บทความ

นักวิชาการชี้ช่องนโยบายพรรคการเมืองที่หายไป หวั่นเลือกตั้ง “โมฆะ” ฉุดเศรษฐกิจฟื้นตัว

รศ.ดร.อนุสรณ์ ชี้นโยบายสาธารณะลดความเหลื่อมล้ำช่วยแบ่งขั้วการเมืองลดลง สถาปนาประชาธิปไตยยั่งยืน ลด “ธนาธิปไตย” ได้ในระยะยาว แต่สารพัดประชานิยมต้องแจงที่มาแหล่งรายได้ เลี่ยงวิกฤติฐานะการคลัง แต่ยังไม่เห็นพรรคการเมืองพรรคไหนนำเสนอนโยบายตอบสนองต่อความท้าทายในอนาคต เช่น เทคโนโลยีหุ่นยนต์และเอไอกำลังเปลี่ยนแปลงตลาดแรงงานและระบบเศรษฐกิจ สังคมแบ่งแยกจากความแตกต่างระหว่างรุ่น แก้ปัญหากรุงเทพฯ มีความเสี่ยงน้ำท่วมรุนแรง การเข้าสู่สังคมชราภาพอย่างรวดเร็วพร้อมระดับการออมต่ำหนี้สูง เทคโนโลยีแทนแรงงานมนุษย์ทำให้ผลิตภาพสูงขึ้น และ ตลาดแรงงานเปลี่ยนไป ต้องอาศัยนโยบายตลาดแรงงานเชิงรุก (Active Labour Market Policies) หวั่นไม่เล่นตามกติกาประชาธิปไตย ทำให้ “เลือกตั้ง” เป็นโมฆะ หรือหาเหตุยุพรรคการเมืองเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจ และกระตุ้นให้เกิดความรุนแรงทางการเมือง

รศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ นักเศรษฐศาสตร์ และ อดีตผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนานโยบายสาธารณะ สำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า แม้นเป็นเรื่องน่ายินดีที่พรรคการเมืองต่างๆ มีนโยบายสาธารณะที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำและนโยบายเหล่านี้จะช่วยทำให้การแบ่งขั้วทางการเมืองลดลง ลดความขัดแย้งรุนแรงในสังคม และ ทำให้ระบอบประชาธิปไตยยั่งยืน และอาจลด “ธนาธิปไตย” ได้ในระยะยาว ทว่า ยังไม่เห็นพรรคการเมืองพรรคไหนนำเสนอการปฏิรูปเศรษฐกิจทุนนิยมให้เป็น ระบบทุนนิยมแบบที่ทุกคนเป็นเจ้าของมากขึ้น (Stakeholder Capitalism) สิ่งนี้จะช่วยให้การลดความเหลื่อมล้ำถูกแก้ไขในระดับโครงสร้าง และ เรายังไม่เห็นความชัดเจนว่า พรรคการเมืองต่างๆจะสนับสนุนให้มีการร่างรัฐธรรมนูญโดยผู้แทนที่มาจากประชาชนหรือแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยหรือไม่

เวลานี้เรายังไม่เห็นพรรคการเมืองนำเสนอนโยบายตอบสนองต่อความท้าทายในอนาคต เช่น เทคโนโลยีหุ่นยนต์และเอไอกำลังเปลี่ยนแปลงตลาดแรงงานและระบบเศรษฐกิจ สังคมแบ่งแยกจากความแตกต่างระหว่างรุ่นจะแก้ไขอย่างไร เราจะลดความคิดสุดโต่งทางการเมืองนำมาสู่การแบ่งขั้วในสังคมอย่างรุนแรงได้อย่างไร การเข้าสู่สังคมชราภาพอย่างรวดเร็วพร้อมระดับการออมต่ำหนี้สูงจะแก้อย่างไร กรุงเทพและปริมณฑลกำลังจมลงต่ำกว่าระดับน้ำทะเลจะมีทางออกอย่างไร ต้นทุนโลจีสติกส์ ต้นทุนค่าไฟฟ้าและค่าสาธารณูปโภคสูงจะลดลงได้อย่างไร ความอ่อนแอของสถาบันการศึกษาและสถาบันครอบครัว อะไร คือ ทักษะแห่งอนาคตที่ต้องบ่มเพาะในระบบการศึกษา และ สถาบันครอบครัวในอนาคตควรมีหน้าตาอย่างไรเมื่อเรายอมรับสิทธิของความหลากหลายทางเพศมากขึ้น กรุงเทพฯและปริมณฑลกำลังจะจมลงใต้ระดับน้ำทะเล น้ำทะเลจะเอ่อล้นหนุนสูง และ พื้นดินทรุดตัวลง ทรุดตัวปีละ 1-2 เซนติเมตร ทางด้านกายภาพ กรุงเทพสูงกว่า ระดับน้ำทะเลเฉลี่ยเพียง 1.5 เมตรเท่านั้น ภาวะโลกร้อนรุนแรงทำให้ระดับน้ำทะเลทั่วโลกสูงขึ้น กรีนพีซประจำเอเชียตะวันออก เคยระบุว่า พื้นที่มากกว่า 96% ของกรุงเทพฯ มีความเสี่ยงน้ำท่วมรุนแรงจากระดับน้ำทะเลหนุนสูง อีกไม่เกิน 10 ปี พื้นที่ศูนย์กลางทางธุรกิจของประเทศ อย่าง สีลม สาทร เพลินจิตร รัชดา ล้วนได้รับผลกระทบหมด รวมทั้งศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะ ที่ทำการของกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ รวมทั้ง รัฐสภา สภาวะดังกล่าวจะเกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจและศูนย์กลางการบริหารประเทศได้ สิ่งที่เห็นพรรคการเมืองนำเสนอนโยบายอยู่เวลานี้ คือ สารพัดนโยบายประชานิยมที่อาจนำมาสู่ความเสี่ยงเรื่องฐานะการคลังในอนาคต นโยบายส่วนใหญ่ของพรรคการเมืองจะทำให้ ภาครัฐใหญ่ขึ้นและมีบทบาทเพิ่มขึ้นในทางเศรษฐกิจและสังคม (Greater Government) สังคมอาจสูญเสียสวัสดิการจากความไม่มีประสิทธิภาพและการทุจริตในระบบราชการ เกิดการสูญเปล่าทางเศรษฐกิจที่มีลักษณะเป็น Deadweight Loss สำหรับประเทศไทยแล้ว การมีภาครัฐที่เล็ก (Smaller Government) แต่แข็งแกร่ง มีคุณภาพ สำคัญกว่ามาก เพราะจะลดปัญหาความไม่มีประสิทธิภาพและการทุจริตรั่วไหลที่เกิดขึ้นมาโดยตลอด

รศ. ดร. อนุสรณ์ กล่าวต่อว่า การแข่งขันกันนำเสนอนโยบายสาธารณะ ทั้งนโยบายเศรษฐกิจและนโยบายสวัสดิการสังคมที่มีลักษณะประชานิยมไม่ใช่เรื่องผิดปรกติแต่อย่างใด และยังไม่ได้เกิดความเสียหายใดๆต่อประเทศ หรือ ส่งผลเสียต่อประชาชนในระยะยาว เพราะนโยบายประชานิยมหรือแนวทางประชานิยมก็มีหลายลักษณะ หากยังยึดถือกรอบการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจมหภาคที่ดี ยึดความมีวินัยการเงินการคลังก็จะไม่ก่อให้เกิดปัญหาอะไร อย่างไรก็ตาม เป็นเรื่องความรับผิดชอบของพรรคการเมืองและนักการเมืองที่ต้องนำเสนออย่างมีความรับผิดชอบ มิใช่มุ่งหาเสียงหาคะแนนนิยมอย่างเดียว ขณะเดียวกัน ผู้มีสิทธิเลือกตั้งก็ต้องพิจารณานโยบายต่างๆของพรรคการเมืองด้วยข้อมูลและคิดถึงประโยชน์สาธารณะโดยองค์รวมและอนุชนรุ่นหลังด้วย ที่สำคัญที่สุด พรรคการเมืองต้องแจงที่มาแหล่งรายได้ที่จะนำมาสนับสนุนนโยบายต่างๆโดยเฉพาะนโยบายเพิ่มเงินสวัสดิการ เพิ่มเงินเดือน ลดภาษีหรืออุดหนุนราคาสินค้าจำเป็นต่อการดำรงชีพต่างๆ การประกันราคาสินค้าเกษตร การจำนำสินค้าเกษตร เป็นต้น พรรคการเมืองต้องระบุแหล่งรายรับสนับสนุนงบประมาณให้ชัดว่ามาจากไหน จะขึ้นภาษีด้วยการเพิ่มอัตราภาษีหรือขยายฐานภาษีหรือก่อหนี้สาธารณะเพิ่มหรือหาแหล่งรายได้จากรัฐวิสาหกิจ
พรรคการเมืองควรหันมาให้ความสำคัญต่อนโยบายจัดการทางด้านอุปทาน มากกว่า นโยบายการจัดการทางด้านอุปสงค์ เนื่องจากเศรษฐกิจไทยโดยภาพรวมนั้นฟื้นตัวขึ้นมาแล้ว ความจำเป็นในการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นทางด้านอุปสงค์มีความจำเป็นน้อยลง ขณะที่สังคมไทยมีปัญหาทางด้านความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมทางเศรษฐกิจสูง ต้องอาศัยนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจและมาตรการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ มาตรการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและปฏิรูปเศรษฐกิจบางลักษณะพรรคการเมืองอาจสูญเสียความนิยมจากกลุ่มผลประโยชน์หรือกลุ่มบุคคลบางส่วน แต่เพื่อเป็นการแก้ปัญหาของประเทศโดยรวมจำเป็นต้องเดินหน้า เช่น การเก็บภาษีทรัพย์สินและภาษีเงินได้ในอัตราก้าวหน้า การเก็บภาษีลาภลอยจากผู้ที่ได้รับผลประโยชน์โดยตรงจากการลงทุนของรัฐ การจัดเก็บภาษีมรดกให้ได้ในความเป็นจริง เป็นต้น เทคโนโลยีทดแทนแรงงานมนุษย์ไม่ว่าจะเป็นระบบอัตโนมัติ เอไอ หรือหุ่นยนต์ ทำให้ผลิตภาพสูงขึ้น และ มีผลทำให้ตลาดแรงงานเปลี่ยนแปลงไป ต้องอาศัยนโยบายตลาดแรงงานเชิงรุก (Active Labour Market Policies) หากไม่มีการดำเนินนโยบายปรับทักษะแรงงาน ยกระดับทักษะแรงงาน จะมีปัญหาการว่างงานเชิงโครงสร้างเกิดขึ้นในภาคธุรกิจอุตสาหกรรมการผลิตจำนวนมากในอนาคต ระบบการศึกษาและการฝึกอบรมแรงงานเชิงรุกต้องทำให้ คนว่างงานที่ได้รับผลกระทบจากเทคโนโลยีสามารถกลับสู่ตลาดแรงงานได้อีกครั้ง และ พรรคการเมืองควรเสนอการใช้งบประมาณอย่างเป็นรูปธรรมในการดูแลเรื่องดังกล่าว และ แรงงานที่ได้รับผลกระทบจากเทคโนโลยีควรได้รับเงินเดือนหรือค่าตอบแทนให้เพียงพอต่อการดำรงชีพในระหว่างเข้ารับการฝึกอบรมเพื่อปรับทักษะการทำงานให้เข้ากับเทคโนโลยีใหม่ๆและสภาพการทำงานใหม่ๆ รัฐบาลใหม่ควรลงทุนอย่างหนักในการศึกษาแบบใหม่มุ่งเป้าไปที่ผู้ใหญ่และเด็กไปพร้อมกันในการยกระดับทักษะของประชาชนโดยรวมให้สูงขึ้น ทำให้ประเทศยกระดับสู่การผลิตและการให้บริการชั้นสูงที่มีห่วงโซ่คุณค่าสูงขึ้น

รศ. ดร. อนุสรณ์ กล่าวอีกว่า ปัญหาสังคมชราภาพที่รุนแรงตามลำดับจะสั่นคลอนการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย การขาดแคลนประชากรในวัยทำงานทำให้เศรษฐกิจซึมลงไปเรื่อยๆในอนาคต ความไม่ยั่งยืนทางการเงินและระบบสวัสดิการสังคมอาจเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ พรรคการเมืองจึงควรคิดอย่างจริงจังในเรื่องนโยบายการอพยพย้ายถิ่นและการเปิดกว้างต่อการตั้งถิ่นฐานของแรงงานต่างด้าวมากขึ้นหรือไม่

ประเทศไทยมีปัญหาสิ่งแวดล้อมรุนแรงมาก แต่ไม่มีพรรคการเมืองไหนเสนอมาตรการทางด้านภาษีเพื่อลดปัญหามลพิษทางอากาศหรือน้ำเสียหรือการจัดการขยะมีพิษ หรือ การออกกฎหมายเพื่อให้มีการแยกขยะ การบังคับใช้กฎหมายจัดระเบียบการบุกรุกพื้นที่สาธารณะต่างๆและการบุกรุกป่าสงวน
สังคมไทยมีปัญหาคอร์รัปชันรุนแรงมาก แต่บางพรรคการเมืองก็ยังคงดำเนินการตามแนวทาง “ธนาธิปไตย” แบบเข้มข้น อันเป็นต้นทางของการถอนทุนและทุจริตคอร์รัปชันในระดับนโยบาย การทุจริตคอร์รัปชันในระดับนโยบายหรือการเมืองเมื่อผสานเข้ากับการทุจริตคอร์รัปชันในระดับราชการประจำที่หยั่งรากลึกอยู่แล้ว ประชาชนส่วนใหญ่ก็ไม่สามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้อย่างที่ควรจะเป็นแม้นเศรษฐกิจจะฟื้นตัวขึ้นแล้วก็ตาม

ส่วนนโยบายการจัดการทางด้านอุปทาน ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มผลิตภาพของระบบเศรษฐกิจผ่านการเพิ่มผลิตภาพทุนและผลิตภาพแรงงาน พรรคการเมืองยังให้ความสำคัญน้อยเกินไป ยังไม่ให้ความสำคัญกับการนำเสนอนโยบายทางด้านการศึกษาเพื่อให้คุณภาพทรัพยากรมนุษย์ในอนาคตดีขึ้น ไม่พูดถึงรายละเอียดการลงทุนทางด้านวิจัยนวัตกรรมเพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

รศ. ดร. อนุสรณ์ กล่าวต่อว่า การเลือกตั้งที่ไม่เป็นประชาธิปไตยและไม่สะท้อนเสียงของประชาชนอย่างแท้จริง ย่อมนำไปสู่การสืบทอดอำนาจต่อไปของระบอบอำนาจนิยมผ่านการเลือกตั้งอันบิดเบี้ยว การแทรกแซงองค์กรอิสระ ระบบศาลยุติธรรมไม่ปฏิบัติตามหลักการแห่งกฎหมายและไม่สามารถทำให้เกิดความยุติธรรมได้ การใช้อำนาจหรือการจ่ายเงินปิดปากสื่อมวลชน ปิดกั้นเสรีภาพของนักวิชาการและนักเคลื่อนไหวทางการเมือง การเขียนกฎกติกาการจัดการเลือกตั้งที่ไม่เป็นธรรม การแบ่งเขตเลือกตั้งที่ไม่เป็นธรรม จนถึง การตั้งใจสร้างเงื่อนไขให้มีคนไปฟ้องให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะเมื่อฝ่ายผู้มีอำนาจไม่สามารถชนะการเลือกตั้งได้ย่อมเป็นสัญญาณของเสื่อมถอยของการกลับคืนสู่ประชาธิปไตยและลางร้ายของเศรษฐกิจไทยและการลงทุน ความหวั่นไหวที่ผู้มีอำนาจจะไม่เล่นตามกติกาประชาธิปไตยนั้นยังคงมีอยู่ เพราะพวกเขาสามารถบันดาลหรือสร้างเหตุ ทำให้ “เลือกตั้ง” เป็นโมฆะได้ หรือ หาเหตุยุบพรรคการเมือง สภาวะดังกล่าวเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจ เป็นปัจจัยลบต่อภาคการลงทุน และ กระตุ้นให้เกิดความรุนแรงทางการเมืองในอนาคต พรรคการเมืองนอกจากต้องทำหน้าที่ในการรวบรวมความคิดเห็นจากประชาชนและจัดทำชุดนโยบายสาธารณะในนามพรรคการเมือง (Party Policy Platform) แล้ว พรรคการเมืองทั้งหลายควรช่วยกันสร้างพันธมิตรของกลุ่มส่งเสริมประชาธิปไตยให้กว้างขวาง รัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2540 และ พ.ศ. 2550 ให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าวมากกว่า รัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2560 การเกิดการรัฐประหารสองครั้งในรอบ 15 ปีที่ผ่านมาเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาความเป็นสถาบันของพรรคการเมือง การขาดความต่อเนื่องของประชาธิปไตยและบทบาทของพรรคการเมืองทำให้ข้อเสนอนโยบายของพรรคการเมืองไม่หลุดไปจากวังวนของนโยบายเชิงอุปถัมภ์และนโยบายประชานิยมที่มีลักษณะละเมิดต่อกรอบการบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคที่ดีและทำให้ฐานะการเงินการคลังของประเทศสั่นคลอนได้ในอนาคต แนวนโยบายจะเน้นการอุดหนุนเรื่องปากท้องและการให้สวัสดิการตามระบอบอุปถัมภ์ เกิดความสัมพันธ์ด้านกลับ (Reverse Relationship) ระหว่างระบอบประชาธิปไตยกับการกำหนดนโยบายของพรรคการเมืองในลักษณะอุปถัมภ์และอุดหนุนระยะสั้น การมีนโยบายในลักษณะดังกล่าวมากๆจะส่งผลต่อฐานะการเงินการคลังของประเทศและส่งผลกระทบต่อคุณภาพของระบอบประชาธิปไตยระยะยาวอ่อนแอลง

Related Articles

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button