การค้า/อุตสาหกรรม

กกพ. เคาะเปิดรับฟังความคิดเห็นหลักเกณฑ์ “ค่าไฟฟ้าสีเขียว” หนุนผู้ส่งออกไทย

กกพ. เคาะเปิดรับฟังความคิดเห็นหลักเกณฑ์ “ค่าไฟฟ้าสีเขียว” หนุนผู้ส่งออกไทย เผยอัตราค่าบริการไฟฟ้ามี 2 รูปแบบ คือ แบบไม่เจาะจงแหล่งที่มาของไฟฟ้า และแบบเจาะจงแหล่งที่มาของไฟฟ้า

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. เปิดเผยว่า ที่ประชุม กกพ. ได้มีมติให้เปิดรับฟังความความคิดเห็น (ร่าง) หลักเกณฑ์ การกำหนดอัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียว (Utility Green Tariff หรือ UGT) โดยหวังว่าจะช่วยลดอุปสรรคในการปฏิบัติตามเงื่อนไขภาษีคาร์บอนข้ามแดน ข้อกีดกันทางการค้าที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเป็นการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ และยังเป็นมาตรการที่สำคัญในการเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการไทยในระยะยาว

นอกจากนี้ ในการดำเนินการดังกล่าวยังสนับสนุนการปฏิบัติตามพันธกรณีประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change Conference of the Parties: UNFCCC COP) ที่ไทยเป็นสมาชิก และได้ร่วมแสดงเจตนารมย์สนับสนุนการมุ่งสู่เป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกเพื่อจำกัดอุณหภูมิของโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส

“หลักเกณฑ์การกำหนดค่าบริการ UGT เป็นไปตามที่ กพช. เห็นชอบให้ กกพ. ไปศึกษาและกำหนดแนวทางการจัดทำอัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียว (Utility Green Tariff) ในโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าขายปลีก โดยมุ่งหวังว่าจะเป็นการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันให้กับผู้ส่งออกภาคเอกชน เพิ่มศักยภาพทางการค้าระหว่างประเทศของไทยที่ต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับกฎกติกาด้านการค้าสมัยใหม่ที่ให้ความสำคัญด้านพลังงาน และสิ่งแวดล้อม” นายคมกฤช กล่าว

สำหรับร่างหลักเกณฑ์ดังกล่าวได้มีการออกแบบ และวางแนวทางในการให้การไฟฟ้าเสนออัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียวในสองรูปแบบคือ แบบที่ผู้ใช้ไฟฟ้าไม่ต้องการเจาะจงแหล่งที่มาของไฟฟ้า (UGT1) และแบบที่ผู้ใช้ไฟฟ้าต้องการเจาะจงแหล่งที่มาของไฟฟ้า (UGT2) โดยเป็นการให้บริการไฟฟ้าพลังงานสะอาดจากโรงไฟฟ้าที่มีอยู่เดิมในระบบและที่มีแผนจะพัฒนาใหม่เพิ่มเติมในระยะต่อไป รวมทั้งมีกลไกในการรับรองการส่งไฟฟ้าพลังงานสะอาดจากเชื้อเพลิงประเภทต่างๆ เพื่อให้ผู้ใช้ไฟฟ้าสามารถนำไปเคลมการใช้พลังงานสะอาดตามกติกาสากลได้
โดยหลักเกณฑ์ค่าบริการไฟฟ้าสีเขียวทั้งสองรูปแบบ ดังนี้

รูปแบบแรก UGT1 (ไม่เจาะจงที่มา) เป็นการให้บริการเกี่ยวกับใบรับรองการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Certificate: REC) ของโรงไฟฟ้าเดิมที่รัฐมีกรรมสิทธิ์มาให้บริการร่วมกับการให้บริการพลังงานไฟฟ้า และเป็นการให้บริการในลักษณะที่ผู้ใช้ไฟฟ้าไม่ต้องเจาะจงแหล่งที่มาของไฟฟ้าและ REC ในการขอรับบริการ จึงเป็นอัตราค่าบริการส่วนเพิ่ม (Premium) เพิ่มเติมจากอัตราค่าไฟฟ้าตามบิลค่าไฟปกติโดยผู้ใช้ไฟฟ้าสามารถสมัครขอรับบริการในปริมาณต่ำกว่า 1 REC ได้ (1 REC = 1,000 หน่วย) และมีระยะเวลาการขอรับบริการสั้น (0-1 ปี)

รูปแบบที่สอง UGT2 (เจาะจงที่มา) เป็นการเปิดให้ผู้ใช้ไฟฟ้าที่มีการใช้ไฟมากและต้องการขับเคลื่อนการเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนในระบบไฟฟ้าเข้ามารับภาระการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนใหม่โดยมีสัญญาการรับบริการนาน (10-25 ปี) และมีการออกแบบโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าใหม่ เนื่องจากมีการซื้อพลังงานไฟฟ้าพร้อม REC จากแหล่งพลังงานแบบเจาะจงที่มาในระยะยาว เข้ามาแทนพลังงานไฟฟ้าเดิม และมีการให้บริการ
ที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

นอกจากนี้ นายคมกฤช ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า สำหรับเงื่อนไข ความเหมาะสมในแต่ละแนวทางจะมีผลดี และความแตกต่างกันไปตามความต้องการของผู้ใช้ไฟฟ้า โดย UGT1 จะเหมาะสมกับผู้ใช้ไฟฟ้าที่มีการใช้ไฟฟ้าไม่มากและไม่ต้องการผูกพันสัญญาระยะยาว รวมถึงกลุ่มที่ต้องการไฟฟ้าสีเขียวน้อยกว่าปริมาณการใช้ไฟฟ้าทั้งหมด โดยไม่ต้องการเจาะจงผู้ผลิตไฟฟ้า สำหรับ UGT2 จะเหมาะกับผู้ใช้ไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่ต้องการพัฒนาโรงไฟฟ้าสะอาดใหม่โดยทำสัญญาระยะยาวที่จะใช้ไฟฟ้าจากแหล่งไฟฟ้านั้น 100%

อย่างไรก็ตาม สำนักงาน กกพ. จะเปิดรับฟังความคิดเห็นร่างหลักเกณฑ์ฯ ฉบับดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 21 กุมภาพันธ์ ถึงวันที่ 7 มีนาคม 2566 ก่อนที่รวบรวมความคิดเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาเห็นชอบหลักเกณฑ์การกำหนดอัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียวทั้งสองรูปแบบภายในเดือนมีนาคมที่จะถึงนี้

สำหรับวิธีการ ที่มา และแนวทางการคำนวณในรายละเอียดสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม พร้อมทั้งแสดงความคิดเห็นได้ทางเว็บไซต์ของสำนักงาน กกพ. (www.erc.or.th) โดยสามารถแสดงความคิดเห็นผ่านกล่องข้อความในหน้ารับฟังความคิดเห็นทางเว็บไซต์ หรือส่งเป็นอีเมล์มาที่ sarabun@erc.or.th โดยระบุถึง ผู้อำนวยการ ฝ่ายนวัตกรรมและพัฒนาการกำกับกิจการพลังงาน และระบุหัวข้อการรับฟังความคิดเห็นให้ชัดเจน พร้อมกันนี้ยังจะมีการสัมมนาชี้แจงและรับฟังความคิดเห็นผ่านระบบการประชุมออนไลน์ด้วย

Related Articles

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button