงถึงเหตุผลและความจำเป็นในการต่อขยายสัมปทานตามที่นายกรัฐมนตรีสั่งการให้ทำโดยภาครัฐไม่เสียประโยชน์และอำนวยความสะดวกให้ประชาชน ถือว่ากทพ.ทำหน้าที่จบแล้ว หลังจากนี้เป็นเรื่องของฝ่ายนโยบายตัดสินใจก่อนเสนอเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขออนุมัติต่อไป
โดยมองว่าการต่อขยายสัมปทานตามแนวทางดังกล่าวนั้นเหมาะสมที่สุดแล้ว แม้บางฝ่ายจะมองว่าในระยะเวลามากกว่า 30 ปีกทพ.จะมีรายได้ 7 แสนล้านบาท มีศักยภาพเพียงพอใช้หนี้จำนวน 1.3 แสนล้านบาทได้แบบสบายๆ แต่ทั้งนี้รายได้ดังกล่าวมีรายจ่ายราว 3 แสนล้านบาท เงินที่เหลือ 4 แสนล้านบาทต้องจ่ายคืนรัฐอีก 50% คิดเป็นเงิน 2 แสนล้านบาท สุดท้ายกทพ.เหลือรายได้ 2 แสนล้านบาทยังไม่รวมต้นทุนอื่นๆ อาทิ ต้นทุนขยายทางด่วนแก้รถติด ต้นทุนก่อสร้างทางขึ้น-ลงเพิ่มเติม รวมถึงต้นทุนพนักงาน เป็นต้น
“ดังนั้น หากแพ้คดีข้อพิพาททุกคดี ซึ่งก็มีโอกาสสูง หากเป็นเช่นนั้นมองว่ารายได้ในแต่ละปีหากต้องมาทยอยชำระค่าชดเชยคดีละ 5-7 พันล้่านบาท จะส่งผลให้กทพ.ขาดทุนแน่นอน สุดท้ายต้องเป็นภาระของงบประมาณที่มาจากภาษีคนทั้งประเทศ ซึ่งต้องจ่ายเพื่ออุ้มต้นทุนของกทพ. สุดท้ายเป็นภาระของประชาชน แต่ในทางกลับกันหากสามารถเจรจาต่อขยายสัมปทานได้ ทางเอกชนจะมอบข้อเสนอบางประการเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายประชาชน เช่น การลดค่าทางด่วนบางด่านในราคา 5 บาทมีผลตลอดไป และเอกชนจะยอมลงทุนก่อสร้างทางขึ้น-ลงทางด่วนเพิ่มเติมเพื่อแก้ปัญหารถติดบนทางด่วน รวมถึงการยกสิทธิการใช้ที่ดินใต้ทางด่วนให้กับกทพ.”