เปิดยอดผู้โดยสารรถไฟ-รถไฟฟ้า ทุบสถิติทำนิวไฮทะลุ 1.577 ล้านคน
เปิดยอดผู้โดยสารรถไฟ-รถไฟฟ้า ทำนิวไฮทะลุ 1.577 ล้านคน ทุบสถติเมื่อปี 62 ที่มียอดสูงสุด 1.13 ล้านคน ชี้สาเหตุเหตุโควิดคลี่คลาย และหนีจราจรติดขัดบนท้องถนน
เมื่อวันที่ 11 ก.พ. 2566 ดร.พิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง เปิดเผยถึงยอดผู้โดยสารที่ใช้บริการระบบขนส่งทางราง เมื่อวันที่ 10 ก.พ. 2566 ที่ผ่านมา พบว่า สูงถึง 1.577 ล้านคน ถือเป็นนิวไฮ (New High) ของการใช้บริการระบบขนส่งทางรางที่มากที่สุด นับตั้งแต่มีสถานการณ์ covid-19 ผลจากงานเกษตรแฟร์ ส่งผลภาพรวมสูงสุด 1,577,330 คน-เที่ยว โดยจำนวนประชาชนที่มาใช้บริการระบบขนส่งทางรางทุกระบบ แบ่งออกเป็น
1.รถไฟ จำนวน 73,659 คน
(เชิงพาณิชย์ 24,171 คนเที่ยว, เชิงสังคม 49,488 คน-เที่ยว)
2. รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ จำนวน 72,737 คน
3. รถไฟชานเมืองสายสีแดง (รถไฟฟ้าสายสีแดง) จำนวน 29,129 คน
4. รถไฟฟ้า MRT สายฉลองรัชธรรม (สีม่วง) และสายเฉลิมรัชมงคล (สีน้ำเงิน) รวมจำนวน 479,056 คน-เที่ยว (สายสีน้ำเงิน 429,825 คน-เที่ยว และสายสีม่วง 49,231 คน-เที่ยว)
5. รถไฟฟ้าบีทีเอส (สีเขียว และสีทอง) รวมจำนวน 922,749 คน (สายสีเขียว 916,390 คน-เที่ยว และสายสีทอง 6,359 คน-เที่ยว)
จากสถิติของการใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีเขียว (สายสุขุมวิท) โดยเฉพาะสถานี ม. เกษตรศาสตร์ เมื่อวันที่ 3 -10 ก.พ. 2566 ซึ่งเป็นวันที่มีการจัดงานเกษตรแฟร์ จะเห็นว่าจำนวนประชาชนที่มาใช้บริการรถไฟฟ้า ณ สถานีนี้ เพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยยอดรวมผู้ใช้บริการที่ สถานี ม.เกษตรศาสตร์ รวม 676,571 คน และสายสีแดงที่สถานีบางเขน ระหว่างวันที่ 3-10 ก.พ.66 รวม 19,957 คนเที่ยว ซึ่งแสดงให้เห็นมีผู้ใช้บริการว่าการเดินทางด้วยระบบขนส่งทางรางถือว่าได้รับความนิยมมากขึ้น เนื่องจากเป็นการเดินทางที่รวดเร็ว และสะดวก ลดการจราจรติดขัดในการเดินทางมาร่วมงานเกษตรแฟร์ สำหรับวันนี้เป็นวันสุดท้ายของงานเกษตรแฟร์ ซึ่งคาดว่าจะมีประชาชนผู้ใช้บริการเป็นจำนวนมาก กรมการขนส่งทางรางได้ประสานผู้ให้บริการระบบรถไฟฟ้าเตรียมความพร้อมรองรับการบริหารจัดการผู้โดยสารที่สถานีกรณีมีผู้โดยสารหนาแน่น เช่น สถานีม.เกษตรศาสตร์ สถานีบางเขน สถานีห้าแยกลาดพร้าว เป็นต้น เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ พร้อมเพิ่มความถี่ขบวนรถในชั่วโมงที่มีผู้โดยสารหนาแน่น
นอกจากนี้ หากเปรียบเทียบปริมาณผู้โดยสารเฉลี่ยรายวันภายหลังผ่อนคลายมาตรการ เพื่อรองรับการเปิดประเทศ ในปี 2566 (1 ม.ค. 2566 ถึงปัจจุบัน) กับช่วงก่อนมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในปี 2562 (1 ม.ค.-31 มี.ค. 2562) พบว่า ภาพรวมปริมาณผู้โดยสารเฉลี่ยรายวันของปี 2566 สูงกว่าปี 2562 ประมาณ 3%
จากยอดผู้ใช้บริการระบบขนส่งทางรางที่ทะลุนิวไฮในวันที่ 10 ก.พ. 2566 ถือเป็นการบันทึกสถิติใหม่ของการให้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์, และรถไฟฟ้าสายสีแดง นับตั้งแต่เปิดให้บริการมา ส่วนรถไฟฟ้าบีทีเอส เคยมีผู้โดยสารสูงสุด 1.13 ล้านคนเที่ยว เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2562 = คาดว่าอาจจะมาจากการที่รัฐบาลคลายล็อกมาตรการการเดินทางทั้งในประเทศ และระหว่างประเทศ ส่งผลให้ประชาชนเดินทางออกจากบ้านกันมากขึ้น
และการที่ประชาชนเลือกใช้บริการรถไฟฟ้ามากขึ้นนั้น ส่วนหนึ่งคาดว่ามาจากการหลีกเลี่ยงการจราจรที่ติดขัดบนท้องถนน และเล็งเห็นว่าระบบขนส่งทางรางสะดวก รวดเร็ว และเดินทางได้ถึงจุดหมายได้อย่างปลอดภัย จึงหันมาใช้บริการกันจำนวนมากขึ้น
ทั้งนี้ ในส่วนของกรมการขนส่งทางรางได้กำชับผู้ให้บริการขนส่งทางรางทุกระบบ เตรียมความพร้อมในการให้บริการอยู่เสมอ โดยเฉพาะการปรับเพิ่มความถี่ การบริหารจัดการความหนาแน่นภายในขบวนรถไม่ให้เกินมาตรฐานที่เหมาะสม เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้โดยสาร และลดความแออัด ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนได้รับการบริการในระบบขนส่งทางรางที่สะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย