การเงิน

แนะปรับโครงสร้างงบประมาณปี 2567 หลังเลือกตั้ง มุ่งเน้นยกความสามารถแข่งขัน ลงทุนนวัตกรรมและทรัพยากรมนุษย์ ลดขนาดราชการ เพิ่มค่าตอบแทน เก็บภาษีเพิ่ม

รศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ กรรมการวิทยาลัยนานาชาติ ปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอดีตกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง กล่าวถึง ตามที่คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบงบประมาณปี พ.ศ. 2567 ไปด้วยวงเงิน 3.35 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากวงเงินงบประมาณปี 2566 ร้อยละ 5.18% นั้นมีความเหมาะสมในแง่ขนาดของงบประมาณ สัดส่วนของงบประมาณต่อจีดีพีอยู่ที่ 17.8% เนื่องจากเศรษฐกิจไทยมีสัญญาณฟื้นตัวต่อเนื่อง มีการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว การขยายตัวของภาคการลงทุนและการบริโภคเอกชน การผลิตทั้งภาคอุตสาหกรรมและภาคเกษตรกรรมโดยภาพรวมมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น ความจำเป็นในการอาศัยงบประมาณภาครัฐในการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นน้อยลง สิ่งที่ต้องทำหลังได้รัฐบาลจากการเลือกตั้ง คือ การปรับโครงสร้างงบประมาณปี 2567 ใหม่ โดยลดรายจ่ายประจำลงมาไม่ให้เกิน 70% โดยลดขนาดของหน่วยงานราชการแต่เพิ่มค่าตอบแทนให้สูงขึ้น โดยเปลี่ยนแปลงให้เป็นรัฐบาลดิจิทัลมากขึ้น ใช้ระบบบริการอัตโนมัติมากขึ้น พัฒนาให้เป็น eGovernment มากขึ้น และ เพิ่มงบลงทุนอีก 5-10% จากระดับ 690,000 ล้านบาทจากการจัดสรรโดยรัฐบาลชุดนี้

โดยนำเม็ดเงินลงทุนเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 69,000 ล้านบาท ลงทุนเพิ่มเติมในการยกระดับขีดความสามารถทางเศรษฐกิจ การลงทุนนวัตกรรม และ การลงทุนทางด้านทรัพยากรมนุษย์ผ่านระบบการศึกษา ระบบส่งเสริมสุขภาพและสวัสดิการเด็กเล็ก เพิ่มชำระคืนเงินต้นจากสัดส่วนร้อยละ 3.5% เป็น 5% นอกจากนี้ต้องลดระดับการขาดดุลงบประมาณลงมาจากระดับ 593,000 ล้านบาท ให้มาอยู่ที่ระดับ 450,000-500,000 ล้านบาท ด้วยการขยายฐานรายได้เพิ่มจากการขยายฐานภาษีใหม่เพิ่มและแหล่งรายได้จากรัฐวิสาหกิจ พร้อมกับปรับลดงบประจำและการลงทุนที่ไม่จำเป็นลงมาอย่างน้อย 93,000-143,000 ล้านบาท การยกระดับรายได้ของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำและเงินเดือนสำหรับผู้จบปริญญาตรีจะทำให้ รัฐเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มได้มากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ รายได้นิติบุคคลและภาคธุรกิจที่เพิ่มขึ้นจะทำให้รัฐเก็บภาษีนิติบุคคลและภาคธุรกิจได้มากขึ้น การขยายฐานภาษีสรรพสามิต ภาษีความหวานระยะที่สาม เพิ่มการจัดเก็บภาษีความเค็ม ภาษีเหล่านี้นอกจากเป็นแหล่งรายได้ให้รัฐเพื่อลดการขาดดุลงบประมาณแล้ว ยังทำให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารลดปริมาณน้ำตาลและความเค็มเพื่อสุขภาพของประชาชนตามแนวทางป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อขององค์การอนามัยโลกและยังเป็นกลไกสำคัญในการวางรากฐานสังคมให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องสุขภาพ ทำให้ค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาลลดลง

รศ. ดร. อนุสรณ์ กล่าวต่อว่า การลดการขาดดุลงบประมาณต้องมีเป้าหมายทำให้ สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีกลับลงมาอยู่ในระดับต่ำกว่า 60% ของจีดีพีภายใน 2 ปี นั่นคือ ต้องทำให้ “หนี้สาธารณะ” ลดลงมาพร้อมกับการเพิ่มขึ้นของจีดีพี เพื่อให้ประเทศมีช่องว่างทางการคลัง (Fiscal Space) เพิ่มขึ้นสามารถรับมือกับความผันผวนภายในและเศรษฐกิจโลกในอนาคตได้มากขึ้นรองรับสังคมชราภาพเต็มรูปแบบซึ่งต้องมีค่าใช้จ่ายสวัสดิการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยสำคัญ พื้นที่การคลังที่เหมาะสมสามารถนำไปคำนวณหาระดับหนี้สาธารณะต่อจีดีพีดุลยภาพ และ เพดานหนี้สาธารณะดุลยภาพ ได้ ขณะนี้ประเทศมีทั้งระดับหนี้สาธารณะต่อจีดีพี และ เพดานหนี้สาธารณะเกินดุลยภาพมาค่อนข้างมากแล้ว เมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัวแล้ว ควรแก้ไขปัญหานี้เพื่อฐานะทางการคลังที่เข้มแข็งสอดคล้องกับกรอบความยั่งยืนทางการคลัง และเพิ่มช่องว่างทางการคลัง การลดสัดส่วนหนี้ในปีนี้เพื่อให้มีช่องว่างเพิ่มขึ้นหากจำเป็นต้องก่อหนี้สาธารณะเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจในระยะต่อไป

รศ. ดร. อนุสรณ์ งบประมาณปี 67 ควรเป็นกลไกที่สนับสนุนการจ้างงาน การเพิ่มรายได้และลดรายจ่ายของประชาชน ขณะนี้อุปสงค์มวลรวมกระเตื้องขึ้นบ้างแล้วจากการเปิดประเทศ แต่ประชาชนจำนวนมากยังไม่มีรายได้ตามปรกติ และหนี้ครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูง ฐานความคิดใหม่และยุทธศาสตร์ใหม่ของงบประมาณ คือ จะทำอย่างไรให้ ผลิตภาพของทุนและแรงงานสูงขึ้นทำให้รายได้โดยรวมเพิ่มขึ้นสามารถไปลดหนี้ได้ การใช้งบประมาณของหน่วยราชการควรบูรณาการกับภาครัฐวิสาหกิจและภาคเอกชน ไม่คิดแยกส่วน เน้นบูรณาการตามยุทธศาสตร์ของประเทศ การบริหารนโยบายการคลังเพื่อให้เกิดความยั่งยืนในภาพรวม คือ ไม่เพียงประเมิน หรือวิเคราะห์ระดับการออมหรือหนี้ที่เกิดจากภาคสาธารณะเท่านั้น แต่การกระทำใดๆ จากภาคสาธารณะหรือภาครัฐยังอาจเชื่อมโยงกับภาคเอกชนและภาคต่างประเทศได้อีกด้วย ในทำนองเดียวกัน หากเกิดปัญหาวิกฤติหนี้ในภาคเอกชนหรือเกิดภาวะถดถอยหรือวิกฤติเศรษฐกิจโลก ก็ย่อมส่งผลกระทบต่อภาคสาธารณะได้เช่นกัน

ดังนั้น การวิเคราะห์ความยั่งยืนของภาคสาธารณะโดยไม่คำนึงถึงภาคเศรษฐกิจอื่นเท่าที่ควรอาจทำให้ประเมินสถานการณ์อนาคตผิดผลาดได้ สิ่งนี้เคยเกิดขึ้นกับไทยและหลายประเทศ เพราะแม้ภาคการคลังจะไม่มีปัญหาในตอนแรกแต่หากภาคเอกชนหรือภาคต่างประเทศเกิดปัญหา สุดท้ายก็ส่งผลกระทบต่อฐานะการคลังได้อย่างเช่นหนี้สินกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาสถาบันการเงินในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจการเงินปี พ.ศ. 2540

งบประมาณปี 2567 ควรเปลี่ยนงบค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน (Operating Expenditure) ให้เป็นงบค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุน (Capital Expenditure) เพิ่มขึ้นให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ โดยใช้วิธีการจัดทำงบประมาณเชิงยุทธศาสตร์แบบฐานศูนย์ (Zero-Based and Strategic Budgeting) เน้นการมีส่วนร่วมในการจัดงบประมาณแบบกระจายอำนาจ ดึงการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม ภาคธุรกิจ การจัดทำงบประมาณแบบนี้จะนำมาสู่การปฏิรูประบบราชาการ เพิ่มประสิทธิภาพในการใช้งบประมาณและเงินนอกงบประมาณ ลดการใช้งบประมาณสิ้นเปลื้องและไม่เหมาะสม

รศ. ดร. อนุสรณ์ กล่าวว่า การกู้เงินหรือก่อหนี้สาธารณะของรัฐเพื่อนำมาใช้จ่ายที่มีความจำเป็นนั้นสามารถดำเนินการได้ภายใต้กรอบวินัยทางการคลังในระยะปานกลางและระยะยาว   เราต้องเข้าใจว่า เงินเหล่านี้จะเป็นหนี้สาธารณะที่ประชาชนผู้เสียภาษีต้องร่วมกันรับผิดชอบ ต้องใช้ในโครงการต่างๆอย่างมีประสิทธิภาพและตรงเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ การใช้งบประมาณฐานศูนย์แบบมียุทธศาสตร์กำกับ (Zero-Based and Strategic Budgeting) โดยมีเป้าหมาย เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน สร้างความเป็นธรรมลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มประสิทธิภาพ ลดความซ้ำซ้อน ตัดงบดำเนินการที่ไม่จำเป็นและงบที่ไม่ตอบสนองต่อการพัฒนาประเทศออกให้หมด ฐานะทางการคลังมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น หากอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจต่ำกว่า 2% และทิศทางอัตราดอกเบี้ยในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่า 2% จากระดับปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม หนี้สาธารณะของไทยส่วนใหญ่เป็นหนี้ภายในประเทศไม่ใช่หนี้ต่างประเทศจึงทำให้ฐานทางการคลังยังค่อนข้างมีเสถียรภาพอยู่

Related Articles

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button