คปภ.บุกเชียงใหม่เริ่มใช้ประกันภัยลำไยฉบับแรกของโลก
คปภ. ยกพลลงพื้นที่ชุมชนจังหวัดเชียงใหม่ ถอดบทเรียนหลังเริ่มใช้ กรมธรรม์ประกันภัยลำไยฉบับแรกของโลก เล็งเพิ่มความคุ้มครองเพื่อรองรับภัยธรรมชาติมากขึ้น · เผยแพร่ความรู้ด้านประกันภัยเชิงรุกแนวใหม่ โดย “เคาะประตูบ้าน” เรียนรู้ประกันภัย จากประสบการณ์จริง
ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า โครงการ คปภ. เพื่อชุมชน ปี 3 มีเป้าหมายหลักที่ต้องการให้ประชาชนในชุมชนต่างๆ ของประเทศ มีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับประกันภัยและสิทธิประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัย เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยง ในชีวิตและทรัพย์สินให้กับตนเองและครอบครัวได้อย่างเหมาะสม โดยปีนี้มีการลงพื้นที่พบปะประชาชนในชุมชนเพื่อเผยแพร่ความรู้ประกันภัยเชิงรุกแนวใหม่ “แบบเคาะประตูบ้าน” ในพื้นที่ที่เกิดความเสียหายจากภัยต่างๆ และได้รับการเยียวยาจากระบบประกันภัย ทั้งนี้เพื่อให้มีการเรียนรู้จากประสบการณ์จริงที่เกิดขึ้น
โดยเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2562 เลขาธิการ คปภ. ได้นำคณะผู้บริหาร สำนักงาน คปภ. เจ้าหน้าที่รับเรื่องร้องเรียน ผู้ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทด้านประกันภัยของ สำนักงาน คปภ. ผู้แทนจากกองทุนประกันชีวิต กองทุนประกันวินาศภัย สมาคมประกันวินาศภัยไทย สมาคมประกันชีวิต สมาคมตัวแทนประกันชีวิตและที่ปรึกษาทางการเงิน พร้อมด้วยผู้บริหารบริษัทประกันภัย ลงพื้นที่ในรูปแบบ Mobile Insurance Unit ซึ่งเป็นครั้งแรกของการลงพื้นที่ตามโครงการ คปภ. เพื่อชุมชนปี 3 เพื่อส่งเสริมความรู้ด้านการประกันภัยให้เหมาะสมกับบริบทของชุมชนลำไยมัดปุ๊ก บ้านร้องขุด อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นวิสาหกิจชุมชนที่มีลำไยเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของชาวชุมชนแห่งนี้ และจากข้อมูลล่าสุด (ณ วันที่ 2 พฤษภาคม 2562) พบว่า จังหวัดเชียงใหม่มีพื้นที่เพาะปลูกลำไยแปลงใหญ่ จำนวนทั้งสิ้น 315,177 ไร่ และคาดการณ์ผลผลิตรวมทั้งสิ้น 261,225 ตัน สำหรับในพื้นที่ อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ จากสถิติพบว่า ในปี 2562 มีพื้นที่เพาะปลูกลำไย จำนวน 27,280 ไร่ โดยมีพื้นที่เพาะปลูกใหญ่เป็นอันดับที่ 4 ของจังหวัดเชียงใหม่ คาดการณ์ผลผลิตรวมทั้งสิ้น 21,008 ตัน ซึ่งเป็นอำเภอที่ได้ผลผลิตลำไยมากที่สุดเป็นอันดับ 5 ของจังหวัดเชียงใหม่ รองจากอำเภอจอมทอง อำเภอดอยเต่า อำเภอพร้าว และอำเภอสารภี โดยอำเภอสันป่าตอง มีเกษตรกรสวนลำไยที่ทำประกันภัยลำไย จำนวน 115 ราย โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวชุมชนบ้านร้องขุด ซึ่งเป็นกลุ่มเกษตรกรชาวสวนลำไยมัดปุ๊ก และเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกลำไยแปลงใหญ่ มีการบริหารจัดการแบบกลุ่มเพื่อพัฒนาผลผลิตและการตลาด อีกทั้งยังเป็นผู้รวบรวมรับซื้อลำไยในพื้นที่ มีการรับซื้อเฉลี่ยวันละ 30 – 50 ตัน เพื่อจำหน่ายในประเทศ เช่น ตลาดไอยรา และตลาดไทย พร้อมทั้งส่งออกไปประเทศมาเลเซีย และจีนโดยปัจจุบันมีสมาชิก 110 คน ครอบคลุมพื้นที่ 500 ไร่ มีสวนลำไย ที่ได้มาตรฐาน GAP จำนวน 70 แปลง และกำลังพัฒนาให้เป็นเกษตรอินทรีย์ จึงได้ลงพื้นที่ โดยเริ่มจากการเคาะประตูบ้านชาวบ้านในชุมชนเพื่อพูดคุย รับฟังสภาพปัญหาและเยี่ยมชม สวนลำไย ตลอดจน ขั้นตอนการเก็บเกี่ยวและการจัดเก็บผลลำไย ฯลฯ เพื่อให้เข้าใจถึงวิถีชีวิตของเกษตรกรที่เพาะปลูกลำไย จากนั้นเพื่อให้ชาวชุมชนได้รับความรู้ด้านการประกันภัยลำไยอย่างต่อเนื่องและสามารถใช้ระบบประกันภัยเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงได้อย่างเหมาะสม
จึงได้จัดเวทีเสวนาให้ความรู้ด้านประกันภัยแก่ชุมชน โดยมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากสำนักงาน คปภ. อาทิ นายชัยยุทธ มังศรี ผู้ช่วยเลขาธิการ สายคุ้มครองสิทธิประโยชน์ นางคนึงนิจ สุจิตจร ที่ปรึกษา สำนักงาน คปภ. นายอดิศร พิพัฒน์วรพงศ์ ผู้ช่วยเลขาธิการ สายกฎหมายและคดี นายกี่เดช อนันต์ศิริประภา ผู้อำนวยการบริหารสมาคมประกันวินาศภัยไทย และผู้แทนจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โดยมีนายสุรินทร์ ตนะศุภผล ผู้ช่วยเลขาธิการ สายส่งเสริมและประกันภัยภูมิภาค เป็นผู้ดำเนินรายการเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้านการทำประกันภัยลำไย สำหรับรูปแบบการให้ความรู้ด้านประกันภัยในครั้งนี้ ได้นำร่องให้ความรู้จากการถอดบทเรียนกรณีศึกษาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในพื้นที่เพื่อให้ชุมชนเข้าใจถึงบทบาทของระบบประกันภัยที่เข้ามาช่วยในการบริหารความเสี่ยง พร้อมเปิดเวทีไขข้อข้องใจและแนะนำในประเด็นต่างๆ เกี่ยวกับการทำประกันภัยลำไยเพื่อให้เป็นชุมชนต้นแบบขยายผลไปยังชุมชนอื่นๆ ทั่วประเทศ ในลักษณะการขับเคลื่อนรณรงค์จากฐานรากไปสู่ส่วนบน ซึ่งเป็นการขับเคลื่อนที่มีประสิทธิภาพอย่างยิ่ง สำหรับการลงพื้นที่ในครั้งนี้ ได้รับเกียรติจากนายคมสัน สุวรรณอัมพร รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ให้การต้อนรับและร่วมลงพื้นที่ในครั้งนี้ด้วย โดยมี นายทองอินทร์ วงค์คำปัน ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 10 บ้านร้องขุด ได้พาเยี่ยมชมวิถีชีวิตความเป็นอยู่และการประกอบอาชีพของชาวชุมชน รวมทั้งมีการจัดทำเทปบันทึกกิจกรรมเพื่อเผยแพร่ให้ประชาชนได้รับชมผ่านรายการโทรทัศน์ทีวีดิจิทัลช่องอัมรินทร์ทีวี (ช่อง 34) อีกด้วย
ด้านนายประจวบ ทาก๊า หรือ พ่อหลวงประจวบ ชุมชนลำไยมัดปุ๊ก ตำบลแม่ก๊า อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า การลงพื้นที่ให้ความรู้ด้านประกันภัยลำไย โดยสำนักงาน คปภ. ภาคอุตสาหกรรมประกันภัย และบริษัทผู้รับประกันภัยลำไยในครั้งนี้ทำให้ชาวบ้านในชุมชนลำไยมัดปุ๊กเข้าใจระบบประกันภัยลำไยมากยิ่งขึ้น ในขณะเดียวกันก็เกิดการตื่นตัวที่จะทำประกันภัยลำไยกันมากขึ้นด้วย โดยเห็นได้จากชาวบ้านให้ความสนใจเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้เป็นจำนวนมาก และมีคำถามเกี่ยวกับการทำประกันภัยลำไยในหลายประเด็น เช่น กรณีลำไยผลแตก เนื่องจากอากาศร้อนจะมีการจ่ายค่าสินไหมทดแทนหรือไม่ กรณีที่มีการปลูกลำไยนอกฤดูกาลจะสามารถทำประกันภัยได้หรือไม่ กรณีเกษตรกรที่ไม่ใช่ลูกค้า ธ.ก.ส.จะทำประกันภัยได้หรือไม่ กรณีที่จะทำประกันภัยลำไยมีขั้นตอนอย่างไรบ้าง ฯลฯ ซึ่งวิทยากรได้ไขข้อข้องใจจนกระจ่างและทำให้ชาวบ้านมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการทำประกันภัยลำไยเป็นอย่างมาก ดังนั้นจึงขอขอบคุณ สำนักงาน คปภ. และภาคอุตสาหกรรมประกันภัยที่จัดขบวนองค์ความรู้ด้านประกันภัยสู่ประตูบ้านของชุมชนผ่านโครงการ คปภ. เพื่อชุมชนปี 3
ส่วนนางชุติกาญจน์ กันทะธง เกษตรกรผู้ปลูกลำไย จำนวน 6 ไร่ ในพื้นที่หมู่ 10 บ้านร้องขุด ตำบลแม่ก๊า อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า การนำองค์ความรู้ด้านประกันภัยสู่ประตูบ้านชุมชนเช่นนี้ นับว่าเป็นประโยชน์ต่อชาวบ้านในชุมชนเป็นอย่างมาก ทำให้เข้าใจถึงระบบการทำประกันภัยลำไยดียิ่งขึ้น ในขณะเดียวกันชาวบ้านผู้ปลูกลำไยก็สามารถสะท้อนสภาพปัญหาและความต้องการที่จะให้บริษัทประกันภัยรับประกันภัยลำไยได้ตรงตามความต้องการ เช่น กรณีลำไยผลแตก ก่อนที่จะถึงระยะเวลาเก็บเกี่ยวบริษัทจะให้ความคุ้มครองหรือไม่ รวมทั้งควรเพิ่มความคุ้มครองอันเนื่องมาจากภัยธรรมชาติ เช่นเดียวกับการประกันภัยข้าวนาปีได้หรือไม่ นอกจากนี้ควรขยายการประกันภัยไปยังพืชชนิดอื่นๆ เช่น หัวหอม และกระเทียม
เลขาธิการ คปภ. กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการลงพื้นที่ชุมชนลำไยมัดปุ๊ก นอกจากรับฟังสภาพปัญหาด้านประกันภัยของชุมชนแห่งนี้แล้ว ยังได้รับรายงานจาก สำนักงาน คปภ. จังหวัดเชียงใหม่ด้วยว่า ปัจจุบันจังหวัดเชียงใหม่มีเกษตรกรผู้ปลูกลำไยได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง จำนวน 14 อำเภอ และขณะนี้โครงการประกันภัยลำไยสามารถบรรเทาความเสียหายของเกษตรกรจากภัยแล้งได้ 584 ราย จำนวน 584 กรมธรรม์ จำนวนเงินชดเชย 914 ,700 บาท และล่าสุด บริษัท ซมโปะ ประกันภัย (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ประกันภัยไทยวิวัฒน์ จำกัด (มหาชน) ได้มอบเงินชดเชยแก่เกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งตามโครงการประกันภัยพืชผลลำไยจากภัยแล้งโดยใช้ดัชนีน้ำฝน (ตรวจวัดด้วยดาวเทียม) ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่รอบ 2 (สะสม 1 มีนาคม – 30 เมษายน 2562)โดยสามารถบรรเทาความเสียหายของเกษตรกรจากภัยแล้งได้ถึง 873 ราย จำนวนเงินชดเชย 2,497,800 บาท ทั้งนี้ โครงการดังกล่าว ได้มีการจ่ายเงินชดเชยแก่เกษตรกรผู้ปลูกลำไย รวมทั้ง 2 รอบ เป็นเงิน 3.41 ล้านบาท เพื่อให้เกษตรกรที่อยู่ในเกณฑ์ที่จะได้รับเงินชดเชยสามารถนำเงินไปใช้ได้ทันสำหรับฟื้นฟูการเพาะปลูกลำไยต่อไป
“โครงการประกันภัยลำไยถือเป็นการที่มีผลิตภัณฑ์ประกันภัยลำไยครั้งแรกของโลกและมีการใช้ดาวเทียมมาช่วยตรวจวัดความเสียหายเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ซึ่งนานาชาติให้ความสนใจมาก โดยในปีนี้กำหนดพื้นที่เป้าหมาย 100,000 ไร่ แต่เนื่องจากเพิ่งเปิดตัวโครงการมีระยะเวลาประชาสัมพันธ์น้อยและเกษตรกรยังขาดความรู้ความเข้าใจ จึงทำให้มีเกษตกร เข้าร่วมโครงการเพียง 1,053 ราย ครอบคลุมพื้นที่เพาะปลูกน้อยกว่าเป้าหมาย โดยบริษัทประกันภัยที่ร่วมโครงการมีรายรับจากเบี้ยประกันภัยเพียง 540,429.79 บาท แต่มีการชดเชยค่าเสียหายให้กับเกษตรกรผู้ทำประกันถึง 3.41 ล้านบาท ซึ่งมากกว่าเบี้ยประกันภัยที่ได้รับมาก จึงเป็นการบริหารความเสี่ยงที่คุ้มค่าและเกิดประโยชน์อย่างแท้จริง ในโครงการนำร่องกำหนดภัยธรรมชาติที่คุ้มครอง คือ “ภัยแล้ง” แต่จากการรับฟังความคิดเห็นของเกษตรกรผู้เพาะปลูกสะท้อนความต้องการที่อยากจะให้ครอบคลุมภัยธรรมชาติอื่นๆ ด้วย ซึ่งจะได้นำไปทบทวนปรับปรุงเงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันภัยลำไยให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นและเป็นประโยชน์ต่อเกษตกรผู้เพาะปลูกอย่างแท้จริง ทั้งนี้ ทางบริษัทประกันภัยที่ร่วมโครงการยังยืนยันที่จะเดินหน้าโครงการนี้ต่อไป ซี่งหากท่านมีข้อสงสัยหรือมีข้อเสนอแนะเรื่องประกันภัยลำไย สามารถสอบถามหรือให้ข้อแนะนำได้ที่ สายด่วน คปภ. 1186” เลขาธิการ คปภ. กล่าวเสริมในตอนท้าย